
7 September 2009
ท่านผู้อ่านคุ้นเคยกับกลยุทธ์หรือน่านน้ำสีต่างๆ กันมาพอสมควรแล้วนะครับไม่ว่าจะเป็น Blue Ocean, Red Ocean หรือ White Ocean วันนี้ผมจะมาแนะนำอีกสีหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพื่อต้องการแข่งกับสีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วหรอกนะครับ เพียงแต่เราใช้สีเป็นเพียงแค่การอุปมาอุปไมยเท่านั้นเอง โดยสัปดาห์นี้จะพูดถึงสีเทากันบ้างครับ หรือ Grey Ocean เพียงแต่น่านน้ำสีเทาที่ผมจะนำเสนอนั้นไม่ใช่เป็นข้อเสนอแนะให้ใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีเทาหรือ Grey Ocean Strategy นะครับ แต่เป็นในทางตรงกันข้าม นั้นคือจากสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านต้องพยายามอย่าใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีเทา หรือ อย่าพยายามอยู่ใน Grey Ocean นะครับ เพราะถึงแม้ท่านจะอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ท่านแตกต่างหรือโดดเด่นจากรายอื่นๆ
สีเทาที่ผมกำลังนำเสนอนั้นเป็นเพียงแค่เปรียบเทียบว่าเวลาท่านผู้อ่านวางหรือกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทท่านนั้น จากสถานการณ์ในปัจจุบันถ้าไม่ใช่ตลาดใหม่ที่สร้างขึ้นมาใหม่สดๆ ซิงๆ จริงๆ ท่านไม่ควรจะวางตำแหน่งหรือกำหนดตำแหน่งของตนเองให้อยู่ตรงกลางครับ ซึ่งการอยู่ตรงกลางของตลาดก็เปรียบเสมือนสีเทาครับ นั้นคือทั้งไม่ขาวหรือไม่ดำไปเลย แต่เป็นกลางๆ เป็นการผสมผสานระหว่างขาวกับดำ จริงอยู่นะครับที่หลักศาสนาพุทธสอนให้เราเดินทางสายกลาง แต่พอถึงเรื่องของกลยุทธ์แล้ว การเดินสายกลางอาจจะใช้ได้หรือเหมาะกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงมากนัก ทำให้ยังมีโอกาสสำหรับผู้ที่วางตำแหน่งตนเองให้อยู่ตรงกลาง แต่สำหรับอุตสาหกรรมที่การแข่งขันเริ่มรุนแรงมากขึ้น การวางตำแหน่งตนเองให้อยู่ตรงกลางนั้น กลับไม่ทำให้องค์กรโดดเด่นหรือแตกต่างจากผู้อื่นเลย
ข้อแนะนำที่มีก็คือจงอย่าอยู่ตรงที่เป็นสีเทานะครับ แต่พยายามสร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นด้วยสีอีกสองข้างนั้นคือสีขาวหรือสีดำ หรือ อีกนัยหนึ่งคือการใช้กลยุทธ์หรู (Luxury Strategy) หรือ กลยุทธ์ Discount Strategy หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ จริงๆ ทั้ง Luxury และ Discount Strategy เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่นะครับ เพียงแต่เมื่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจต่างๆ เริ่มรุนแรงมากขึ้น กลยุทธ์ทั้งสองประการก็โดดเด่นขึ้นมามากขึ้น และกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางกลยุทธ์ใหม่ๆ ขึ้นมา
มาดูที่กลยุทธ์แบบหรูหรือ Luxury Strategy กันก่อนนะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นในปัจจุบัน เหมาะหรือไม่ที่จะใช้กลยุทธ์แบบหรู? จริงๆ ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าพวกคนรวยหรือคนที่มีเงินมากๆ นั้นก็ยังคงมีอยู่และดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติทั่วโลกพบเลยนะครับว่าพวกที่รวยมากหรือที่เรียกกันว่า High Net Worth Individual ซึ่งเป็นพวกที่มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐมีเพิ่มขึ้น 8.3% จากอดีตที่ผ่านมา และพวกที่รวยมากๆๆๆ หรือ Ultra High Net Worth ซึ่งมีสินทรัพย์รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 11.3% และที่น่าสนใจคือการเพิ่มขึ้นพวกรวยมากกับรวยมากๆๆๆ นั้น กลับอยู่ในประเทศอย่างจีน บราซิล รัสเซียเป็นหลักครับ
เมื่อควรมีเงินมากขึ้น ก็ย่อมมีความต้องการในสิ่งที่หรูหราขึ้น เพียงแต่คำว่าหรูหรานั้นก็อาจจะขึ้นอยู่หรือแตกต่างไปตามคำนิยามของแต่ละคนนะครับ สำหรับบางคนคำว่าหรูหรานั้นอยู่ที่สิ่งที่จับต้องได้ภายนอก บางคนหรูนั้นกลับอยู่ภายในใจ บางคนหรูแปลว่าหายากหรือมีน้อย ฯลฯ แต่แนวโน้มหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือระดับของความหรูสำหรับผลิตภัณฑ์บางตัวนั้นดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น เหมือนกับว่าสำหรับคนมีเงินทั้งหลาย เมื่อของที่เคยหรูนั้นกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มมีกัน เริ่มหาซื้อได้ เริ่มเป็นที่รู้จักหรือใช้กันมากขึ้น ถ้าใครสามารถนำเสนอสิ่งที่หรูกว่าให้ได้ก็พร้อมจะกระโดดเข้าหาสิ่งที่หรูกว่า สังเกตได้ง่ายๆ จากบัตรเครดิตครับ ในอดีตกาลนั้นการมีบัตรเครดิตซักใบก็ถือว่าโก้แล้ว และพอประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้วการมีบัตรทองยิ่งโก้ใหญ่เลย แต่พอบัตรทองเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายก็เริ่มมี Platinum ออกมา จนในปัจจุบันบัตรแบบ Platinum ดูกลายเป็นสิ่งปกติไปเสียแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็เริ่มปรากฎการณ์มากกว่า Platinum หรือ Beyond Platinum ของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ต้องเฝ้าสังเกตต่อนะครับว่าเจ้าอื่นๆ จะออกมาหรูยิ่งกว่าด้วยวิธีการอย่างไร
ประเด็นที่อยากจะฝากไว้สำหรับ Luxury Strategy ก็คือคำว่าหรูนั้น บางครั้งอยู่ที่ธุรกิจที่จะกำหนดขึ้นมาเองนะครับ แทนที่เราจะรอให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคมาบอกว่า “หรู” นั้นหมายความว่าอย่างไร ลองกำหนดนิยามของความหรูขึ้นมาเองดูครับ อาจจะสามารถสร้างสรรค์ความต้องการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากครับ
ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ในวันที่ 21-22 ตุลาคมนี้ ทางภาควิชาจะจัดสัมมนา “ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ ครั้งที่ 2” ซึ่งจะเป็นการบรรยายให้ความรู้ในนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการบริหารจากคณาจารย์ของภาควิชาครับ เช่น เรื่อง รู้จักและเข้าใจ Gen Y อีกนิด หรือ Leadership Brand หรือ การจัดความรู้เพื่อมุ่งสู่นวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งผมเองก็จะบรรยายในหัวข้อนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็โทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณผ่องศรี 02-218-5764 ครับ