19 December 2002

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ฉบับนี้ถือว่าเป็นฉบับแรกที่ผมได้มีโอกาสมาพบกับท่านผู้อ่านในปี 2546 ซึ่งก็ถือว่าผมได้มาพบกับท่านผู้อ่านผ่านทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาเป็นเวลาหนึ่งปีพอดี ถ้ามีข้อเสนอแนะหรือคำถามอะไรก็อย่าลืมอีเมล์มาพูดคุยกันได้นะครับ โดยธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อขึ้นปีใหม่เราก็มักจะพูดถึงอะไรใหม่ๆ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่นี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมเองได้นำเสนอรายชื่อสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปี 2545 ดังนั้นในฉบับนี้ผมจึงขอนำเสนอประเด็นทางด้านการจัดการที่น่าสนใจในปี 2546 นี้ ต้องขอเรียนให้ทราบก่อนว่าผมจะไม่พยายามทำตัวเป็นนักพยากรณ์ที่จะสามารถบอกได้ว่าแนวโน้มทางด้านการจัดการในปีใหม่นี้จะเป็นอย่างไร เพียงแต่ขอนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวว่าจะมีประเด็นทางด้านการจัดการอะไรบ้างที่เป็นที่น่าสนใจในปีใหม่นี้ โดยประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความจะเป็นประเด็นใหม่ล่าสุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นทางด้านการจัดการที่มีการพัฒนาในต่อเนื่องมาจากในปีที่แล้ว และผมคิดว่าจะยังคงทวีความสำคัญในปีใหม่นี้

ขอเริ่มที่กลยุทธ์ก่อนเป็นประเด็นแรกครับ จริงๆ กลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ลักษณะของกลยุทธ์ที่เราจะเจอในปีนี้จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในบ้านเราที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น (ถ้าไม่เกิดสงครามก่อนนะครับ) ทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจต่อกลยุทธ์ในการเติบโตมากขึ้น จริงๆ แล้วในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ดีองค์กรต่างๆ ก็มีการทำกลยุทธ์กันอยู่เป็นปกติ เพียงแต่กลยุทธ์ในช่วงเศรษฐกิจขาลงกับเศรษฐกิจขาขึ้นย่อมแตกต่างกัน การเติบโตของภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นจากปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ทำให้องค์กรธุรกิจหลายๆ แห่งเริ่มที่คิดขยับขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้กระแสในเรื่องของกลยุทธ์ในการเติบโต (Growth Strategy) กลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องหันมาประหยัดและลดขนาดลงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา อย่างไรก็ดีความสนใจต่อกลยุทธ์ในการเติบโตขององค์กรธุรกิจในปีนี้คงจะแตกต่างจากในช่วงก่อนฟองสบู่แตกพอสมควร เนื่องจากผู้บริหารได้รับบทเรียนจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กลยุทธ์การขยายตัวขององค์กรธุรกิจในปีนี้จะเป็นไปอย่างระมัดระวังตัวพอสมควร ไม่ได้มีลักษณะบุ่มบ่ามเหมือนในอดีต องค์กรธุรกิจจะมุ่งเน้นการขยายตัวในสิ่งที่ตนเองมีความถนัดก่อนที่จะไปสู่สิ่งที่ตนเองไม่ถนัด ถ้าจะพูดภาษาทางวิชาการก็พอจะบอกได้ว่าการขยายตัวขององค์กรธุรกิจจะเป็นการขยายตัวในธุรกิจเดิม (Concentric Growth) และการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม (Related Diversification) มากกว่า องค์กรธุรกิจจะพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนเองมีความโดดเด่นเป็นปัจจัยในการขยายตัวมากกว่าการกระโจนเข้าสู่สิ่งที่น่าดึงดูดใจ แต่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญ

