4 October 2009

ท่านผู้อ่านเคยแอบหลับหรือนอนกลางวันระหว่างการทำงานบ้างไหมครับ? ไม่ว่าจะเป็นการหลับที่โต๊ะทำงาน แอบไปหลับในรถ หลับในขณะที่กำลังนั่งฟังการบรรยายหรือสัมมนา หรือ แม้กระทั่งหลับในห้องประชุม การหลับในเวลางานส่วนใหญ่นั้นเรามักจะใช้คำว่าแอบหลับ แสดงว่าเราไม่ต้องการให้ผู้อื่นทราบว่าเราหลับอยู่ โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้านาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของเราในสายตาของผู้พบเห็นแต่ทำไมหลายครั้งที่เราไม่สามารถทนความเย้ายวนใจของการหลับไปได้ แถมบางครั้งเมื่อเราตื่นขึ้นมาจากการแอบหลับในเวลางานนั้น เรากลับรู้สึกแจ่มใสหรือสดชื่นเหมือนได้ชาร์ตแบตเตอรี่มาเต็มที่เลย?

            การนอนไม่ว่าจะเป็นช่วงใดนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองของเรานะครับ ทุกท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าการนอนนั้นทำให้ร่างกายได้พักผ่อน แต่นอกเหนือจากร่างกายแล้ว สมองของเรายังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากการนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้น พลังของสมองจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรและประเทศชาติ

            มีรายงานจาก National Academy of Sciences ที่แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับ (แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่นการแอบหลับตอนกลางวัน) และเป็นการหลับแบบที่เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) หรือที่เรามีความฝันไปด้วยนั้น จะช่วยทำให้เราสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เราได้รับรู้มาเข้าไว้ด้วยกัน และทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการนอนจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการที่เราได้นอนหลับนั้น จะช่วยเพิ่มความทรงจำของเรา ท่านผู้อ่านอาจจะทดลองง่ายๆ ดูก็ได้ครับ นั้นคือลองจดจำคำต่างๆ ไว้หลายๆ คำ และหลังจากนั้นให้หลับพักผ่อน แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าท่านจะจดจำคำเหล่านั้นได้ดีกว่าถ้าท่านไม่หลับ

            นอกจากนี้ในขณะที่เราหลับ สมองเราจะทำงาน โดยไปจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในใจหรือยังแก้ไม่สำเร็จ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูก็ได้ครับ ว่าหลายครั้งเมื่อเราตื่นขึ้นมานั้น ปัญหาคาใจต่างๆ ที่มีอยู่อาจจะคิดออกหรือหาทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น จากการที่เราได้นอนหลับ อีกทั้งการนอนหลับทำให้สมองเราสามารถเชื่อมโยงในสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนมีความแตกต่างกันเข้าไว้ด้วยกันได้ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของการคิดอย่างสร้างสรรค์ ท่านผู้อ่านลองหากระดาษกับปากกามาวางไว้ที่หัวเตียงท่านดูซิครับ หลายครั้งตอนที่เราตื่นมาในตอนเช้านั้น เราอาจจะคิดอะไรบางอย่างที่คั่งค้างใจออกได้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีสติที่จะคิดถึงเลย

            เป็นไปได้ไหมครับว่าถ้าท่านทำงานหนักมาทั้งวัน มีเรื่องที่ต้องให้คิดทั้งวัน สิ่งที่ท่านควรจะทำเมื่อกลับถึงที่พักนั้น แทนที่จะไปคิดเรื่องงาน แต่ควรจะรีบนอนหลับ โดยมีปากกาและกระดาษวางอยู่ใกล้ๆ และเมื่อท่านตื่นมาแล้ว ความวุ่นวายต่างๆ ที่ท่านได้พบเจอเมื่อวันก่อนนั้น จะถูกจัดระเบียบความคิด และสามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้จากการที่ท่านได้นอนหลับไป

            เมื่อท่านรู้สึกง่วงนอน ก็พยายามหาทางนอนซะนะครับ เพราะในขณะนั้นความสามารถต่างๆ ของท่านได้ลดน้อยลงไป อาทิเช่น ความสามารถในการแยกแยะในสิ่งที่มองเห็น (สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน) และการได้หลับแม้เพียงสั้นๆ จะช่วยทำให้ทักษะและความสามารถต่างๆ เหล่านั้นกลับพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

            ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าการแอบหลับตอนกลางวันในที่ทำงานนั้น ท่านผู้อ่านไม่ได้มีเวลาเป็นชั่วโมงๆ เหมือนการนอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืน แล้วประโยชน์ที่สมองจะได้รับจากการแอบหลับตอนกลางวันนั้น จะเทียบเท่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากการนอนหลับจริงๆ ตอนกลางคืนหรือ? จริงๆ แล้วพวกที่เขาทดลองกันมานั้นเขาพบว่าแม้กระทั่งการหลับสั้นๆ เพียงแค่หกนาทีที่เรียกว่า micronaps นั้นก็ก่อให้เกิดความแตกต่างครับ (แต่หกนาทีนั้นยังไม่รวมเวลาอีกราวห้านาทีในกรณีที่เราง่วงจริงๆ ที่เราต้องใช้จนกว่าหลับ)

            นอกจากนี้ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าส่วนใหญ่เราจะมีเวลาที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะง่วงช่วงไหนของวัน หลายๆ คนจะเป็นช่วงบ่ายสามโมง (ผมมีลูกศิษย์อยู่สองคน ที่พอบ่ายสองปุ๊บจะหลับในห้องเรียนทันที ทำให้ทราบเวลาโดยไม่ต้องดูนาฬิกาเลย) ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวเราไม่ควรที่จะนัดประชุมหรือนัดหมายในเรื่องที่สำคัญนะครับ

            คำถามสำคัญก็คือองค์กรควรจะรับมืออย่างไรกับการนอนหลับเวลางานของบุคลากร บางบริษัทนั้นจะห้องหรือสถานที่ให้พนักงานได้เข้ามาแอบงีบเลยครับ โดยเป็นสถานที่ๆ เงียบและไม่มีแสงสว่างรบกวน แต่ท่านผู้อ่านอาจจะไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้นะครับ เพียงแค่ประกาศไปว่าการนอนหลับเวลางานนั้น ไม่ถือเป็นการผิดระเบียบบริษัท และลองสังเกตดูนะครับว่าความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพของบุคลากรจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เป็นงานสัมมนาของภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ โดยจะจัดในวันที่ 21-22 ตุลาคมนี้ครับ  ในชื่อ “ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ ครั้งที่ 2” ซึ่งจะเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการบริหาร สนใจก็โทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณผ่องศรี 02-218-5764 ครับ