28 March 2010

คำๆ หนึ่งที่ในช่วงหลังผมรู้สึกว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจ หรือ สถานการณ์ทางการเมือง คือคำว่า “ความแตกต่าง” ครับ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดีนั้นจะมีเจ้าตัวคำว่า “ความแตกต่าง” เป็นต้นเหตุหรือสาเหตุหลักทั้งนั้น ผมเองเคยได้ยินประโยคๆ หนึ่งของฝรั่งที่เขาบอกว่า ‘What is difference is dangerous’ ที่เขาระบุว่าโดยธรรมชาติแล้วสมองของคนเราจะรับรู้ (แบบทันทีโดยไม่ต้องคิด) ว่าอะไรก็แล้วแต่ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย ดังนั้นพอเราได้ยินหรือมองเห็นความแตกต่างแล้ว เราก็จะรับรู้โดยอัตโนมัติว่าความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งอันตราย และพอเราเห็นว่าความแตกต่างเป็นสิ่งอันตราย มนุษย์ก็จะมีความพยายามในการลดความแตกต่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าการพยายามหันหน้าเข้าหากันเพื่อลดความแตกต่าง หรือ อาจจะปรับสภาวะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้กันเพื่อลดความแตกต่างที่เกิดขึ้น

            สถานการณ์ความไม่สงบในการเมืองในปัจจุบันก็เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางความคิด ทางอุดมการณ์ทางการเมือง หรือที่หลายๆ คนพยายามโยงเข้าไปก็คือความแตกต่างทางชนชั้น นอกจากความแตกต่างทางความคิดที่นำไปสู่ความไม่สงบในระดับชาติแล้ว แม้กระทั่งเมื่อกลับมามองในครอบครัว จะสังเกตว่าข้ออ้างที่ถูกใช้กันมากที่สุดข้ออ้างหนึ่งเมื่อคู่สมรสเลิกราจากกันก็มาจากคำว่าความแตกต่างทางความคิด ทางพฤติกรรม หรือ การเลี้ยงดูที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลสองคน

            ในขณะเดียวกันหลายครั้งที่ความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเราก็มาจากการรับรู้ถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นในใจเราเช่นเดียวกัน มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการมีหรือไม่มีเงินนั้น ไม่ได้นำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์หรอกครับ แต่เรื่องของเงินนั้นจะนำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ก็ต่อเมื่อมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น และพบเห็นถึงความแตกต่างเกิดขึ้น ถ้าเราพบว่าผู้อื่นได้รับเงินเพิ่มขึ้น โดยที่เราได้รับเท่าเดิม ความทุกข์เราก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราได้รับเงินเพิ่มขึ้น โดยผู้อื่นยังได้รับเงินเท่าเดิมนั้น ก็จะทำให้ความสุขของเราเพิ่มขึ้นครับ แสดงว่าความแตกต่างระหว่างเงินที่เราได้รับระหว่างเรากับผู้อื่นนั้นเป็นบ่อเกิดที่นำไปสู่ทั้งความสุขและความทุกข์ครับ

            ดูๆ ก็เหมือนว่าเรื่องของความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีและควรจะหลีกเลี่ยง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งนั้น ดูเหมือนว่าความแตกต่างจะเป็นสิ่งที่ปรารถนาและเป็นที่แสวงหาขององค์กรธุรกิจต่างๆ ในด้านการบริหารองค์กรธุรกิจนั้น ในเชิงกลยุทธ์นั้นกลยุทธ์สำคัญที่ทุกองค์กรพยายามสร้างและแสวงหาก็คือกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างหรือ Differentiate นั้นเอง แม้กระทั่งมีหนังสือทางด้านกลยุทธ์ของต่างประเทศที่ออก มาในชื่อว่า Differentiate or Die หรือ ถ้าไม่แตกต่างก็ “ตาย” และตามทฤษฎีแล้ว การสร้างความแตกต่างในเชิงกลยุทธ์นั้นจะต้องทำให้เกิดความแตกต่างทั้งในเชิงคุณค่าจริงๆ ที่ได้รับ และการส่งสัญญาณให้ลูกค้าได้รับทราบถึงความแตกต่าง

            นอกจากในเชิงกลยุทธ์แล้ว ความแตกต่างก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นมาจากมีความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ ดังนั้นถ้าสิ่งต่างๆ แตกต่างหรือไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ก็ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้ายอดขายของบริษัทแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้ องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ก็จะมีมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน หรือ ถ้าผลงานของผู้บริหารแตกต่างจากที่คาดการณ์หรือสัญญาไว้ ผู้บริหารท่านนั้นก็มักจะถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่

            ข้อดีอีกประการหนึ่งคือในกลุ่มบุคคลหรือผู้บริหารที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้น ความแตกต่างในวิธีการคิดและมุมมองถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญครับ ถ้าในกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันนั้นถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมด ความคิดที่ได้ก็จะไปในแนวทางเดียวกันหมด แต่ถ้ามีความแตกต่างในความคิดระหว่างบุคคลในกลุ่มนั้น ความคิดหรือผลผลิตที่ได้ก็กลุ่มก็จะมีความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น บางคนถึงขั้นที่เรียกว่าความแตกต่างทางความคิดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในองค์กรกันเลยทีเดียว

            สรุปก็คือเรื่องของความแตกต่างนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ความแตกต่างที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์หรือนำไปสู่โทษ และในปัจจุบันสังเกตว่าความแตกต่างในเรื่องต่างๆ นั้นจะทวีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่ทำให้ทุกคนเริ่มมีความคิด ความแตกต่างของตนเองมากขึ้น

            สำหรับผู้บริหาร การที่จะบริหารให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ของความแตกต่างนั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความท้าทายใหม่ ในอนาคตอาจจะมีหนังสือหรือวิชาที่ว่าด้วยการบริหารภายใต้ความแตกต่างเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันที่ผมพอจะนึกออกก็คือการบริหารภายใต้ความแตกต่างนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจถึงความต้องการหรือสาเหตุที่นำไปสู่ความแตกต่างนั้นก่อนครับ ถ้าเราไม่เข้าใจถึงสาเหตุของความแตกต่าง (ถึงแม้อาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้เข้าใจครับ) เราก็จะไม่สามารถบริหารให้ประสบความสำเร็จภายใต้สถานการณ์ความแตกต่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ครับ