กลยุทธ์ที่องค์กรใช้ในการแข่งขันก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้องค์กรธุรกิจจะต้องสามารถนำเสนอความแตกต่างที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ความแตกต่างในที่นี้อาจจะเป็นตั้งแต่ในเรื่องของตัวสินค้าและบริการ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งในเรื่องของราคา องค์กรธุรกิจจะมุ่งสร้างความแตกต่างเหล่านี้ให้ลูกค้าเห็นได้เด่นชัดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยีที่นำสมัย การบริการที่โดดเด่นเหนือผู้อื่น สินค้าที่แตกต่างจากผู้อื่น หรือแม้กระทั่งราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งขัน อย่างไรก็ดีปัญหาประการหนึ่งที่องค์กรธุรกิจจะเผชิญก็คือความยากที่จะรักษาความแตกต่างนี้ไว้ได้ในระยะยาว ทั้งนี้เนื่องจากคู่แข่งขันจะมีความสามารถในการลอกเลียนความแตกต่างได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับ ไม่ว่าใครจะคิดค้นสินค้าอะไรใหม่ออกมา ชั่วระยะเวลาไม่นานคู่แข่งก็สามารถที่จะออกสินค้าชนิดเดียวกันออกมาได้อย่างรวดเร็ว จากความสามารถในการลอกเลียนแบบที่รวดเร็วของคู่แข่ง ทำให้องค์กรหลายๆ แห่งต้องให้ความสนใจต่อในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น จนท้ายที่สุดแล้วองค์กรอาจจะพบว่าวิถีทางหลักที่จะทำให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งได้ตลอดเวลานั้นจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมเป็นหลัก ซึ่งผมเชื่อว่าความใส่ใจในเรื่องนวัตกรรมของผู้บริหารนั้นจะส่งผลทำให้องค์กรได้หันมาให้ความสนใจต่อแนวคิดในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และการบริหารความรู้ (Knowledge Management) เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าแนวคิดทั้งสองประการจะเป็นที่สนใจกันในเมืองไทยมาพอสมควรแล้ว แต่เชื่อว่าในปีนี้ความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้การขยายตัวขององค์กรธุรกิจในอดีตนั้นจะเป็นการขยายแบบรุกอย่างเดียว โดยไม่มีการเสริมกองหลังให้แข็งแรง แต่ในปีนี้จะแตกต่างออกไป นั้นคือแทนที่จะขยายตัวเพียงอย่างเดียว องค์กรธุรกิจต่างๆ จะหันกลับมาพัฒนาและปรับปรุงระบบในการบริหารงานและการดำเนินภายในองค์กรควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบการพัฒนาบุคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการดำเนินงานต่างๆ ให้มีความประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้แหละครับที่เครื่องมือทางด้านการจัดการใหม่ๆ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Key Performance Indicators, TQM, Six Sigma, Benchmarking ฯลฯ สังเกตได้จากความตื่นตัวของการนำเครื่องมือทางการจัดการเหล่านี้เข้ามาใช้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร

การกลับมาสู่ยุคของกลยุทธ์การเติบโตในช่วงนี้นั้น นอกเหนือจากการที่องค์กรธุรกิจต่างๆ จะมีความระมัดระวังในการขยายตัวมากขึ้นแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่องค์กรธุรกิจจะมุ่งเน้นคือในเรื่องของการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือ อีกนัยหนึ่งคือความสามารถในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผล เราจะเริ่มเห็นมากขึ้นว่าผู้บริหารในสมัยนี้ไม่ได้ต้องการเพียงแค่การมีแผนกลยุทธ์ที่สวยหรูเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงแนวทางในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลที่ชัดเจน การมีแผนกลยุทธ์ที่สวยหรูเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริหารต้องการอีกต่อไป สิ่งที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องการคือแนวทางในการนำกลยุทธ์นั้นไปสู่การปฏิบัติ การกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือบุคคลที่ชัดเจน การวัดผลของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติที่ชัดเจน รวมการเชื่อมผลตอบแทนเข้ากับกลยุทธ์ นั้นคือกลยุทธ์ในยุคใหม่จะต้องชัดเจนและจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้เป็นสิ่งที่มีมาพอสมควรแล้ว และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวคิดในเรื่องของ Balanced Scorecard ได้รับความสนใจจากผู้บริหารอย่างมากมายในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตอนนี้ความนิยมในเรื่องของ Balanced Scorecard จะเริ่มลงไปสู่องค์กรขนาดกลางมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ทั้งหลายของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นเครือชินวัตร เครือซีพี ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย เครือปตท. ฯลฯ ได้ริเริ่มนำมาใช้กันอย่างทั่วหน้าแล้ว ในปีนี้และปีหน้าคงจะเป็นคิวของส่วนราชการและองค์กรธุรกิจขนาดกลางที่หันมาตื่นตัวในเรื่องของเครื่องมือทางการจัดการตัวนี้

