
16 August 2009
ตามที่ได้เคยแจ้งผ่านทางบทความนี้ไปหลายครั้งเรื่องการมาเยือนไทยของ Patrick Georges หมอผ่าตัดสมองผู้คิดค้น Management Cockpit และงานสัมมนาเกี่ยวกับในเรื่องนี้ที่ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดขึ้น พอจบงานแล้วผมก็เลยขอสรุปเนื้อหาหลักๆ ที่คุณหมอท่านนี้ได้นำเสนอในงานสัมมนาสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ครับ และนอกจากนี้ Prof. Georges ยังได้พูดให้กับบรรดาคณาจารย์ของคณะเกี่ยวกับงานวิจัยด้านจินตทัศน์ (Visualization) และพูดให้กับนิสิตของคณะฟังในเรื่องของ Management Cockpit ด้วย ดังนั้นผมเลยขอสรุปสาระสำคัญที่คุณหมอท่านนี้พูดจากงานทั้งสามแห่งมาไว้ในบทความนี้เลยแล้วกันนะครับ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Prof. Georges ได้ให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับ Cockpit ไว้ครับ เนื่องจากในอดีตเวลาเรานึกถึง cockpit นั้นหลายๆ ท่านก็มักจะนึกถึงการเป็นห้องหรือระบบที่ใช้ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ขององค์กร โดยในห้องนั้นจะประกอบด้วยตัวชี้วัดต่างๆ มากมายเต็มไปหมด แต่จริงๆ แล้วผู้บริหารยังสามารถที่จะใช้ Cockpit นั้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในสิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่จะมุ่งเน้นไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองได้ โดยท่านผู้อ่านเองก็สามารถทำการทดลองได้ง่ายๆ ครับ นั้นคือ ให้เริ่มจากการแอบเขียนตัวชี้วัดที่ท่านคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับบริษัทท่านไว้หกตัว โดยเรียงลำดับจากความสำคัญมากที่สุดไปน้อยที่สุด จากนั้นให้ลูกทีมของท่านมาช่วยกันทายหรือเดาว่าอะไรคือตัวชี้วัดที่ท่านแอบเขียนไว้หกตัว (ต้องทายให้ถูกว่ามีตัวไหนและอยู่ลำดับไหนด้วย – คล้ายๆ เกม Mastermind เลยนะครับ)
จากตรงนี้ถ้าลูกทีมของท่านทายไม่ถูกเลยหรือไม่ใกล้เคียงเลยก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้แล้วครับว่าสิ่งที่ท่านมมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกับลูกทีมท่านมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญนั้นมีความแตกต่างกัน ท่านก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการปรับความคิดให้ตรงและสอดคล้องกันให้มากขึ้น
นอกจากนั้นในเรื่องของตัวชี้วัดที่ผู้บริหารควรจะดูนั้น สิ่งที่ Prof. Georges เสนอไว้ก็น่าสนใจครับ คือแทนที่องค์กรต่างๆ จะเลือกว่าจะติดตามหรือจะดูตัวชี้วัดใดบ้าง เขาระบุมาเลยครับว่าผู้บริหารควรจะดูและติดตามในตัวชี้วัดใดบ้าง โดยเขาได้เสนอตัวชี้วัดขึ้นมาหกตัวสำหรับการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารระดับสูงครับ และในทั้งหกตัวนั้นแต่ละองค์กรก็สามารถที่จะเลือกปรับรายละเอียดให้เข้ากับลักษณะของแต่ละองค์กรได้ โดยตัวชี้วัดที่เสนอมาทั้งหกตัวประกอบด้วย TFC (Time Facing Customer) SFN (Sales From New) RCR (Return on Critical Resources) KPS (Key Project Status) GFP (Grain from Processing) และ PRL (People Responsibility Level)
นอกจากนี้พัฒนาการใหม่ที่สำคัญของ Cockpit ก็คือแทนที่จะเป็น Cockpit ในลักษณะของ War-Room แบบที่หลายๆ ท่านคุ้นเคย Cockpit ในรูปแบบใหม่อาจจะอยู่บนฝาผนังของทางเดินในบริษัทก็ได้ หรือ อยู่ในรูปของเว็บ หรือ ในรูปของวารสาร ก็ได้ เนื่องจากหลังจากที่เขาได้พัฒนา Management Cockpit ในรูปแบบของ War-Room มาเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านไป แต่เมื่อองค์กรต่างๆ นำมาใช้ก็พบว่ามีพัฒนาการออกไป แทนที่จะเป็นลักษณะของห้องประชุมที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่างๆ มากมาย ก็สามารถใช้เป็นกลไกสำหรับการสื่อสารในสิ่งที่สำคัญให้กับผู้บริหารและพนักงานในระดับต่างๆ ได้ทราบ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้บุคลากรของบริษัทได้ตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญและปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้บริหารมุ่งหวังหรือมุ่งเน้น
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ Prof. Georges ได้ย้ำในการพูดหลายๆ ครั้งก็คือในเมื่อเราสามารถสร้าง Cockpit สร้างตัวชี้วัดให้กับองค์กรของเราได้ ทำไมเราถึงจะไม่สร้าง Cockpit ให้กับตนเองบ้าง และทำตัวเป็นนักบินที่จะใช้ Personal Cockpit ของตนเองให้เป็นประโยชน์สูงสุด แต่ละคนสามารถที่จะสร้าง Cockpit ส่วนบุคคลได้จากเริ่มต้นที่ภารกิจและกลยุทธ์ของแต่ละคนก่อน และเวลานึกถึงภารกิจนั้นเขาก็ให้นึกง่ายๆ ครับว่าอยากจะให้เขาเขียนอะไรไว้บนป้ายหน้าหลุมฝังศพของเรา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้อาจจะเป็นแบบฝรั่งมากไปหน่อยนะครับ เนื่องจากคนไทยนั้นจะเผามากกว่าฝัง แต่ก็พอจะใช้เปรียบเปรยหรือทำความเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ
เมื่อกำหนดกลยุทธ์ได้แล้วก็สร้างตัวชี้วัดครับ โดยควรจะมีทั้งตัวชี้วัดที่แสดงถึงความสำเร็จหรือความก้าวหน้าในวิชาชีพหรือในด้านการงาน และตัวชี้วัดในชีวิตส่วนตัวครับ และเมื่อกำหนดตัวชี้วัดเหล่านั้นเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมนำตัวชี้วัดเหล่านั้นไปแสดงไว้ในที่ๆ สามารถเห็นได้เป็นประจำเพื่อที่จะได้ไม่ลืม และคอยติดตามความคืบหน้าของตัวชี้วัดเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอนะครับ
ก็ขอสรุปประเด็นสำคัญบางประเด็นจากงานสัมมนาเรื่อง Management Cockpit 2010 มาให้ท่านผู้อ่านนะครับ สุดท้ายแล้วประเด็นสำคัญคือการนำมาใช้และปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละองค์กรแต่ละคนมากกว่าครับ คุณหมอเองเขาก็ปิดท้ายว่าที่พูดมาทั้งหมดนั้นอย่าไปเชื่อมากนัก ให้ลืมทุกอย่างให้หมด และทำตามที่ใจต้องการมากกว่า ซึ่งเหมือนกับสำนวนกำลังภายในเลยนะครับที่บอกว่าเมื่อฝึกกระบี่ถึงขั้นสูงสุดให้ลืมที่ฝึกมาทั้งหมดและทำตามสัญชาตญาณ ณ