2 November 2008

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบรรดาคนดังในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือดารานักร้องต่างๆ เวลาเขาให้สัมภาษณ์บ้างไหมครับ บุคคลเหล่านี้ (หรือบุคคลทั่วๆ ไป) เมื่อพบเจอคำถามที่ตนเองไม่อยากจะตอบหรือไม่สะดวกใจที่จะตอบ หรือ ไม่รู้คำตอบ แนวทางที่บุคคลเหล่านี้เลือกใช้คือการตอบเลี่ยงไปในประเด็นอื่นเสีย โดยอาจจะฟังดูเหมือนยังมีความเกี่ยวข้องกับคำถามที่ถูกถามบ้างแต่ถ้าผู้ฟัง ฟังดีๆ จะพบว่าคำตอบที่ตอบนั้นไม่ตรงคำถามแม้แต่น้อย จริงๆ แล้วอย่าว่าแต่บรรดาคนดังในสังคมเลยนะครับ เวลาผมฟังนิสิตนักศึกษาตอบคำถามของบรรดาคณาจารย์เวลาสอบป้องกันวิทยานิพนธ์หรืองานที่นำเสนอนั้น หลายๆ ครั้งบรรดานิสิตนักศึกษาก็จะใช้กลยุทธ์นี้เช่นกัน นั้นคือตอบไม่ตรงกับคำถาม และเมื่อทักท้วงนั้น ลูกศิษย์ผมบางคนยังย้อนกลับมาอีกว่า “ก็อาจารย์ถามไม่ตรงคำตอบเอง”

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตในสถานที่ทำงานดูบ้างก็ได้นะครับ ท่านอาจจะพบสถานการณ์ของการเลี่ยงคำตอบหรือตอบไม่ตรงคำถามอยู่เป็นประจำครับ เช่น ถ้าลูกน้องมาทำงานสายกว่าปกติ และต้องการปกปิดสาเหตุที่ทำให้มาสายนั้น เวลาเราถามลูกน้องก็จะเลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยไปตอบหรือเบี่ยงเบนประเด็นไปในเรื่องอื่นๆ แทน อย่างไรก็ดีถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าการตอบในลักษณะเบี่ยงเบนประเด็นนั้นดูเหมือนว่าจะพบบ่อยกับบรรดานักการเมืองและดารานักร้องเสียมากนะครับ (อาจจะเนื่องจากคนเหล่านี้มีโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ เป็นประจำ)

            มีฝรั่งเขาทำวิจัยเกี่ยวกับการตอบแบบเบี่ยงเบนประเด็นไว้เหมือนกันครับ โดยผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อ Todd Rogers และ Michael I. Norton จาก Harvard Business School และสิ่งที่ทั้งคู่พบก็น่าสนใจครับ นั้นคือ ถ้าผู้ตอบคำถามโดยเป็นลักษณะของการเบี่ยงเบนประเด็น และสามารถให้คำตอบที่หนักแน่นและดูน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้ตั้งคำถาม ลืมคำถามที่แรกถามไปเลย นอกจากนี้ การตอบแบบเบี่ยงเบนประเด็นที่ดี ดูเหมือนจะมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ มากกว่าการตอบให้ตรงประเด็น แต่ตอบได้มีดี

            ดูเหมือนว่าถ้าผู้ตอบ ตอบไม่ตรงคำถามได้ดี จะดีกว่าตอบให้ตรงคำถามได้ไม่ดี นั้นคือถ้าตอบไม่ตรงคำถามได้ดีแล้ว ทั้งคนฟังและคนถามจะไม่รู้สึกเลยว่าตอบไม่ตรงคำถาม เรียกได้ว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันเลยครับ เรียกได้ว่าสามารถเบี่ยงเบนประเด็นหรือความสนใจของผู้ฟังได้สำเร็จเสมือนนักมายากลชั้นเลิศ ที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชม เพื่อแสดงกลเลยครับ

            สำหรับสาเหตุหลักที่เกิดปรากฎการณ์ข้างต้นนั้นก็เนื่องจากความสนใจของเรานั้นจะเปลี่ยนไปมาได้อย่างรวดเร็วและการที่เราละเลยหรือไม่สนใจต่อการเบี่ยงเบนในประเด็นที่เกิดขึ้นครับ ทำให้เมื่อเราพบเจอคำถามที่เราไม่ต้องการหรือไม่อยากจะตอบแล้ว เมื่อเราตอบคำถามนั้นเบี่ยงเบนไปจากเดิม หลายครั้งที่ตัวผู้ฟังหรือผู้ถามเองจะไม่ได้สังเกตหรือสนใจเลยว่าคำตอบที่ให้มานั้นไม่ตรงกับคำถามที่ถามไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคำตอบที่ให้มานั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับคำถามบ้างไม่มากก็น้อย (ถึงแม้จะไม่ตรงคำถามเลย) โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ตอบสามารถที่จะเอาตัวรอดไปได้ครับ

            ในงานวิจัยที่ฝรั่งเขาทำนั้น เขาให้ผู้ฟัง ได้ลองฟังนักการเมืองสองคน โต้วาทีกันครับ และดูปฏิกริยาของผู้ฟัง ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อนักการเมืองทั้งสองคนนั้น ตอบตรงคำถาม ตอบไม่ตรงคำถามเลย หรือ ตอบตรงคำถามบ้าง สิ่งที่พบนั้นน่าสนใจครับ นั้นคือถ้าผู้ตอบเบี่ยงเบนประเด็นคำตอบออกไปในลักษณะที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวคำถามเลยแม้แต่น้อย ผู้ฟังจะรู้สึกได้ และจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้ตอบ

            อย่างไรก็ดีถ้าผู้ตอบมีศิลปะในการเบี่ยงเบนประเด็น โดยคำตอบที่ให้นั้นยังมีกรอบหรือดูเหมือนว่าจะตอบต่อคำถามที่ถาม แต่จริงๆ แล้วถ้าตั้งใจฟังดีๆ จะพบว่าตอบในคนละประเด็นหรือตอบไม่ตรงคำถาม ผลการวิจัยระบุว่าผู้ฟังจะไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้ตอบ เท่ากับพวกที่ตอบไม่ตรงแบบแจ่มแจ้งเลยครับ และอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือถึงแม้ผู้ตอบจะตอบตรงคำถามแต่เป็นคำตอบที่ไม่น่าประทับใจหรือเป็นคำตอบที่ไม่ดี ผู้ฟังก็จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้ตอบด้วยเช่นกันครับ

            เนื้อหาของบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อแนะนำให้ตอบไม่ตรงคำถามนะครับ แต่น่าจะเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ฟังหรือผู้ตั้งคำถามทั้งหลายนะครับ ว่าเวลาฟังหรือถามคำถามใด ก็ควรจะใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เบี่ยงเบนประเด็นหรือตอบไม่ตรงคำถามเก่งๆ มิฉะนั้นสุดท้ายแล้วสิ่งที่ตั้งคำถามไป อาจจะไม่ได้รับคำตอบก็ได้นะครับ