16 กันยายน 2008

ท่านผู้อ่านคงพอจะคุ้นเคยกับวิธีการแบ่งรุ่นหรือช่วงอายุของคน ของอเมริกากันบ้างนะครับ ที่เขาแบ่งออกเป็นพวก Baby Boomer พวก Generation X (หรือ Gen X) พวก Generation Y (หรือ Gen Y) และพวก Generation Z (หรือ Gen Z) โดยทางอเมริกันนั้นเขาจะดูจากช่วงปีที่เกิดครับ โดยพวก Baby Boomer นั้นเป็นพวกที่เกิดช่วงปี ค.ศ. 1943-1964 หรือ พ.ศ. 2486 – 2507 ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งช่วงนั้นที่อเมริกากำลังเร่งผลิตประชากรกันขึ้นมาอย่างมโหฬารก็เลยเรียกพวกที่เกิดช่วงนี้ว่าเป็น Baby Boomers พวก Gen X นั้น จะเกิดระหว่าง ค.ศ. 1964 – 1981 หรือ พ.ศ. 2507 – 2524 ในอเมริกาเองช่วงนี้เป็นช่วงที่มีเด็กเกิดน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดกันเยอะๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวก Gen Y นั้นจะเกิดระหว่าง ค.ศ. 1982 – 2000 หรือ พ.ศ. 2525 – 2543 ซึ่งพวก Gen Y นั้นส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่เป็นลูกของพวก Baby Boomer และล่าสุดคือพวก Gen Z ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเกิดมาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมานี้เองครับ (ตัวเลขปีเกิดนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างนะครับ แหล่งอ้างอิงแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์)

            ถึงแม้แนวทางการแบ่งช่วงอายุของประชากรข้างต้นจะเป็นของทางอเมริกา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวทางที่ใช้กันแพร่หลายอย่างทั่วโลก และบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ก็ได้ศึกษาลึกลงไปอีกครับว่าในแต่ละช่วงอายุหรือแต่ละกลุ่มนั้นจะเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมแบบใด และมีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งในสัปดาห์นี้สิ่งที่จะนำเสนอนั้น คงไม่ใช่พฤติกรรมของแต่ละกลุ่มในเชิงการตลาดครับ แต่จะเป็นในเรื่องของการบริหารจัดการครับ

            เนื่องจากในปัจจุบันคนทำงานที่ต้องติดต่อกับคนอื่นมากๆ นั้นมักจะเป็นพวก Gen X หรือพวก Late Baby Boomer ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกหล่อหลอมและมีพฤติกรรมและความคาดหวังใน รูปแบบหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา (ไม่ว่าระดับป.ตรีหรือโท) ก็จะเป็นกลุ่ม Gen Y มากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะถูกเลี้ยงดูและมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปกับ พวกพี่ๆ ในที่ทำงานที่เป็น Gen X ทำให้เราเริ่มพบความไม่เข้าใจกันและช่องว่างในการทำงาน ระหว่างคนสองกลุ่มนี้กันมากขึ้น ผมเองจะเริ่มพบพวกพี่ๆ ที่เริ่มบ่นเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ในที่ทำงาน ซึ่งไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวัง หรือแม้กระทั่งในฐานะอาจารย์สอนหนังสือ ก็จะพบบ่อยๆ ว่าพฤติกรรมของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่ตรงกับสิ่งที่ตนเองเคยประพฤติปฎิบัติมาสมัยเรียนหนังสือ

            เคยพบเจอพวก Gen X บางคนจะบ่นว่าพวก Gen Y อยู่เสมอในเรื่องของพฤติกรรมการทำ งาน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองเคยทำมาในอดีต เนื่องจากรุ่นพี่ส่วนใหญ่ก็มักจะให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และคาดหวังที่จะให้รุ่นน้องเจริญรอยตามรุ่นพี่ในการทำงาน แต่ส่วนใหญ่แล้วพวก Gen Y เขาก็จะมีวิถีชีวิตและรูปแบบในการดำรงชีวิตเป็นของตนเอง ดังนั้นสิ่งที่พวกพี่ๆ Gen X จะต้องพยายามทำความเข้าใจก็คือพฤติกรรมในการทำงานของน้อง Gen Y และอาจจะต้อง ลองปรับวิธีการสื่อสารกับน้อง Gen Y เสียใหม่นะครับ

            ในวารสาร Business Week ฉบับต้นเดือนกันยายน ก็มีบทความที่พูดถึงความแตกต่าง ระหว่าง Gen X  กับ Gen Y ไว้น่าสนใจเหมือนกันครับ โดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ หลายๆ ด้าน เรามาลองดูกันนะครับ

            ในด้านของผลตอบแทนนั้น พวก Gen X จะมีประสบการณ์สูง ดังนั้นคนกลุ่มนี้เวลาเปลี่ยนงานก็จะรู้จักที่จะเรียกร้องและเจรจาต่อรอง หรือแม้กระทั่งในที่ทำงานเดิม คนเหล่านี้ก็จะรู้ว่าตนเองมีคุณค่าหรือความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร ดังนั้นการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า ก็จะสิ่งปกติสำหรับคน Gen X นอกเหนือจากผลตอบแทนแล้ว สิ่งอื่นๆ ที่จะจูงใจคน Gen X ได้ก็จะเป็นพวกตำแหน่งต่างๆ หรือ เวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น (เนื่องจากคนเหล่านี้เริ่มที่จะมีครอบครัว) สำหรับพวก Gen Y นั้น จะให้ความสำคัญกับการสร้างประวัติการทำงานที่ดี มีประวัติการทำงานในบริษัทที่ดีๆ เพื่อให้ Resume ของตนเองออกมาดูดี มากกว่าที่จะสนใจกับ การสร้างฐานะทางการเงิน เนื่องจากคนเหล่านี้มองว่าการมีประวัติการทำงานที่ดีและน่าประทับใจ จะทำให้ตนเองแตกต่างจากผู้อื่นได้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีเช่นในปัจจุบัน

            ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น Gen X จะเปิดรับต่อทางเลือกหลายๆ ทาง โดยไม่ได้มุ่งเน้น การที่จะต้องประชุมและนั่งเห็นหน้ากัน โดยพวก Gen X นั้นเปิดรับต่อทั้งการประชุมหรือทำงาน ทางไกลผ่านสื่อต่างๆ แต่ถ้าจะต้องนั่งประชุมด้วยกันนั้น ก็ควรจะเป็นการประชุมของกลุ่มคนที่มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพ คนเหล่านี้ไม่ชอบการประชุมยาวๆ สำหรับพวก Gen Y นั้น เรื่องของ Social Networking จะเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพวก Hi 5 หรือ Facebook ฯลฯ ดังนั้น สำหรับคนเหล่านี้บริษัทอาจจะต้องลองหาทางเลือกดูซิว่าจะใช้พวกเครื่องมือของ Social Networking ให้เป็นประโยชน์สำหรับการทำงานได้อย่างไร

            สัปดาห์นี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูช่องว่างในการทำงานระหว่างพวก Gen X  กับ Gen Y กันต่อนะครับ และก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งที่สองในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งจะ มีคณาจารย์และนิสิตเก่าของคณะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