
2 July 2009
เท่าที่ย้อนดูบทความเก่าๆ ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของ Management Cockpit ครั้งสุดท้าย ผ่านทางคอลัมภ์นี้ประมาณปี 2545 ซึ่งก็นานพอสมควร สัปดาห์นี้เลยอยากจะขอนำเรื่อง Management Cockpit กลับขึ้นมาคุยอีกครั้ง พร้อมทั้งพัฒนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับ Management Cockpit ซึ่งในเมืองไทยเราก็ถือว่ารู้จักเจ้าห้องนี้มาได้ประมาณสิบปีพอดี
ห้อง Management Cockpit หรือที่เราตั้งชื่อภาษาไทยว่าห้องปฏิบัติการทางการจัดการ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากหมอผ่าตัดสมองชาวเบลเยียมที่ชื่อ Patrick Georges ซึ่งนอกเหนือจาก จะเป็นหมอผ่าตัดสมองแล้ว ยังสอนอยู่ที่หลักสูตร MBA ของ University of Brussels อีกด้วย ซึ่งก็เลยทำให้เกิดการบูรณาการกันของการนำหลักในการทำงานของสมองมาใช้กับการบริหารองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการตัดสินใจและตัวชี้วัด ซึ่งก็กลายมาเป็นแนวคิดเรื่องของห้อง Management Cockpit ในปัจจุบัน
ประมาณสิบปีที่แล้ว ผมได้รู้จักกับแนวคิดของ Management Cockpit จากอาจารย์ท่านหนึ่ง ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเข้าร่วมประชุมวิชาการที่ Patrick Georges ไปพูด เรื่องของ Management Cockpit จากนั้นทางคณะก็เลยสนใจและอยากจะนำแนวคิดดังกล่าวมาเผย แพร่เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งในช่วงนั้นก็พบว่า UBC หรือ TrueVision ในปัจจุบันก็ได้สร้างและใช้ห้องนี้ในการบริหารงานภายในอยู่แล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางด้านการบริหารจัดการของเมืองไทย ประกอบกับในขณะนั้น แนวคิดเรื่องของตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) รวมทั้งเรื่องของ Balanced Scorecard (BSC) เริ่มเป็นที่ใช้ กันในประเทศไทยมากขึ้น ทางคณะก็เลยส่งคณาจารย์ของคณะจำนวนหนึ่งไปเรียนเกี่ยวกับเรื่อง ของ Management Cockpit โดยตรงกับ Patrick Georges เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
ในปี 2000 ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ได้สร้างห้อง Management Cockpit ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ที่นำเรื่อง Management Cockpit มาใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีผู้บริหารองค์กรทั้ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่เข้ามาศึกษาดูงานที่คณะเป็นจำนวนมาก และได้นำกลับไป ปรับใช้หรือสร้างห้องในลักษณะเดียวกันที่องค์กรของตนเอง จนในปัจจุบันองค์กรชั้นนำของไทย จำนวนมากที่ได้มีห้องในลักษณะนี้ เพียงแต่ก็อาจจะมีการกลายพันธุ์กันไปบ้าง ทั้งในเรื่องของชื่อ หรือ รูปแบบของห้อง
ตอนที่ได้ยินชื่อ Management Cockpit เป็นครั้งแรก ก็นึกว่าจะเป็นห้องที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมือนกับห้องของนักบินบนเครื่องบิน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นห้องที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นห้องที่ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสม กับวิธีการคิด การทำงาน และการตัดสินใจของสมองคนเรา (เนื่องจากผู้ที่คิดขึ้นมาเป็นหมอผ่าตัดสมอง) และเป็นห้องที่ทำให้ผู้บริหารในระดับต่างๆ ได้มีวินัยในการบริหารที่ดีขึ้น อีกทั้งทำให้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจหรือการบริหารได้ดีขึ้น
รอบๆ ห้องจะประกอบด้วยตัวชี้วัดและข้อมูลในการดำเนินงานด้านต่างๆ ขององค์กร จัดเรียงตามกลุ่ม ตามคำถามสำคัญที่ผู้บริหารอยากจะรู้ และเมื่อผู้บริหารเข้ามาประชุมในห้องนี้แล้ว ก็สามารถที่จะพิจารณา วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบข้อมูลหรือตัวชี้วัดต่างๆ จะต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานของตนเอง และนำเสนอแนวทางในการแก้ไขหรือปฏิบัติถ้าการดำเนินงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการสังเกตของผมเองจะพบว่าผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่จะชอบห้องนี้เนื่องจากมีข้อมูลสำหรับใช้ในการตัดสินใจ แต่ผู้บริหารระดับกลางอาจจะไม่ค่อยปลื้มเท่าไร เนื่องจากจะต้องเตรียมข้อมูล และทำให้เห็นผลการดำเนินงานของตนเองอย่างชัดเจนขึ้น
สิบปีที่ผ่านไปกับการนำหลักของ Management Cockpit มาใช้ในไทยนั้นก็ถือว่าเป็นที่รู้จักและใช้กันทั่วไปในระดับหนึ่ง แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาแนวคิดดังกล่าวย่อมต้องมีการพัฒนาไป ซึ่งทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่บุกเบิกเรื่องนี้ จึงได้เชิญ Patrick Georges ซึ่งเป็นผู้คิดและผู้ให้กำเนิด Management Cockpit มาพูดคุยและเล่าถึงพัฒนาการ ของ Management Cockpit ในปัจจุบัน โดยจะจัดเป็นงานสัมมนาขึ้นมาในวันพฤหัสที่ 13 สิงหาคม 2552 ระหว่างเวลา 8.30 – 12.00 ภายใต้หัวข้อเรื่อง Management Cockpit in 2010: Managing in an Economic Downturn ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 หรือ www.acc.chula.ac.th ครับ