8 May 2011

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าท่านจะวัดความสำเร็จในชีวิตของท่านจากอะไร? เรามีการนำตัวชี้วัดต่างๆ มาใช้ในองค์กร แต่ถ้าผมถามว่าถ้าจะวัดว่าชีวิตของท่านประสบความสำเร็จท่านผู้อ่านจะดูจากอะไรครับ?? เชื่อว่าท่านผู้อ่านแต่ละท่านอาจจะมีคำตอบที่หลากหลายกันไปนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพย์สิน ชื่อเสียง ความสำเร็จในวิชาชีพ ความสุขในครอบครัว ความสำเร็จของลูกหลาน ฯลฯ วันนี้ผมขอพาท่านไปพบกับข้อเขียนของ Clayton M. Christensen ซึ่งเป็นอาจารย์ชื่อดังของ Harvard ที่เป็นคนคิดค้นแนวคิดเรื่องของ Disruptive Innovation ขึ้นมา Clayton เขียนบทความขึ้นมาบทความหนึ่งใน Harvard Business Review เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วในชื่อ How Will You Measure Your Life? ซึ่งเป็นบทความที่ไม่เกี่ยวกับ Disruptive Innovation ซักเท่าไรครับ แต่เป็นเหมือนคำแนะนำที่ Clayton ให้กับลูกศิษย์ MBA ของเขาที่ Harvard ในการใช้ชีวิตต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อจบการศึกษา และที่สำคัญคือบทความนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นบทความที่ดีที่ในในวารสาร HBR ในปี 2010 อีกด้วยครับ

ประเด็นสำคัญของบทความนี้ก็คือผู้ที่ศึกษามาทางด้านการบริหารจัดการนั้น จะเรียนรู้แนวทางและเครื่องมือในการจัดการต่างๆ รวมทั้งแนวทางในการให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการบริหารองค์กรเพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ เราใช้ทฤษฎีทางด้านการจัดการต่างๆ มาใช้ในการอธิบายความสำเร็จขององค์กรธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่ผู้บริหารควรจะต้องทำเพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ คราวนี้ถ้าเรานำแนวคิดและเครื่องมือทางด้านการจัดการเหล่านั้นมาใช้มองที่ตัวเราบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารตนเองก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีครับ

Clayton ตั้งคำถามไว้สามข้อสำหรับลูกศิษย์ของเขาครับ นั้นคือ คำถามแรก จะทราบได้อย่างไรท่านจะมีความสุขในชีวิตการทำงาน คำถามข้อที่สอง คือ จะทราบได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตและครอบครัวจะเป็นแหล่งนำพาสู่ความสุข และข้อสุดท้ายคือ จะทราบได้อย่างไรว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ต้องไปนอนอยู่ในคุก (จะสังเกตนะครับว่าช่วงหลังอาชญกรทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่มีการศึกษาที่ดี แต่กระทำในสิ่งที่ผิด ย้ายบ้านไปนอนอยู่ในคุกกันมากขึ้น) ที่สำคัญก็คือในการตอบคำถามทั้งสามคำถามนั้น Clayton ให้ใช้แนวคิด และทฤษฎีต่างๆ ทางด้านการจัดการเข้ามาช่วยหาคำตอบครับ ซึ่งก็น่าท้าทายดีนะครับ เนื่องจากเราเองใช้แนวคิดในการจัดการต่างๆ มาใช้ในการตอบคำถามหรือปัญหาในการบริหารองค์กร คราวนี้ลองใช้แนวคิดทางการจัดการมาตอบปัญหาในชีวิตบ้างก็เป็นการมองในอีกมุมมองหนึ่งนะครับ

ลองมาดูคำถามแรกเรื่องของความสุขในการทำงานก่อนนะครับ ปัจจุบันท่านผู้อ่านมีความสุขในการทำงานดีไหม? แล้วความสุขในการทำงานของท่านเกิดขึ้นจากสิ่งใด? Clayton แนะนำให้ใช้แนวคิดเรื่องการจูงใจของ Frederick Herzberg ครับ ที่บอกไว้ว่าสิ่งสำคัญที่จูงใจหรือผักดันชีวิตเรานั้นไม่ใช่เรื่องของเงินครับ แต่เป็นเรื่องของโอกาสที่จะได้เรียนรู้ โอกาสที่จะได้เพิ่มหรือขยายความรับผิดชอบ การได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น และการได้รับการยอมรับต่อความสำเร็จ ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นนั้นจะส่งผลต่อสิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า Self-Esteem หรือการเคารพและเชื่อมั่นในตนเองครับ

ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้าวันไหนที่ในที่ทำงานท่านพบว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้รับการยอมรับต่อการบรรลุความสำเร็จอะไรบางอย่าง หรือ การได้มีส่วนร่วมในการทำโครงการหรืองานอะไรบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ วันนั้นท่านจะรู้สึกมีความสุขในการทำงาน มีความเชื่อมั่นในตนเอง และนอกจากความสุขต่อตนเองแล้ว ยังส่งต่อความสุขนั้นผ่านรูปแบบการปฏิบัติต่างๆ กับบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวอีกด้วย

คนที่เป็นผู้บริหาร ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้บุคคลอื่นมีความเชื่อมั่นและเคารพในตนเอง ไม่ว่าการช่วยให้บุคคลรอบข้างได้มีโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต การได้รับผิดชอบในสิ่งที่สำคัญ และยอมรับในความสำเร็จของงานที่ทำ รวมทั้งได้มีส่วนร่วมต่อความสำเร็จของทีม ผู้บริหารไม่ใช่คนที่มีหน้าที่ในการบริหารเงินหรือคอยแต่จะประหยัดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริหารคือผู้ที่มีหน้าที่ในการสร้างความสุขในการทำงานให้กับคนรอบข้างด้วย และความสุขนี้ไม่ได้อยู่ในรูปของสิ่งตอบแทนที่จับต้องได้ เช่น เงินเดือนหรือโบนัส แต่อยู่ในรูปของการจูงใจตามแนวทางข้างต้น

เอาไว้สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับต่อคำตอบสำหรับอีกสองคำถาม พร้อมทั้งมาดูด้วยว่าจะวัดความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร