
19 November 2010
ตามทฤษฎีทางด้านการตัดสินใจนั้นการมีทางเลือกสำหรับการตัดสินใจเป็นจำนวนมากนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีครับ ตามหลักการและทฤษฎีทางด้านการจัดการนั้น ยิ่งมีทางเลือกมากเท่าไร ก็จะทำให้การตัดสินใจดีขึ้นเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นการมีทางเลือกสำหรับสิ่งต่างๆ มาก อาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้นและมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นแต่ประการใด สังเกตได้ง่ายๆ จากชีวิตประจำวันของพวกเราซิครับ ปัจจุบันชีวิตเรานั้นมีทางเลือกในด้านต่างๆ มากมายเต็มไปหมด นับตั้งแต่ตื่นเช้าเปิดโทรทัศน์ขึ้นมาก็มีช่องทีวีต่างๆ ให้ดูมากมายเต็มไปหมด ในอดีตเรามีช่องหลักๆ ให้ดูเพียงไม่กี่ช่องชีวิตก็ดูมีความสุขดี แต่ปัจจุบันพอเรามีทีวีให้ดูเป็นสิบๆ หรือเผลอๆ ถึงร้อยช่อง ความสุขของเราอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นนะครับ ท่านผู้อ่านเคยกดรีโมตเปิดดูทีวีแต่ละช่องไปเรื่อยๆ จนครบเท่าที่มี แล้วสุดท้ายก็บอกตัวเองว่าไม่รู้จะดูอะไร แล้วก็ปิดโทรทัศน์บ้างไหมครับ ถ้าเคยก็เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการมีตัวเลือกที่มากนั้น ไม่ได้ดีเสมอไปครับ
มีหนังสือชื่อ Paradox of Choice ที่เขียนโดย Barry Schwartz ที่ออกมาหลายปีแล้ว ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าการที่มนุษย์เรามีทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบันไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยขึ้นหรือมีความสุขเพิ่มขึ้น แถมยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่าการมีทางเลือกมากขึ้นนั้นกลับทำให้คนเรามีความสุขน้อยลง มีความหดหู่ในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ผมเองก็มีคนรู้จักที่บ่นว่าตนเองกำลังเข้าสู่ Mid-Life Crisis แต่พอถามไปถามมากลับพบว่าปัญหาท่ี่เกิดขึ้นนั้น มาจากการมีทางเลือกในชีวิตมากมายเกินไป ตัวเองรู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องทำหลายประการ และไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะทำหรือจะเป็นอะไร เนื่องจากเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง แสดงให้เห็นว่าการมีทางเลือกที่มากนั้นอาจจะทำให้ชีวิตหดหู่ได้นะครับ
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของทางเลือกในชีวิตที่ต้องทำหรือต้องมีนะครับ ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ตัวแล้วจะพบว่าในทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างรอบตัวเรานั้นมีทางเลือกต่างๆ มากมายเต็มไปหมด เพียงแค่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าจะซื้อหมากฝรั่งมาเคี้ยวหรือซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้ หมากฝรั่งแต่ละแบบ โทรศัพท์มือถือแต่ละชนิดก็ต่างมีให้เราทางเลือกให้เรามากมาย บริษัทต่างๆ ก็ชอบที่จะคิดว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคต้องการทางเลือกเยอะๆ ดังนั้นก็พยายามที่จะออกสินค้าหรือบริการมาหลากหลายรุ่น หลายแบบ หลายสีให้เลือก สุดท้ายผู้ซื้อก็เกิดความสับสน ท่านผู้อ่านลองสังเกตโทรศัพท์มือถือที่ชอบออกรุ่นมาให้เลือกเยอะๆ อย่างเช่น Nokia หรือ HTC เปรียบเทียบกับอีกยี่ห้อที่มีรุ่นให้เลือกน้อยอย่างเช่น iPhone ดูก็ได้ครับ ส่วนผลออกมาเป็นอย่างไรนั้นก็คงไม่ต้องบอกนะครับ
อย่างไรก็ดีการมีตัวเลือกที่มากนั้นส่งผลต่อแต่ละบุคคลต่างกันครับ ในหนังสือ Paradox of Choice นั้นเขาได้มีการทำการทดลองวิจัยและพบว่าคนจะมีสองลักษณะใหญ่ๆ ครับ คนประเภทแรกคือพวกที่เรียกว่า Maximizers ซึ่งเป็นพวกที่ตั้งเป้าหรือมุ่งหวังต่อทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบหรือเป็นเลิศ พวกนี้จะเป็นพวกที่เราเรียกว่า Perfectionist ครับ ส่วนคนอีกประเภทหนึ่งนั้นเรียกว่า Satisficers ครับ ซึ่งคนพวกนี้จะมีความพอใจต่อสิ่งที่ “ดีเพียงพอ” ครับ นั้นคือไม่จำเป็นต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่การได้รับสิ่งที่ “ดีเพียงพอ” ก็พอใจแล้ว คราวนี้เมื่อเราแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าคนในกลุ่มไหนที่เมื่อมีทางเลือกเยอะแล้วจะมีความสุขหรือความทุกข์มากกว่ากัน??
จากผลการทดลองพบว่าคนที่ยิ่งมีความเป็น Maximizers มากเท่าใด จะยิ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างสินค้าแต่ละทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น การเปรียบเทียบนั้นก็เกิดทั้งก่อนและหลังการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งยังจะมีการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่่ตนเองซื้อกับสิ่งที่ผู้อื่นซื้ออีกด้วย ทำให้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นนานกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง สำหรับพวก Satisficers นั้น เมื่อเจอสินค้าหรือบริการที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตนเองตั้งไว้ ก็จะพอใจและหยุดการแสวงหาสินค้าอื่นๆ เพื่อมาเปียบเทียบ พวกที่เป็น Maximizers นั้นจะพยายามที่จะศึกษารายละเอียดและเปรียบเทียบทุกตัวเลือกที่มีอยู่ ทำให้พวก Maximizers นั้น เมื่อต้องประสบกับการตัดสินใจที่มีทางเลือกที่มาก ก็จะยิ่งอยากจะเปรียบเทียบระหว่างทางเลือกแต่ละทางเลือกให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ทำให้การตัดสินใจของพวก Maximizers เป็นไปด้วยความลำบาก สุดท้ายแล้วถึงแม้พวก Maximizers จะเลือกทางเลือกที่ดีกว่าพวก Saticficers แต่เมื่อสำรวจถึงความพอใจแล้วจะพบว่าพวก Saticficers จะมีความพอใจต่อสิ่งท่ีตนเลือกมากกว่าพวก Maximizers
ท่านผู้อ่านจะเห็นเลยนะครับว่าการมีทางเลือกที่มากนั้น กลับไม่ได้เป็นข้อดี โดยเฉพาะพวกที่มุ่งหวังความสมบูรณ์หรือพวก Maximizers ทำให้พวกที่มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ (Perfectionist) จะมีไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมีทางเลือกเยอะๆ ดังนั้นท่านผู้อ่านก็ต้องลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่าท่านเป็นคนประเภท Maximizers หรือ Saticficers ถ้าเป็นพวกที่แสวงหาความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ท่านก็ต้องระวังไว้นะครับว่าเมื่อเจอทางเลือกเยอะๆ ชีวิตก็จะไม่สุขเท่าไร
ในเชิงกลยุทธ์แล้วแทนที่องค์กรจะเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าจนมากและสับสน อาจจะย้อนจากความสับสน ความมากมาย กลับสู่สามัญนะครับ ผมเลยขอถือโอกาสนำเสนอทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับท่านผู้บริหารที่สนใจในด้านกลยุทธ์นะครับ ทางผมได้พัฒนาหลักสูตร Strategy Management Program สำหรับผู้บริหารที่สนใจในเรื่องของการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจร รวมทั้งแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านกลยุทธ์ โดยเป็นหลักสูตร 60 ชั่วโมง จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจลองโทร.มาสอบถามได้ที่ 02-218-5764 ครับ