10 October 2007

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาความนิยมในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ทางด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA เป็นสิ่งที่ฮิตกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันการศึกษาต่อทางด้านบริหารธุรกิจ หรือ ที่เราเรียกว่า B-School (Business School) จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัวกันแล้ว ประกอบกับในสังคมโลกธุรกิจการได้รับ MBA จาก B-School ต่างๆ ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสำหรับคนจำนวนมาก มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เปิดหลักสูตร MBA กันขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เริ่มถึงจุดอิ่มตัว ทำให้สถาบันการศึกษาจำนวนมาก พยายาม Segment ผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีความจำเพาะเจาะจงตามความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น ในอดีตเราอาจจะเห็นการ Segment B-School ตามอายุงานหรือประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันจะเห็นแนวโน้มของการ Segment ตามอุตสาหกรรม หรือ วิชาชีพมากขึ้น

            นอกจากความอิ่มตัวของ B-School แล้ว ในโลกธุรกิจก็เริ่มถึงทางตันในกระบวนการคิด ที่จะทำให้องค์กรเกิดความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน เนื่องจากบรรดานักธุรกิจ ผู้บริหาร ทั้งหลายก็จะเรียนจบมาด้วยหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่คล้ายๆ กัน ทำให้กระบวนการในการคิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กลยุทธ์ใหม่ๆ ไม่มีความแตกต่างกัน สุดท้ายเมื่อสินค้า บริการ หรือ กลยุทธ์มีความเหมือนกันมากขึ้น การแข่งขันก็มุ่งเน้นไปที่ราคามากขึ้น เราจะเริ่มสังเกตว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ กำลังเริ่มแสวงหาแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ตนเองสามารถเติบโต และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลต่อคุณลักษณะของบุคลากรในองค์กรครับ ในอดีตพนักงานที่มีพื้นฐานจบตรีวิศวกรรม แล้วต่อโท MBA เป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจ เนื่องจากคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการคิด ในการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผล แต่ปัจจุบันโลกธุรกิจควรจะแสวงหาคนที่มีพื้นฐานความรู้ทั้งทางด้านการออกแบบ และด้านธุรกิจมากขึ้น เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในกระบวนการพัฒนาและคิดสิ่งใหม่ๆ แทนที่จะเป็นการวิเคราะห์ในสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว

            จริงๆ แล้วแนวโน้มนี้เราเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนในต่างประเทศก่อนนะครับ แต่เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานจะเริ่มเข้ามาที่เมืองไทยกันมากขึ้น นิตยสาร Business Week ถึงขนาดมีการจัดลำดับ Design School (D-School) หรือสถาบันการศึกษาที่สอนในเรื่องของการออกแบบทั่วโลกขึ้นมาติดต่อกันสองปี ทั้งๆ ที่ในอดีต Business Week จะให้ความสนใจแต่กับ B-School เพียงอย่างเดียว โดยบรรดา D-School ต่างๆ จะเริ่มมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่วงการธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะเป็นวงการด้านการออกแบบในด้านต่างๆ เช่นในอดีต และบุคลากรที่ผ่าน D-School เหล่านี้ ก็เริ่มกลายเป็นกำลังสำคัญขององค์กรธุรกิจในด้านของการคิดค้น การสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในด้านต่างๆ

            นอกเหนือจากความนิยมใน D-School อย่างเดียวแล้ว บรรดา B-School ต่างๆ รวมถึง E-School (Engineering School) ก็เริ่มที่จะทำการปรับหลักสูตรให้มีการผสมผสานและบูรณาการหลักสูตรเดิมๆ ของตนเองให้ผสมผสานกับหลักสูตรของ D-School มากขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่าถ้าคนๆ หนึ่งมีพื้นฐานทางด้านการออกแบบ พร้อมทั้งมีความรู้ที่ดีในด้านการบริหารธุรกิจด้วย บุคคลผู้นั้นจะเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อองค์กรเพียงใด ผมเองก็มีนิสิต MBA คนหนึ่งที่คณะครับ จบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และกำลังเรียน MBA อยู่ ก็กำลังติดตามอยู่นะครับว่าจบไปแล้วจะไปทำงานที่ไหน อย่างไร แต่มองว่าคนที่มีคุณลักษณะแบบนี้จะมีประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจอย่างมากเลย

            คุณสมบัติที่สำคัญของคนที่มีพื้นฐานด้านการออกแบบ คือคนเหล่านี้จะสามารถมองหาหรือแสวงหาโอกาสต่างๆ ได้อย่างดี จะสามารถทำงานหรือคิดสร้างสรรค์ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่สลับซับซ้อนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะเป็นผู้ที่สามารถมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งจะแตกต่างจากคนยุคก่อนที่เรามักจะพบว่ามีความสามารถในการรีดผลงานออกมาได้มาก โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เท่าที่ควร

            ในต่างประเทศเราเริ่มพบเห็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนต่างๆ (B-School, D-School, E-School) กันมากขึ้น เช่น The Royal College of Art มีหลักสูตรใหม่ที่เป็นการร่วมมือกับ Tanaka Business School และ Imperial College London Engineeing School นอกจากเป็นในรูปแบบของหลักสูตรแล้ว กระบวนการเรียนการสอนก็เริ่มเปลี่ยนไปครับ เช่นที่ Carnegie Mellon นั้นเขาเอานักศึกษาที่เรียนทางด้านการออกแบบ วิศวกรรม และบริหารธุรกิจ ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมในโครงงาน หรือ ที่ University of Toronto นั้น เขาให้นักศึกษา MBA และพวกที่เรียนทางด้านการออกแบบนั้นมานั่งทำงานในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกัน

            เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานแนวโน้มการผสมผสานระหว่าง D-School และ B-School ในเมืองไทยคงจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นนะครับ ถือว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจทีเดียว