22 October 2010

สัปดาห์นี้อยากจะนำเสนอนวัตกรรมในการเรียนการสอนทางด้านการจัดการสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนะครับ จากชื่อหัวข้อบทความท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าอะไรคือ Management Theatre เป็นโรงละครทางด้านการจัดการหรืออย่างไร? ก่อนที่จะไปเฉลยว่า Management Theatre คืออะไร ขอเล่าถึงหลักการและที่มาที่ไปก่อนนะครับ

ปัจจุบันแนวโน้มที่สำคัญทางด้านการจัดการคือการที่สังคมมนุษย์เรากำลังก้าวออกจากยุคของข้อมูลข่าวสารหรือที่เราเรียกว่า Information Age สู่ยุคของการสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า Creativity Age (นักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็นยุค Conceptual Age) เนื่องจากในยุค Information นั้น เราจะให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ เป็นสำคัญ แต่พอมาถึงจุดๆ หนึ่งเราเริ่มพบแล้วครับว่า การมีหรือการได้มาซึ่งข้อมูลและความรู้ต่างๆ นั้น ปัจจุบันสามารถที่จะหามาได้อย่างรวดเร็ว ถูก และแถมอาจจะฟรีด้วยซ้ำไป ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูล ความรู้ต่างๆ อย่างรวดเร็วและประหยัดนั้น ก็เกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ดังนั้นการมีข้อมูลและความรู้ จะไม่ได้ทำให้องค์กรหรือบุคคลแต่ละคนมีความโดดเด่นหรือแตกต่างจากผู้อื่น ในยุค Creativity / Conceptual Age นั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมากลับกลายเป็นเรื่องของความสามารถในการคิดสร้างสรรค์มากกว่าแค่ความสามารถในการวิเคราะห์และแสวงหาข้อมูลและความรู้แบบอดีต หรือ ถ้าพูดในอีกนัยหนึ่งก็คือในยุค Information Age นั้นเราจะใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก แต่ในยุคใหม่นั้นต้องเป็นการผสมผสานกันทั้งสมองข้างซ้ายและข้างขวา

ทีนี้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คุณลักษณะที่สำคัญสำหรับการบริหารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันครับ ในยุคของ Creativity / Conceptual นั้น จะให้ความสำคัญกับผู้บริหารที่สามารถคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างเรื่องราว เข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันได้มากขึ้น ซึ่งการจะสอนหรือพัฒนาผู้บริหารให้มีคุณลักษณะใหม่ๆ ที่สำคัญเหล่านี้ รูปแบบและวิธีการเรียนการสอนทางด้านการบริหารก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาไปด้วยครับ Management Theatre จึงได้ถูกพัฒนามาเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมรูปแบบการเรียนการสอน บุคลากรรุ่นใหม่ให้มีคุณลักษณะและทักษะที่เหมาะสมสำหรับโลกยุค Creativity / Conceptual ครับ

ชื่อ Management Theatre อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับหลายๆ ท่านเพราะเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกครับ โดยเจ้า Management Theatre นั้นเป็นสถานที่ที่ผสมผสานกันระหว่าง Black Box Theatre กับ Management Classroom ครับ สำหรับคนในวงการแล้ว Black Box คงจะไม่แปลกหูเท่าไรครับ เนื่องจากเป็นรูปแบบหนึ่งของโรงละคร ที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีดำ ที่ถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่นและสามารถปรับได้ตามความต้องการและจินตนาการของผู้ใช้ สาเหตุที่เป็นสีดำนั้นก็เนื่องจากเป็นสีที่สามารถเข้าได้กับทุกๆ สี ดังนั้น ไม่ว่าจะนำอุปกรณ์ หรือ แต่งตัว หรือ ใช้แสงสีอะไร ก็สามารถเข้าได้กับเจ้ากล่องดำนี้ทั้งสิ้น Black Box นี้สามารถทำเป็นห้องโล่งๆ ทั้งห้องก็ได้ หรือ จะมีเก้าอี้นั่งได้ถึงร้อยกว่าที่ก็สามารถทำได้ และเมื่อผสมผสานกับการเป็นห้องเรียนทางด้านการจัดการ ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ทางด้านการจัดการแล้ว Management Theatre จึงเป็นทั้งโรงละคร ทั้งห้องเรียน ที่สามารถใช้ในการเรียน การสอน การแสดง ต่างๆ ทั้งทางด้านการจัดการและการละคร

อย่างไรก็ดี Management Theatre เป็นเพียงแค่สถานที่หรือ Infrastructure เท่านั้น การจะพัฒนาผู้บริหารยุคใหม่ให้ได้ตามคุณลักษณะที่ต้องการนั้นอยู่ที่รูปแบบและวิธีการเรียนการสอนด้วยครับ ปัจจุบันได้มีการผสมผสานระหว่างการเรียนทางด้านบริหารธุรกิจ กับการเรียนในเรื่องของการแสดงเข้าไว้ด้วยกันแล้วครับ ในอดีตเราอาจจะนึกไม่ออกว่า Acting กับการบริหารองค์กรนั้นแท้ที่จริงแล้วมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่ถ้าจะบอกว่า Acting = Action แล้ว ท่านผู้อ่านก็คงพอเริ่มเห็นภาพความเชื่อมโยงได้มากขึ้น นิสิต MBA ที่เรียนเรื่องของการแสดงเพิ่มเติมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยครับว่าการเรียนเรื่องการแสดงนั้นมีประโยชน์และช่วยเสริมต่อวิชาต่างๆ ที่เรียนในด้าน MBA มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิด จินตนาการ การทำความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครต่างๆ การฝึกให้กล้าแสดงออกและมีสมาธิมากขึ้น การฝึกความเตรียมพร้อมในการแสดงแต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Improvise) ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยต่อการพัฒนาคุณลักษณะสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ในยุค Creativity / Conceptual มากขึ้น

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าแล้วจะหา Management Theatre และการเรียนที่ผสมผสานการแสดงเข้ากับบริหารธุรกิจได้ที่ไหน ก็เลยขออนุญาตประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีของการก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราได้ก่อสร้าง Management Theatre ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อเป็นสถานที่ในการพัฒนานิสิตและบุคคลที่สนใจท่ัวไปในทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต อีกทั้งตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาก็ได้ทดลองผสมผสานการเรียนเรื่องการแสดงเข้ากับการศึกษาในเรื่องบริหารธุรกิจ ซึ่งพบว่านอกเหนือจากคุณประโยชน์ต่างๆ ที่นิสิตได้รับในการพัฒนาตนเองแล้ว ผู้เรียนยังได้ศึกษาเรื่องของผู้นำ การตัดสินใจ การเจรจาต่อรอง ฯลฯ จากบทต่างๆ ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะเรียนรู้จากแค่การบรรยายหรือจากกรณีศึกษา แต่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้สถานการณ์ได้จากการจำลองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

ถือว่านวัตกรรมในการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจที่น่าสนใจนะครับ และน่าจะเป็นตัวจุดประกายให้มีการผสมผสานระหว่างศาสตร์และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาการบริหารองค์กรให้ดีขึ้นได้ต่อไปครับ