นอกเหนือจากแนวโน้มทางด้านกลยุทธ์ในปีนี้ตามที่ได้นำเสนอแล้ว แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ในปีนี้คือความตื่นตัวอย่างสูงในเรื่องของจริยธรรมของผู้บริหาร ความรับผิดชอบต่อสังคม และในเรื่องของหลัก Good Governance จริงๆ แล้วแนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะมีความคุ้นเคยพอสมควรแล้ว สิ่งที่ผมมองเห็นนั้นคือในเรื่องของความตื่นตัวที่จะมีมากขึ้นทุกขณะ และแพร่กระจายเข้าไปในองค์กรทุกลักษณะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐบาล ความตื่นตัวในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจจะทำให้ปรัชญาในการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งในปัจจุบันในแวดวงวิชาการก็ได้เริ่มมีการศึกษากันถึงเรื่องขององค์กรที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Enterprise กันมากขึ้น โดยหลักของ Sustainable Enterprise นั้นจะมองว่าเป้าหมายสุดท้ายที่องค์กรควรจะบรรลุไม่ใช่เพียงแค่กำไรหรือผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมุ่งเน้นการตอบสนองต่อสังคมด้วย ซึ่งการตอบสนองต่อสังคมนี้ เมื่อดำเนินไปถึงระดับหนึ่งย่อมจะก่อให้เกิดกำไรต่อธุรกิจ พัฒนาการของเรื่องเหล่านี้จะมีอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ในช่วงแรกคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้เท่าใด แต่พอถึงสิ้นปีที่แล้วได้เริ่มมีการวัดผลหรือจัดลำดับในเรื่องของ Good Governance โดยหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น เราคงจะต้องคอยดูว่าแล้วในปีนี้แนวคิดเหล่านี้จะมีการพัฒนาไปถึงขั้นใด นอกจากนี้ความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวยังทำให้เครื่องมือทางด้านการจัดการต่างๆ ต้องเริ่มปรับตัวไป ตัวอย่างเช่นในกรณีของ Balanced Scorecard ที่ในปัจจุบันแทนที่องค์กรจะคำนึงเฉพาะด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และการเรียนรู้และพัฒนา องค์กรหลายๆ แห่งก็เริ่มที่จะสร้าง Balanced Scorecard ที่คำนึงถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือที่เราเรียกว่า Stakeholders มากขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบันเริ่มมีนักวิชาการพัฒนาแนวคิดใหม่ต่อยอดจาก Balanced Scorecard ให้กลายเป็นPerformance Prism หรือ Accountability Scorecard ซึ่งเป็น Balanced Scorecard ในเวอร์ชั่นที่ประกอบด้วย Stakeholders กลุ่มต่างๆ นอกเหนือจากลูกค้าและผู้ถือหุ้นมากขึ้น

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในด้านของกลยุทธ์และการแสดงถึงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจแล้ว องค์กรที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดทางด้านการจัดการในปีนี้คงจะหนีไม่พ้นหน่วยงานของรัฐบาล การปฏิรูประบบราชการเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องมีการปรับตัว อีกทั้งทำให้ข้าราชการต่างๆ เริ่มมีความตื่นตัวต่อเทคนิคและแนวคิดในการจัดการสมัยใหม่มากขึ้น การผสมผสานระหว่างแนวทางในการบริหารจัดการทางด้านธุรกิจเริ่มคืบคลานเข้าสู่หน่วยงานราชการต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวิเคราะห์และจัดทำกลยุทธ์ การนำเรื่องของ Balanced Scorecard และตัวชี้วัดเข้ามาใช้ การขอการรับรองระบบคุณภาพต่างๆ แนวคิดในการจ่ายโบนัสหรือการเลื่อนขั้นโดยดูจากผลการดำเนินงานเป็นหลัก (Pay for Performance) รวมทั้งแนวคิดในเรื่องของ Good Governance ก็จะเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐให้ความตื่นตัวอย่างมากและสำคัญ จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานภาครัฐนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าจะสามารถคาดการณ์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐบาลของต่างประเทศมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว หน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ต่างๆ มีการปฎิรูปและปรับตัวโดยการนำแนวคิดทางด้านการจัดทางภาคธุรกิจมาใช้ในภาครัฐมากขึ้น

 การเปลี่ยนแปลงในภาคราชการนั้นจะส่งผลให้ข้าราชการทั่วประเทศต้องมีการปรับตัวพอสมควร ทัศนคติและแนวทางในการทำงานก็จะต้องเปลี่ยนไป ข้าราชจะต้องเริ่มที่จะมองผู้รับบริการหรือประชาชนเป็นลูกค้ามากขึ้น จากในอดีตที่มองว่าประชาชนหรือผู้เข้ามาติดต่องานเป็นผู้เข้ามาขอความช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันข้าราชการจะต้องมองว่าประชาชนคือลูกค้าผู้มารับบริการจากเรา หน่วยราชการหลายๆ แห่งก็ได้ริเริ่มที่จะมีวัดในเรื่องของความพึงพอใจของผู้รับบริการกันมากขึ้น ทำให้ข้าราชการคงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานกันเยอะพอสมควร สิ่งที่เริ่มเป็นที่สังเกตได้ก็คือการอบรมสัมมนาของข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องแนวคิดและเทคนิคทางการบริหารเริ่มที่จะมีมากขึ้นทุกขณะ

 เป็นอย่างไรครับ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยกับประเด็นที่ผมเสนอหรือไม่ หรือท่านผู้อ่านมีความเห็นว่าอะไรที่น่าจะเป็นประเด็นทางการจัดการที่น่าสนใจในปีนี้บ้างครับลองอีเมล์เข้ามาคุยกันได้นะครับ และขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในปีใหม่ 2546 นี้นะครับ