
19 August 2009
มีหนังสือเล่มใหม่เขียนโดย Michael Beer ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่ Harvard Business School ชื่อ High Commitment High Performance ออกมาครับ โดยหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงองค์กรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า HCHP ซึ่งถ้าพอจะฝืนแปลเป็นไทยก็เป็นพวกองค์กรที่มีความมุ่งมั่น ความผูกพันสูง ย่อมจะเป็นองค์กรที่มีผลการดำเนินงานที่ดีตามไปด้วย โดยองค์กรที่มีลักษณะเป็น HCHP นั้น ผู้นำซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้นำมืออาชีพที่เก่งๆ จะนำองค์กรของตนเองสู่ความยั่งยืน ด้วยความผูกพันและมุ่งมั่นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน นักลงทุน หรือ สังคมรอบข้าง
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามยกตัวอย่างองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จและถือว่าเป็น HCHP ไม่ว่าจะเป็น Southwest, Johnson & Johnson, Hewlett Packard, McKinsey, Toyota โดยผู้เขียนพยายามแยกออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเลยนะครับว่าองค์กรที่เป็น HCHP นั้น ความแตกต่างอยู่ที่ตัวผู้นำในองค์กร และองค์กรที่เป็น HCPC นั้น สามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญสามประการได้แก่ 1) Performance Alignment หรือการออกแบบองค์กรให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องทั้งเป้าหมายการทำงาน กระบวนการทำงาน การวัดผลการทำงาน และ ความสามารถขององค์กร โดยความสอดคล้องทั้งหมดนั้นจะต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรเป็นหลัก
2) Psychological Alignment ซึ่งเป็นข้อที่อาจจะแปลกว่าหลักการอื่นๆ ครับ โดยในข้อแรกนั้นถ้าถือว่าเป็นการบริหารด้วยสมองและความคิด ข้อที่สองก็เป็นการบริหารด้วยหัวใจครับ โดยผู้นำจะต้องทำให้บุคลากรทุกระดับทำงานด้วยความมุ่งมั่น ทำให้พนักงานทำงานที่มีความหมาย มีความท้าทาย และสามารถทำงานแล้วก่อให้เกิดความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดข้างต้นก็จะถูกสะท้อนออกมาในรูปของนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งองค์กรที่มีลักษณะ HCHP มักจะมีนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่คล้ายคลึงกัน
3) Capacity to Learn and Change เป็นความสามารถขององค์กรในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงครับ โดยผู้นำของ HCHP นั้นจะต้องไม่ยึดติดในอัตตาครับ โดยผู้นำจะต้องสามารถที่จะพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคลากรในระดับต่างๆ ในอย่างตรงไปตรงไป เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานขององค์กร สาเหตุที่องค์กรต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงนั้น เนื่องจาก Performance Alignment และ Psychological Alignment นั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความสอดคล้องหรือความเชื่อมโยงที่เคยมีอยู่ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ทำให้องค์กรต้องหัดที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความเชื่อมโยงและสอดคล้องในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายทั้งสามข้อนั้น ถ้าดูดีๆ อาจจะเหมือนกับจะขัดแย้งกันนะครับ เนื่องจากถ้าเน้น Performance Alignment มากเกินไป ก็จะขาดไปใน Psychological Alignment เพราะถ้ามีความเชื่อมโยงและชัดเจนในเป้าหมายและกระบวนการทำงานแล้ว ก็อาจจะเป็นการบริหารที่มีลักษณะแบบสั่งการหรือ Top-Down มากเกินไป จนละเลยความคิดเห็นและความต้องการของพนักงาน นอกจากเป้าหมายทั้งสามประการแล้ว ผู้นำองค์กรยังต้องมีการตัดสินใจที่สำคัญในด้านต่างๆ อีก เพื่อนำพาองค์กรตนเองสู่ความเป็น HCHP
การตัดสินใจที่สำคัญได้แก่ เป้าหมายขององค์กรว่าจะดำรงอยู่เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ใครหรือผู้ใดบ้าง กลยุทธ์ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนและไม่ว่อกแว่ก กลยุทธ์จะต้องบอกได้ว่าจะทำอะไร และจะไม่ทำอะไร ความเสี่ยงเป็นการตัดสินใจในเรื่องที่สามที่องค์กรจะต้องไม่พาตนเองเข้าสู่ความเสี่ยงที่ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางด้านการเงิน หรือ ด้านวัฒนธรรม และสุดท้ายคือเรื่องของแรงจูงใจ ที่จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการจูงใจและบริหารบุคลากรภายในองค์กร
เป็นอย่างไรบ้างครับหลักการและแนวคิดของ High Commitment High Performance โดยส่วนตัวแล้วมองว่าหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหนังสือทางการจัดการที่พยายามศึกษากรณีศึกษาขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ จากนั้นดึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญขององค์กรเหล่านี้ออกมาตั้งเป็นหลักการหรือแนวคิดขึ้นมา โดยตั้งชื่อใหม่ให้ดูสวยหรู หรือ ทำให้คนอ่านอยากจะรู้ว่าคืออะไร แต่หลักการพื้นฐานต่างๆ นั้น (สังเกตได้จากที่ได้นำเสนอข้างต้น) ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มาก เพียงแต่เป็นการศึกษาในองค์กรเดิมๆ และนำเสนอในชื่อใหม่เท่านั้นเองครับ ซึ่งดูเหมือนในช่วงหลัง หนังสือของต่างประเทศจะออกมาในแนวทางนี้กันเยอะนะครับ และเมื่ออ่านเข้าไปมากๆ เข้าก็รู้สึกเหมือนกันหมดทุกเล่ม