10 July 2011

ดูเหมือนว่าวารสาร Harvard Business Review ในฉบับเดือนกรกฎาคมนี้จะทันสมัยต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนะครับ เนื่องจากหัวเรื่องและบทความหลักของ HBR ในเดือนนี้เขานำเสนอถึงรูปแบบผู้นำในรูปแบบใหม่ที่เขาเรียกเป็น Collaborative Leader หรือผู้นำที่เป็นผู้ประสาน เนื่องจากในโลกยุคใหม่ที่ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันตลอด ทำให้ผู้นำรูปแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบเผด็จการ หรือ ผู้นำที่อาศัยเสียงข้างมากอย่างเดียว จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กร

นอกจากนี้จากแนวโน้มสำคัญทางด้านการบริหารที่องค์กรต่างๆ จะเน้นเรื่องของความร่วมมือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับภายในหรือภายนอกองค์กร ก็ทำให้ลักษณะของผู้นำจะต้องเปลี่ยนไป ลองสังเกตแนวโน้มการบริหารและการทำงานในปัจจุบันดูก็ได้ครับ เราจะพบว่ามีการต้องรับฟังความคิดเห็นและร่วมมือกับบุคลากรทุกระดับ คู่ค้า ลูกค้า คู่แข่งขัน หรือ สังคมและผู้มีส่วนร่วมต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งการที่เราอยู่ในสังคมและเครือข่ายออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น ทำให้ชีวิตของเราในปัจจุบันจะต้องยุ่งเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ มากหน้าหลายตามากขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงานและเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ทำให้ผู้นำยุคโบราณที่เน้นทำงานแต่ในฝ่าย แผนก หรือ Silo ของตน ยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนะครับ ผู้นำเครือข่ายนั้นจะต้องมีความสามารถในการประสาน และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายต่างๆ ไม่ใช่ผู้ที่มัวแต่ยึดมั่น ถือมั่นแต่ในความคิด ความเชื่อของตนเอง ผู้นำจะต้องรู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและความสัมพันธ์ต่างๆ ให้มากที่สุด แต่การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนั้นก็ไม่ใช่เอาแต่รับฟังความคิดเห็นและต้องรอให้ทุกคนเห็นด้วยก่อนแล้วค่อยดำเนินงานนะครับ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเขาเรียกว่าเป็นผู้นำแบบ Consensus หรือ พวกที่ต้องรอเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งก็จะทำให้การทำงานและการตัดสินใจล่าช้าไปได้

จริงๆ แล้วแนวโน้มความสำคัญของเครือข่ายและความสัมพันธ์ในประเทศไทยนั้นมีมานานพอสมควรแล้วนะครับ และยิ่งในช่วงหลังๆ ที่ดูเหมือนว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น สังเกตได้จากหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะในเรื่องของเนื้อหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นในการสร้างเครือข่ายหรือ Network ก็ได้รับความสำคัญมากขึ้น หลายๆ หลักสูตรจะต้องเข้าคิวเพื่อรอเรียนล่วงหน้ากันเป็นปีๆ เลยทีเดียว แต่การมีคนรู้จักหรือเครือข่ายเยอะก็ไม่ได้บอกว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็น Collaborative Leader ได้นะครับ ผู้นำคนนั้นจะต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงคน ความคิด และทรัพยากรต่างๆ ที่ปกติอาจจะไม่ค่อยได้มีโอกาสมาเจอหรืออยู่ร่วมกัน ให้สามารถพบเจอหรืออยู่ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ขององค์กรให้ได้

ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะทราบว่าท่านมีโอกาสเป็น Collaborative Leader ได้หรือไม่นั้นก็อาจจะลองตอบคำถามง่ายๆ ที่ Ibarra และ Hansen ผู้เขียนบทความเรื่อง Are you a Collaborative Leader? ตั้งไว้ก็ได้นะครับ ตัวอย่างของคำถามเหล่านี้ได้แก่ ท่านเข้าร่วมสัมมนาในหลักสูตรหรือโครงการอบรมที่อยู่นอกเหนือวิชาชีพของท่านบ้างไหม? ท่านเป็นสมาชิกของเครือข่ายทางสังคมใดบ้างไหม? ท่านมีโอกาสพบเจอบุคคลที่อยู่ภายนอกองค์กรท่านมากน้อยเพียงใด? ท่านเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในหน่วยงานภายนอกองค์กรท่านบ้างไหม?

Collaborative Leader นั้นจะต้องไม่ใช่พวกที่นั่งอยู่แต่ในองค์กรตนเองทั้งวัน แต่จะต้องเป็นพวกที่เน้นในการสร้างเครือข่ายทางสังคมต่างๆ และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรตนเอง นอกจากนี้ผู้นำประเภทนี้ยังจะต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางความคิด รวมทั้งความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่อย่างพวก Gen Y อีกด้วย 

เรื่องของ Collaborative Leader ยังมีอีกเยอะครับ เอาไว้สัปดาห์หน้าจะมาเล่าต่อครับ แต่ถ้าท่านผู้อ่านท่านไหนที่สนใจในเรื่องกลยุทธ์และต้องการสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ที่สนใจกลยุทธ์ สามารถสมัครเข้าอบรมโครงการ Strategic Management Program รุ่นที่ 2 ของจุฬาฯ ได้นะครับ ถ้าสนใจโทรศัพท์มาสอบถามได้ที่ 02-218-5764 ได้นะครับ