10 November 2008

ช่วงนี้บรรดาเกจิทางด้านธุรกิจทั้งหลายก็ต่างเริ่มออกมาพยากรณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีหน้ากันแล้วนะครับ เกจิเหล่านี้ก็ครอบคลุมทั้งนักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ หรือ แม้กระทั่งข้าราชการและนักการเมือง บางท่านก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่าเมืองไทยคงจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่าไร ส่วนบางท่านก็พยายามเตือนให้คนไทยเตรียมตัวรับวิกฤติทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ไม่ว่าเกจิแต่ละท่านจะมองอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มเห็นแล้วก็คือปีหน้าคงไม่สดใสแน่ๆ และเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่สดใสแล้ว (ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่ก็ตาม) สิ่งที่ตามมาและหนีไม่พ้นก็คือความพยายามขององค์กรธุรกิจในการลดต้นทุนลง และต้นทุนที่สามารถลดลงได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลชัดเจนก็คือต้นทุนด้านพนักงาน ซึ่งก็นำไปสู่การเลิกจ้างนั้นเองครับ

            ผมมองว่าประเด็นที่ควรจะช่วยกันคิดในตอนนี้ไม่ใช่ว่าปีหน้าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงนะครับ เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก คงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรจะช่วยกันคิด ก็คือพวกเราควรจะต้องทำตัวหรือปรับตัวอย่างไรในภาวะวิกฤติดังกล่าว คำว่าพวกเราในที่นี้นั้นผมมองครอบคลุมทั้งผู้บริหารขององค์กรต่างๆ และพนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่ายครับ

            ผู้บริหารเอง ก็ต้องคิดถึงกลยุทธ์และแนวทางการบริหารของตนเองว่าจะนำพาองค์กรฝ่าฟันมรสุมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่ใช่เพียงแค่ฝ่าฟันมรสุมที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องคิดยาวและคิดล่วงหน้าอีกด้วยว่า เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว องค์กรของตนเองได้มีการเตรียมพร้อมไว้บ้างหรือยัง เชื่อว่าหลายๆ องค์กรน่าจะได้บทเรียนจากภาวะวิกฤติเมื่อปี 2540 แล้วว่า การมองระยะสั้นเพื่อนำพาองค์กรให้รอดพ้นภาวะวิกฤติมาได้นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่จำเป็นอีกประการคือการมองในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับรอรับช่วงฟื้นตัวของภาวะวิกฤติ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ฉลาดและพร้อมหลายๆ แห่งแทนที่จะมองภาวะวิกฤติเป็นข้อจำกัดทางธุรกิจเพียงประการเดียว กลับมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส และพยายามเกาะกุมโอกาสดังกล่าวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงฟื้นตัว

            นอกจากนี้ถ้ามองในมุมของบุคลากรหรือพนักงานในองค์กรต่างๆ สิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงด้วยก็คือแล้วตนเองจะมีกลยุทธ์หรือหมากในการทำงานอย่างไร เพื่อให้ตนเองอยู่รอดพ้นภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น หรือ อีกนัยหนึ่งไม่ต้องรับซองขาวเพื่อช่วยบริษัทลดต้นทุน และคล้ายๆ กับในระดับบริษัทนั้นคือ นอกเหนือจากการมองว่าจะทำอย่างไรให้ตนเองอยู่รอดได้แล้ว ยังอาจจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ด้วย นั้นคือนอกเหนือจากที่จะไม่ถูกให้ออกแล้ว ยังมีการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานอีกด้วย ซึ่งถ้าทำได้ถือว่าเป็นโชคสองชั้นในช่วงวิกฤติเลยทีเดียวครับ

            นิตยสาร Business Week เองก็ได้มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผ่านพ้นช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยความน่าสนใจของบทความอยู่ที่ว่าในช่วงภาวะวิกฤตินี้ บริษัทต่างๆ คงจะไม่รับพนักงานใหม่เพิ่มและในมีแนวโน้มที่จะลดพนักงานลง แต่ทรัพยากรที่สำคัญที่บริษัทจะต้องให้ความสนใจในช่วงนี้กลับเป็นตัวพนักงานครับ โดยเฉพาะบรรดาพนักงานที่มีความสามารถหรือความโดดเด่น หรือ ที่บางแห่งเรียกว่าพวก Talent บริษัทเองจะต้องมีระบบและกระบวนการในการที่จะรักษาบุคคลเหล่านี้ไว้ให้ได้ ทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดความภักดีต่อองค์กร หรือแม้กระทั่งสรรหาบุคคลเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในองค์กรเพิ่ม (ต้องอย่าลืมว่าในช่วงภาวะวิกฤตินั้นองค์กรจะสามารถสรรหาคนเก่ง คนดี มาได้ในราคาที่ถูกกว่าช่วงปกตินะครับ) เนื่องจากสุดท้ายแล้วคนเหล่านี้จะกลับมาเป็นกำลังที่สำคัญสำหรับองค์กร เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว

            ความท้าทายของผู้บริหารก็คือถ้าจะลดหรือปลดพนักงานลง ก็ต้องให้แน่ใจนะครับว่าพวกพนักงานที่โดดเด่นจะไม่พลอยถูกหางเลขไปด้วย และเมื่อบริษัทสามารถรักษาพนักงานที่มีค่าไว้ได้แล้ว ก็ต้องคิดต่อนะครับว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถรักษาขวัญและกำลังใจของพนักงานเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อให้พนักงานเกิดความภักดีและอยากจะอยู่กับองค์กร ไม่ใช่ว่าพอภาวะเศรษฐกิจเริ่มพลิกตัว คนเหล่านี้มีช่องทางก็หนีไปอยู่องค์กรอื่นเสีย

            สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าต่อถึงข้อเสนอแนะและแนวทางในการสร้างขวัยและกำลังใจให้กับพนักงานที่มีคุณค่าทั้งหลายนะครับ รวมทั้งถ้าตัวเราเป็นพนักงาน เราจะใช้โอกาสจากภาวะวิกฤตินี้ได้อย่างไร