24 September 2005
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ยังคงอยู่ในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ต่อเนื่องจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์นี้จะมาเจาะในประเด็นถึงแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ ด้วยรูปแบบต่างๆ กันนะครับ ท่านผู้อ่านลองโยงเข้ากับสิ่งที่ท่านผู้อ่านเจอในชีวิตประจำวันดูนะครับ และลองดูว่าเห็นด้วยกับแนวทางเหล่านี้หรือไม่ ในหนังสือ Deep Smart ที่เขียนโดย Dorothy Leonard และ Walter Swap เขาได้แบ่งขั้นตอนหรือกระบวนการในการถ่ายทอดความรู้จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งดังนี้ครับ ไว้เป็นทั้งหมดห้าขั้นตอนครับ และทั้งห้าขั้นตอนนี้ก็เรียงจากบทบาทของผู้รับการถ่ายทอดความรู้ จากการรับความรู้ในเชิงรับ แล้วค่อยๆ เข้าสู่การรับความรู้ในเชิงรุกครับ เรามาดูทั้งห้าขั้นตอนเริ่มจากขั้นที่หนึ่งก่อนนะครับ
ขั้นที่หนึ่งคือการรับการถ่ายทอดโดยการบรรยายหรือชี้นำ (Directives / Presentations / Lectures) การถ่ายทอดด้วยวิธีการนี้จะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีนะครับ เหมือนๆ กับที่เราเจอบ่อยในห้องเรียนสมัยเรียนหนังสือ ที่อาจารย์จะมาบรรยายหน้าห้องให้เราฟัง หรือเมื่อเราเริ่มเข้าไปทำงานเจ้านายหรือลูกพี่ จะบอกเราว่าให้ทำอะไรบ้าง โดยผู้เรียนไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงแค่ปฏิบัติตามที่ถูกบอกให้ทำ หรือเหมือนสมัยเรียนหนังสือก็ท่องหนังสือตามที่อาจารย์สอนเป็นนกแก้วนกขุนทอง การถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีการนี้ก็พบเจอทั่วไปในองค์กรนะครับ แต่ท่านผู้อ่านคงจะเห็นพ้องกันนะครับว่าเราจะต้องอย่าไปหวังอะไรมากจากการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะความรู้ที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์มานานนับสิบปี
ขั้นที่สองคือ การถ่ายทอดผ่านสูตรสำเร็จ (Rules of Thumb) ภายใต้แนวทางนี้ตัวผู้สอนหรือโค้ชจะรวบรวมประสบการณ์ที่ตนเองได้เรียนรู้มา แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นแนวทาง ประโยค หรือ ข้อคิดสั้นๆ ที่ถ่ายทอดต่อไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ท่านผู้อ่านลองนึกย้อนกลับดูก็ได้นะครับ แล้วจะพบว่าบรรดาบุคคลสำคัญต่างๆ ของโลกมักจะมีคำพูดหรือประโยคเด็ดๆ ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ความรู้ที่สะสมมานานนับสิบๆ ปี ถ่ายทอดออกมา แต่การถ่ายทอดความรู้ผ่านแนวทางนี้ก็ก่อให้ความสับสนได้เหมือนกันนะครับ เนื่องจากผู้รับ จะต้องไปขยายความต่อและบางทีประโยคเด็ดๆ นั้นก็อาจจะยังไม่ชัดเจนเพียงพอ
ขั้นที่สามคือ การถ่ายทอดผ่านทางเรื่องราวหรือนิทาน (Stories with a Moral) ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการถ่ายทอดหรือบอกเล่าประสบการณ์จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง และทำให้เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกจดจำได้ง่ายขึ้น นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับว่ามีสาเหตุทางการแพทย์ที่เป็นที่เชื่อถือได้ ว่าสมองคนเราจะรับรู้และจดจำต่อเรื่องราวและนิทานได้ดีกว่าการบอกเล่าธรรมดา ไม่ต้องมองอื่นไกลครับ นึกถึงเด็กๆ ก็ได้ครับ เราเองก็จะจำนิทานหลายๆ เรื่องที่ได้ยินสมัยเด็กๆ ได้ดีกว่าเหตุการณ์บางเหตุการณ์เสียอีก นอกจากนี้นะครับ ยังพบอีกด้วยว่าเมื่อเราได้พบหรือเจอประสบการณ์ที่สอดคล้องกับนิทานที่เราได้ยิน เราก็จะสามารถย้อนกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในนิทานนั้นได้อย่างชัดเจน
ขั้นที่สี่คือ การถ่ายทอดผ่านทางการตั้งคำถาม (Socratic Questioning) ซึ่งเป็นแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ที่มีมานานตั้งแต่สมัยปราชญ์โบราณอย่าง Socratis และก็เป็นวิธีที่อาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจหลายๆ ท่านใช้ในการสอนกรณีศึกษา นั้นคือให้ผู้สอนจะใช้วิธีตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนได้คิด และจากการที่ได้คิดนั้น จะทำให้สามารถได้คำตอบนั้นมาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยการบอกเล่าจากผู้สอน การตั้งคำถามนั้นจะทำให้ผู้ฟังได้มีการทบทวนในประโยคคำถามเหล่านั้นได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้ฟังได้ย้อนกลับมาคิดและท้าทายถึงความเชื่อแต่เดิมของตนเอง
ขั้นสุดท้ายคือการถ่ายทอดความรู้โดยผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีผู้มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ (Learning by Doing / Guided Experience) ท่านผู้อ่านที่ผ่านการสัมมนาบ่อยๆ คงจะนึกออกถึงความแตกต่างระหว่างการสัมมนาที่มีแต่อาจารย์มาบรรยายให้ฟังอย่างเดียว (ท่องตำรามาอ่านให้ฟัง) หรือ อาจารย์ที่มีประสบการณ์ที่นำกรณีศึกษาจากประสบการณ์ที่เจอมา เล่าให้ฟัง (การบอกเล่าเรื่องราว) และการสัมมนาที่เป็นลักษณะของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่ผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามเนื้อหาที่เรียนมา โดยมีอาจารย์หรือวิทยากรเป็นผู้ให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ ท่านผู้อ่านจะพบว่าวิธีการสุดท้ายจะเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด (ตามด้วยวิธีการที่สองและวิธีการแรกตามลำดับ)
ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธี Guilded Experience นั้นยังสามารถแบ่งออกไปได้อีกหลายแบบครับไม่ว่าจะ Guilded Observation ที่ผู้รับการถ่ายทอดจะคอยสังเกตในพฤติกรรมและการกระทำของผู้ที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ซึ่งวิธีการนี้ก็สอดคล้องกับที่เด็กๆ เขาจะเกิดการเรียนรู้โดยสังเกตจากพฤติกรรมของพ่อแม่ หรือ Guilded Problem Solving ที่ทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้รับการถ่ายทอดจะมาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยผู้รับการถ่ายทอดได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างใกล้ชิดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า และสุดท้ายคือ Guilded Experimentation ที่เมื่อท่านได้เจอกับสถานการณ์หรือปัญหาแล้วจะมีผู้ที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะหรือช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ
เป็นไงบ้างครับสามสัปดาห์กับเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลปัจจุบันที่บุคลากรผู้มีประสบการณ์เริ่มลาจากองค์กรไป ซึ่งสิ่งที่นำเสนอนั้นอาจจะไม่ทันสำหรับปีนี้ก็ได้นะครับ แต่น่าจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้นำไปปรับใช้สำหรับองค์กรของท่านในระยะยาวนะครับ