
16 April 2011
ท่านผู้อ่านอาจจะงงนะครับว่าทำไมหัวข้อบทความผมในวันนี้จึงเป็นเรื่องของ Gutenberg vs. Zuckerberg ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะพอจำได้ว่า Johannes Gutenberg ชาวเยอรมันเป็นผู้ที่ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบเคลื่อนที่ได้ และทำให้เกิดการพัฒนาในด้านการพิมพ์และถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่สำคัญหลายประการของมนุษย์เรา โดยการค้นพบของ Gutenberg นั้น ในปี 1439 นักประวัติศาสตร์บางคนก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ส่วน Mark Zuckerberg นั้นเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงทราบอยู่แล้วว่าเป็นผู้คิดค้นและเป็นเจ้าของ Facebook ที่เราท่านคุ้นเคยกันดี
คราวนี้ท่านผู้อ่านก็อาจจะสงสัยต่อนะครับว่าสองคนนี้เขาเกี่ยวข้องกันอย่างไรนอกจากมีคำว่า Berg อยู่ในตอนท้ายชื่อ หรือ เพราะเหตุใดผมจึงเอายอดคนโบราณ (ขอนำศัพท์กำลังภายในมาใช้หน่อยนะครับ) อย่าง Gutenberg มาเปรียบกับเจ้าพ่อ Social Media ในปัจจุบันอย่าง Zuckerberg สาเหตุสำคัญที่ผมนำบุคคลสองคนนี้มาเปรียบเทียบกันนั้น เนื่องจากมองว่าสิ่งที่ทั้งคู่คิดค้นและพัฒนาขึ้นมานั้นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านต่างๆ และที่สำคัญคือก่อให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเรา เพียงแต่ถ้าเทียบกันตรงๆ ส่ิงที่ Zuckerberg คิดค้นขึ้นมานั้น อาจจะยังไม่แพร่หลาย และส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้อย่างแพร่หลายและยั่งยืนเท่าที่สิ่งที่ Gutenberg คิดค้นขึ้น ซึ่งเวลาเท่านั้นนะครับที่จะบอกได้ว่า Facebook หรือ Social Media นั้นจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ชาติได้เท่าแท่นพิมพ์หรือไม่
ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยอรมันและเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Gutenberg ที่เมือง Mainz ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Gutenberg ทำให้ได้ทราบว่าการค้นพบของ Gutenberg นั้นส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และ การเมืองของยุโรปและของโลก ช่วงที่ Gutenberg คิดค้นแท่นพิมพ์ได้นั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นช่วงเดียวกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) หรือ บทบาทของ Martin Luther ผู้นำศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ที่แปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นจากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน จากนั้นก็อาศัยวิวัฒนาการของการพิมพ์ที่ทำให้คัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับภาษาเยอรมันแพร่หลายไปทั่ว และเริ่มโน้มน้าวให้คริสตชนเริ่มให้ความสนใจกับสิ่งที่เขียนในพระคัมภีร์ แทนที่จะเชื่อในสิ่งที่บาทหลวงหรือวาติกันบอกให้ทำ นักประวัติศาสตร์บอกเหมือนกันครับว่าถ้าไม่มี Gutenberg และแท่นพิมพ์ของเขาแล้ว Martin Luther ก็คงไม่สามารถสร้างสรรค์อีกแนวทางหนึ่งของศาสนาคริสต์ข้ึนมาได้
นอกเหนือจากเรื่องของศาสนาแล้ว วิชา ความรู้ต่างๆ ก็สามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วยุโรปก็เนื่องจาก Gutenberg เช่นเดียวกันครับ เนื่องจากในอดีตนั้นการผลิตหนังสือแต่ละเล่มนั้นจะต้องอาศัยคนลอกหนังสือด้วยลายมือ ดังนั้นส่วนใหญ่หน้าที่นี้จึงมักเป็นของพวกบาทหลวงต่างๆ ที่ในแต่ละวันก็จะนั่งคัดลอกพระคัมภีร์และหนังสือต่างๆ ซึ่งกว่าจะลอกเสร็จก็ใช้เวลาอยู่นานโข แต่พอ Gutenberg คิดค้นแท่นพิมพ์ได้ การแพร่หลายของความรู้ในด้านต่างๆ ผ่านทางหนังสือก็กระจายไปทั่วยุโรป ญาติชาวเยอรมันผมเปรียบเทียบให้ฟังเลยครับ ว่าหลังจากที่ Gutenberg คิดแท่นพิมพ์ได้ ก็เกิดการพิมพ์เผยแพร่สิ่งต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านศาสนา) กันอย่างบ้าคลั่ง
สำหรับกรณีของ Facebook และ Social Media นั้น เรายังไม่อาจจะพิสูจน์ได้นะครับว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมนุษยชาติได้เท่ากับ Gutenberg และแท่นพิมพ์ของเขาหรือไม่ แต่ผมมองความเหมือนกันระหว่าง Social Media กับแท่นพิมพ์ของ Gutenberg ในประเด็นที่ว่าทั้งสองเรื่องทำให้คนมีสิทธิ์มีเสียง สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าในอดีต ก่อนที่จะมีการผลิตแท่นพิมพ์นั้น ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ นั้น มักจะต้องมาจากวัด วัง หรือ ศาสนจักร แต่พอมีการคิดค้นแท่นพิมพ์เกิดขึ้น ทุกๆ คนก็มีสิทธิ์และเสียงที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ กันมากขึ้น
ในกรณีของ Facebook และ Social Media ทั้งหลายก็เช่นเดียวกันครับ ถึงแม้อินเตอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ปฎิวัติโลก แต่ในอดีตนั้น ผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงก็มักจะเป็นบรรดาเจ้าของเว็บหรือเว็บมาสเตอร์ต่างๆ แต่พอเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตพัฒนาเป็นระบบ 2.0 และยิ่งกลายเป็น Social Media ทุกๆ คนก็สามารถที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ กันมากขึ้น ย้อนคล้ายกับไปสมัย Gutenberg ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของเนื้อหามากขึ้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเผยแพร่ความคิดเห็น หรือ ความรู้สึกของตนเองไปยังผู้อ่านหมู่มากได้มากขึ้น
อาจจะพอฝืนใจกล่าวได้ว่าสถานการณ์จาก Social Media ในปัจจุบัน มีส่วนที่ใกล้เคียงกับช่วงสมัย Gutenberg บ้าง แต่ก็คงต้องดูกันต่อไปนะครับ ว่า Social Media จะมีอิทธิพลต่อมนุษย์ชาติได้มากเท่ากับแท่นพิมพ์ของ Gutenberg หรือไม่