26 January 2011

ถ้าจะเขียนถึงความสำคัญและความจำเป็นของการลงทุนในประเทศจีนนั้นก็อาจจะช้าไปสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนะครับ แต่ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจในประเทศจีนอยู่นั้นคือ การผลิตเพื่อประเทศจีน หรือ Made for China แทนที่จะเป็น Made in China ในแบบที่เราคุ้นกัน เรื่องของการผลิตเพื่อประเทศจีนนั้นถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับปี 2011 นี้โดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายนะครับ โดยทาง Trend Watching ซึ่งทำหน้าที่ในการติดตามแนวโน้มสำคัญๆ ของโลกก็ได้บรรจุเรื่องของ Made for China ไว้เป็นหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญสำหรับปีใหม่นี้

            คาดกันว่าในปีนี้จะมีบริษัทที่มีชื่อเสียงจำนวนมากจากโลกตะวันตกที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือแบรนด์สินค้าใหม่สำหรับบรรดาตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก เนื่องจากตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ (โดยเฉพาะกลุ่ม BRIC = Brazil, Russia, India, China) ถือเป็นขุมทรัพย์และแหล่งของการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ที่สำคัญในประเทศเหล่านี้สินค้าหรือแบรนด์ของต่างประเทศ (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) ยังคงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนสูงกว่าสินค้าจากท้องถิ่น อย่างไรก็ดีคนท้องถิ่นจากประเทศเหล่านี้ย่อมอยากจะได้สินค้าหรือแบรนด์ระดับโลกแต่มีการผสมผสานหรือปรับให้เข้ากับลักษณะ วัฒนธรรมหรือ ความต้องการของชนชาติตนเองมากกว่าเพียงแค่การนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศเท่านั้น

            เราลองมาดูสถิติของประเทศจีนกันนะครับ มูลค่ายอมค้าปลีกของจีนในเดือนพฤษภาคม 53 เพิ่มสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 52 ถึงร้อยละ 18.7 นอกจากนี้ยังคาดการณ์กันอีกครับว่ามูลค่าการค้าปลีกของจีนนั้นจะสูงกว่าอเมริกาในปี 2016 และที่สำคัญมีตัวเลขที่น่าสนใจออกมาอีกว่าผู้ที่มีเงินของจีนนั้น (พวกที่มี่รายได้เกิน $36,765 ต่อปี) ถึงร้อยละ 52 จะเลือกสินค้าหรือแบรนด์จากต่างประเทศมากกว่าของท้องถ่ิ่น ในขณะที่เพียงร้อยละ 37 ของคนกลุ่มเดียวกันที่จะเลือกของท้องถ่ินมากกว่าของต่างประเทศ

            คราวนี้ลองมาดูกันบ้างนะครับว่ามีบริษัทไหนแล้วบ้างที่เริ่มภารกิจ Made for China

            เริ่มจากยีนส์ดังระดับโลกอย่าง Levi ที่ออกแบรนด์ dENIZEN ซึ่งถือเป็นแบรนด์แรกของ Levi ที่เปิดตัวนอกอเมริกา โดยเป็นยีนส์ที่ออกแบบสำหรับคนจีนและเอเชียที่มีทรงที่แคบและผอมกว่าการเกงยีนส์ปกติของ Levi และสำนักงานของ dENIZEN ก็ตั้งอยู่ที่ฮ่องกงเลยครับ สนใจลองเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.denizen.com/

            ตามมาด้วย Dior ที่ออก Shanghai Blue Phone ซึ่งเป็นโทรศัพท์รุ่นพิเศษที่ Dior ทำออกมาเพื่อขายใน Dior Shop ในเซี่ยงไฮ้สำหรับเศรษฐีชาวจีนโดยเฉพาะ หรือ Hermes ที่ออกแบรนด์ใหม่ Shang Xia ร่วมกับนักออกแบบชาวจีน เพื่อนำเสนอเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านต่างๆ ที่ออกแบบมาโดยอิงจากวัฒนธรรมของจีน และเพื่อเศรษฐีชาวจีนโดยเฉพาะ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.shang-xia.com/ นะครับ

            สำหรับค่่ายรถชื่อดังอย่าง BMW ก็ออกรถยนตร์รุ่นใหม่ที่เป็น Limited Edition ในรุ่น M3 Tiger ที่มีขายแต่เฉพาะในประเทศจีน เพื่อเป็นการฉลอง 25 ปีของรถรุ่น M3 กับเพื่อให้สอดคล้องกับปีเสือตามปีนักษัตรของจีน สุดท้ายที่น่าสนใจคือ Apple เจ้าเก่าของเราครับ ที่ร้าน Apple ในเซี่ยงไฮ้นั้น พนักงานของเขาก็เริ่มแต่งตัวด้วยเสื้อยืดสีแดง และมีเขียนไว้บนเสื้อว่า ‘Designed in California, Made for China’ เป็นภาษาจีน ซึ่งเหมือนกับเป็นการล้อเลียนข้อความที่เขียนบนด้านหลัง iPhone ว่า ‘Designed by Apple in California, assembled in China’

            นอกเหนือจากแบรนด์ดังๆ ที่เริ่มมีสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ๆ มาจับลูกค้าเศรษฐีในจีนแล้ว แนวโน้มที่สำคัญอีกประการก็คือแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ระดับโลกก็เริ่มที่จะออกแบรนด์ใหม่ที่มีราคาถูกกว่าเพื่อจับลูกค้าในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนตร์ยี่ห้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Honda ที่ออก Li Nian หรือ Nissan ที่ออก Venucia หรือ GM ที่ออก Baojun

            พอเขียนบทความนี้ก็ชวนให้คิดนะครับว่าแล้วธุรกิจไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ได้บ้างอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าสำหรับธุรกิจไทยในการออกแบรนด์ใหม่เพื่อไปจับกลุ่มลูกค้ามีเงินในประเทศจีนนั้นจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เนื่องจากที่แบรนด์ทางตะวันตกเขาทำได้นั้นเนื่องจากเขาอาศัยบุญเก่าจากแบรนด์เดิมที่มีอยู่่ และความคลั่งไคล้ต่อสินค้าต่างประเทศของคนจีน แต่พอถึงนึกแบรนด์ไทยที่พอจะมีโอกาสบ้างนั้นก็นึกไม่ค่อยออกเลยครับ สงสัยภาคธุรกิจของไทยอาจจะต้องไปเน้นออกแบรนด์หรือสินค้าสำหรับขายในจีนที่มุ่งเน้นคนหมู่มาก แทนที่จะเป็นพวกเศรษฐีเหมือนธุรกิจตะวันตกเขาครับ