13 July 2010

สัปดาห์นี้เรากลับมาคุยกันเรื่องกลยุทธ์อีกครั้งนะครับ โดยจะขอนำเสนอในเรื่องของ รูปแบบ การคิด และกระบวนการทางกลยุทธ์ หรือที่ผมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า FTP (Format Thinking Process) เนื่องจากว่าตนเองได้พบเจอองค์กรจำนวนมากที่ยังสับสนในความแตกต่างระหว่างรูปแบบ การคิด และกระบวนการทางกลยุทธ์อยู่ และความสับสนดังกล่าวก็ทำให้องค์กรไม่สามารถบริหารกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมมองว่าทั้งรูปแบบ การคิด และกระบวนการทางกลยุทธ์นั้นต่างเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการจัดทำและการกำหนดกลยุทธ์ เพียงแต่ปัญหาสำคัญที่มักจะพบเจอก็คือความสับสนและความเข้าใจผิดในปัจจัยแต่ละประการ อีกทั้งหลายๆ องค์กรก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยแต่ละประการเท่าที่ควร

            มาดูกันที่ปัจจัยประการแรกคือเจ้ารูปแบบหรือ Format กันก่อนนะครับ รูปแบบหรือ Format ในการกำหนดกลยุทธ์นั้นก็ประกอบด้วยชื่อต่างๆ ที่ใช้เรียกแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ ซึ่งถ้าเป็นองค์กรเอกชนก็อาจจะใช้ชื่อที่แตกต่างกัน ในบางองค์กรที่พบเจอนั้น เขาจะเริ่มจากวิสัยทัศน์ ตามด้วยพันธกิจ ต่อด้วยกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย โครงการ และงบประมาณ แต่บางแห่งนั้น เขาก็เริ่มจากวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าองค์กรแต่ละแห่งนั้นจะมีรูปแบบหรือ Format ในกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับส่วนราชการนั้นรูปแบบของการเขียนกลยุทธ์นั้นค่อนข้างจะนิ่งแล้ว โดยประกอบด้วย วิสัยทัศนํ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย กลยุทธ์ โครงการ และ งบประมาณ

            สาเหตุที่หยิบยกเรื่องของรูปแบบหรือ Format มานำเสนอนั้น เนื่องจากพบปัญหาหลายประการที่เกี่ยวเนื่องครับ เริ่มตั้งแต่การมีรูปแบบและนิยามที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างแต่ละองค์กรนั้นยังไม่เท่าไรครับ แต่ยังมีบางแห่งที่มีความแตกต่างภายในองค์กรเดียวกันด้วย นั้นคือภายในองค์กรเดียวกันก็ยังเรียกและมีความเข้าใจต่อ รูปแบบและนิยามศัพท์เหล่านี้แตกต่างกัน ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาของการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น นอกจากการใช้คำที่แตกต่างกันแล้ว ปัญหาที่มักพบบ่อยคือความเข้าใจในนิยามศัพท์ที่แตกต่างกัน อาทิเช่น บางองค์กรจะมีทั้งพันธกิจและภารกิจ หรือ ความสับสนระหว่างยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ หรือ แม้กระทั่งคำว่าวัตถุประสงค์ เป้าประสงค์ หรือ เป้าหมาย เป็นต้น ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเหล่านี้ ถึงแม้จะดูแล้วเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญต่อการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันของบุคลากรในองค์กร

            ปัญหาในเรื่องของรูปแบบนอกจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันแล้ว ยังมีปัญหาที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับรูปแบบหรือ Format มากเกินไป จนละเลยปัจจัยตัวที่สองคือเรื่องของการคิด ผมเองพบเจอองค์กรหลายแห่งที่เวลาจะกำหนดหรือจัดทำกลยุทธ์ จะเรียกร้องหรือขอแบบฟอร์มกันโดยตลอด และสิ่งที่ทำกับกลยุทธ์ก็คือการเติบคำหรือข้อความลงในแบบฟอร์มดังกล่าว บางหน่วยงานถ้าแบบฟอร์มไม่มากลยุทธ์ก็ไม่ออกด้วยซ้ำไป การให้ความสำคัญกับแบบฟอร์มหรือรูปแบบจนมากเกินไปนั้นทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกลยุทธ์ ไม่ได้ให้หรือมองเห็นถึงความสำคัญกับเรื่องของการคิดเชิงกลยุทธ์เลย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาทำกลยุทธ์ก็จะนึกถึงแต่รูปแบบหรือแบบฟอร์มเป็นหลักจนละเลยหรือไม่ได้คิดในเรื่องของกลยุทธ์แต่อย่างใด

            มาดูปัจจัยประการที่สองคือเรื่องของการคิด หรือ Thinking กันนะครับ เรื่องของการคิดนั้นก็คือการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งดูๆ ก็อาจจะง่าย แต่จริงๆ แล้วอย่างที่เรียนให้ทราบข้างต้นองค์กรหลายแห่งให้ความสำคัญกับรูปแบบ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงกลยุทธ์นั้นจะต้องไม่เริ่มต้นที่รูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้บริหารจะต้องมาร่วมกันคิดในเชิงกลยุทธ์ทั้งในด้านของกลยุทธ์การเติบโต วิธีการแข่งขัน หรือ แนวทางในการสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ และเมื่อคิดกลยุทธ์ออกมาได้แล้ว ค่อยนำกลยุทธ์ที่คิดได้ไปใส่ในรูปแบบหรือ Format อีกที ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือขอให้คิดกลยุทธ์ก่อน จากนั้นค่อยนำสิ่งที่คิดได้ไปใส่ในรูปแบบที่สามารถสื่อสารและทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจน

            สำหรับประเด็นสุดท้ายนั้นคือกระบวนการ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่จะมีทางเลือกอยู่สองประการหลักๆ คือคิดและจัดทำกลยุทธ์เอง กับการจ้างที่ปรึกษาหรือบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยคิดและจัดทำกลยุทธ์ให้ โดยในการคิดและจัดทำกลยุทธ์เองนั้นยังประกอบไปด้วยทางเลือกย่อยๆ อีกสองประการคือการให้บุคลากรส่วนใหญ่ขององค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด เพื่อให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วม กับอีกทางเลือกหนึ่งคือผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้คิด จากนั้นสื่อสารและถ่ายทอดไปยังบุคลากรระดับต่างๆ ลงไปอีกที ซึ่งเท่าที่พบเจอองค์กรในประเทศไทยก็มีกระบวนการคิดและจัดทำกลยุทธ์ในทุกรูปแบบครับ ขึ้นอยู่กับลักษณะและวัฒนธรรมขององค์กร

            ก็ฝากท่านผู้อ่านไว้นะครับว่าเวลาเราวางแผนและกำหนดกลยุทธ์นั้นคงจะต้องคิดในเรื่องของรูปแบบ การคิด และกระบวนการด้วย ถึงแม้ทั้งสามเรื่องจะดูไม่สำคัญ แต่ก็เป็นรายละเอียดที่ไม่ควรจะข้ามในกระบวนการบริหารกลยุทธ์ครับ