30 March 2011

สัปดาห์นี้ขอมาคุยกันเรื่องของ Scenario Thinking กันอีกรอบนะครับ จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วแต่นานมากพอสมควร และพอดีช่วงนี้ผมต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกครั้ง ก็เลยต้องปัดฝุ่นตัวเองเรื่องของ Scenario และถือโอกาสมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังอีกครั้งนะครับ

เนื่องจากในปัจจุบันการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จะต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมซึ่งประกอบด้วยทั้งความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้การวางแผนและการพยากรณ์ในรูปแบบเดิมๆ อาจจะไม่ทันและไม่เพียงพอต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นความสามารถขององค์กรในการที่จะมีการวิเคราะห์และพิจารณาต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนไป จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในปัจจุบัน ผู้บริหารในปัจจุบันต้องการระบบในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

Scenario Thinking นั้นเป็นกระบวนการที่เป็นระบบในการคิดและคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน โดยไม่จำเป็นต้องพยากรณ์หรือฟันธงลงให้ชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ในการคิดตามหลักของ Scenario นั้นจะเป็นการพิจารณาปัจจัยชี้นำ หรือ Driving Forces ที่สำคัญต่อองค์กรและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต วัตถุประสงค์ของ Scenario Thinking นั้นก็เพื่อให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องได้คิดและพิจารณาถึงผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ต่ออนาคตในการดำเนินงานขององค์กรในด้านต่างๆ อีกทั้งเป็นการคิดในเชิงรุก แทนที่จะมัวแต่คอยรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ อย่างเดียวเหมือนที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

โดยส่วนใหญ่ท่านผู้อ่านที่พอคุ้นเคยกับเรื่องของ Scenario มักจะนึกถึงภาพว่า Scenario นั้นจะมีสามลักษณะได้แก่ แบบที่ออกมาดีที่สุด (Best-Case) แบบที่เป็นไปได้มากที่สุด (Most Likely Case) และแบบที่แย่ที่สุด (Worst Case) แต่จริงๆ แล้วการคิด Scenario ไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นสามรูปแบบดังกล่าวเท่านั้นครับ ประเด็นสำคัญของ Scenario คือให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมภายนอกต่างๆ ว่าจะมีลักษณะอย่างไรในอนาคต และความเข้าใจผิดอีกประการคือความแตกต่างระหว่าง Scenario Thinking กับ Scenario Planning ซึ่งจริงๆ แล้วผมมองว่าทั้งสองอย่างนั้นต่างกัน Scenario Thinking นั้นคือการคิดถึงปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกต่างๆ ที่สำคัญในอนาคต และเมื่อคิดเสร็จแล้วจึงนำสิ่งที่คิดนั้นมาจัดทำแผนการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่า การคิดเชิง Scenario นั้นเริ่มหรือมีวิธีการอย่างไร? การจะคิดเชิง Scenario ได้จะต้องเริ่มจากการหาปัจจัยชี้นำหรือ Driving Forces ที่สำคัญของอุตสาหกรรมก่อน ปัจจัยชี้นำ หรือ Driving Forces นั้นเปรียบเสมือนเป็นปัจจัยในด้านต่างๆ ที่จะชี้นำหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่แล้ว Driving Forces มักจะอยู่ภายใต้กรอบหลักๆ ในด้านของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประชากร เทคโนโลยี พฤติกรรมลูกค้า หรือ การแข่งขัน ตัวอย่างของ Driving Forces ที่สำคัญในด้านต่างๆ อาทิเช่น ในด้านการเมืองนั้น มีเรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRIC หรือ การควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ต หรือ การประท้วงในด้านต่างๆ ในตะวันออกกลาง ส่วน Driving Forces ทางด้านเทคโนโลยีก็มีหลายประการอาทิเช่น อุตสาหกรรมเกม หรือ Virtual Communities หรือ Voice Recognition Systems เป็นต้น

แต่ละองค์กรควรจะหา Driving Forces ที่สำคัญประมาณ 5-7 ประการ (ไม่ควรจะเยอะครับ เนื่องจากถ้าเยอะเกินไป จะทำให้องค์กรไม่มุ่งเน้น) โดยปัจจัยชี้นำเหล่านั้นควรจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมหรือบริษัท เมื่อได้ Driving Forces ที่สำคัญแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการของการคิดไปในอนาคตในแต่ละ Driving Forces ซึ่งการคิดไปในอนาคตนั้นสามารถทำได้หลายวิธีครับ ตั้งแต่การสอบถามผู้บริหารแต่ละท่าน (โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง) ว่าแต่ละท่านมีมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของ Driving Forces ในแต่ละประการอย่างไรบ้าง หรือ อาจจะใช้หลัก Best Case, Most Likely Case, Worst Case สำหรับการคิดในแต่ละ Driving Forces หรือ อาจจะทำคล้ายๆ กับ Decision Tree (บางคนเรียกว่าเป็น Scenario Tree) เพื่อดูความเป็นไปได้ของแต่ละปัจจัยชี้นำ ที่สำคัญคือท่านผู้อ่านอย่าลืมสร้างเรื่องราวของแต่ละ Scenario ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วยนะครับ

คราวนี้เมื่อเราได้ภาพในอนาคตของแต่ละปัจจัยชี้นำแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาว่าภาพของความเป็นไปในที่จะเกิดข้ึนในอนาคตนั้น ปัจจัยใดบ้างที่จะกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อองค์กร (ความเสี่ยงนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดีนะครับ อาจจะเป็นโอกาสก็ได้) เนื่องจากถึงแม้เมื่อคิด Scenario ได้หลายประการแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะต้องคิดแผนเผื่อสำหรับทุก Scenario เนื่องจากบาง Scenario อาจจะส่งผลกระทบต่อองค์กรมากกว่า Scenario อื่น ดังนั้นคงจะต้องมาวิเคราะห์กันต่อครับว่า Scenario ตัวไหนที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรมากกว่ากัน และมีการวางแผนเพื่อที่จะรองรับต่อความเสี่ยงที่จะเกิดข้ึนจาก Scenario ดังกล่าว

หวังว่าท่านผู้อ่านคงพอจะมองเห็นถึงแนวทางและความสำคัญของ Scenario Thinking กันบ้างแล้วนะครับ ยังไงประเด็นสำคัญก็ของ Scenario ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้คิดถึงปัจจัยภายนอกต่างๆ ในเชิงอนาคต ทำให้ผู้บริหารได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น และได้คิดถึงปัจจัยต่างๆ ได้อย่างถี่ถ้วนขึ้น