18 May 2007

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเรื่องของเจ้าตัว KRI หรือ Key Risk Indicators ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางด้านความเสี่ยงไว้ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ขออนุญาติในการนำเสนอในเรื่องสืบเนื่องนะครับ นั้นคือการเตือนภัยในเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางกลยุทธ์ (Strategic Risks) ครับ เรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นผมกลับไปค้นบทความเก่าๆ แล้วพบว่าเคยเขียนไปแล้วสองครั้งเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็มีข้อมูลหรือองค์ความรู้ทางด้านความเสี่ยงทางกลยุทธ์เพิ่มขึ้น เลยขออนุญาตินำเสนอในเรื่องนี้อีกครั้งนะครับ แต่รับรองว่าเป็นมุมมองใหม่จากที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อสองปีก่อน
ท่านผู้อ่านที่คุ้นกับเรื่องของการบริหารความเสี่ยงก็จะคุ้นกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ หลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operating Risks) ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ความเสี่ยงด้านการตลาด หรือ ไม่การบริหารความเสี่ยงในเชิงองค์รวม (Enterprise Risk Management) ไปเลย แต่ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือเกี่ยวข้องในการกำหนดกลยุทธ์ได้หันมาให้ความสนใจต่อความเสี่ยงทางกลยุทธ์หรือ Strategic Risks กันมากขึ้นนะครับ เนื่องจากมีไม่กี่องค์กรหรือไม่กี่คนที่สนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จหรือความอยู่รอดขององค์กร
ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรทุกแห่ง (ไม่ว่าเอกชนหรือราชการ) ต่างเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์กันมากขึ้นทุกขณะ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน หรือ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น หรือ การเปลี่ยนแปลงของกระแสการค้าโลก หรือ การเข้ามาของคู่แข่งขันจากต่างประเทศ หรือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ หรือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ขององค์กรทั้งสิ้น คำถามคือองค์กรได้มีระบบหรือแนวทางในการติดตามความเสี่ยงเหล่านี้ รวมทั้งระบบในการเตือนภัยถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้
ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปศึกษาระบบบริหารความเสี่ยงหรือแนวทางในการบริหารความเสี่ยงที่องค์กรต่างๆ ใช้ ท่านผู้อ่านจะพบว่าองค์กรหลายแห่งจะให้ความสำคัญกับพวกความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความผิดพลาดในการดำเนินงานต่างๆ แต่กลับละเลยต่อความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดขององค์กรเช่นความเสี่ยงทางกลยุทธ์ แต่ที่เขียนมานั้นก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงด้านการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ควรละเลยนะครับ แต่ประเด็นคือองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงาน ซึ่งถ้าความเสี่ยงเกิดขึ้น ก็มักจะนำไปสู่ความผิดพลาด ซึ่งอาจจะทำให้เสียชื่อเสียง หรือ ถูกปรับ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อองค์กร แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นให้องค์กรเจ๋งหรือออกจากธุรกิจ แต่เจ้าความเสี่ยงทางกลยุทธ์ ซึ่งหลายๆ องค์กรไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใด แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วอาจจะส่งผลให้องค์กรต้องออกจากธุรกิจไปเลยก็ได้นะครับ ดังนั้นถ้าเทียบผลกระทบที่ได้รับจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว ผมว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์ จะส่งผลกระทบและรุนแรงกว่าความเสี่ยงประเภทอื่นๆ นะครับ
ทีนี้ถ้าความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์เป็นสิ่งที่สำคัญแล้ว ทำไมองค์กรถึงไม่ค่อยได้มีการบริหารความเสี่ยงในด้านนี้กันเท่าไร? สาเหตุหลักๆ ก็คือองค์กรขาดระบบในการบริหารความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ครับ เราอาจจะทราบถึงความจำเป็นหรือความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ แต่ปัญหาสำคัญคือองค์กรขาดระบบในการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่มีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนครับ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการยากที่องค์กรจะสามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ได้ในทุกประเภท เนื่องจากความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์มีมากมายหลายประเภท ดังนั้นองค์กรคงจะต้องเลือกความเสี่ยงที่มีความสำคัญหรือที่จะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดขององค์กรโดยตรงครับ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการสร้างระบบบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ควรละเลยนะครับ
ข้อจำกัดอีกประการของการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์อยู่ที่ตัวผู้บริหารระดับสูงเองครับ โดยตัวผู้บริหารจะปิดกั้น พร้อมทั้งไม่ยอมรับรู้ต่อความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นครับ ทั้งนี้เนื่องจากความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่ผู้บริหารได้กำหนดขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมต่อบริบทหรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องบ่งชี้ว่ากลยุทธ์ที่ผู้บริหารอุตส่าห์คิดหรือกำหนดขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจนั้นไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ครับที่จะไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตนเองคิดมานั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่ยากจะยอมรับว่ากลยุทธ์ที่ตนเองคิดขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป
บางครั้งไม่ได้มีปัญหาที่ตัวผู้บริหารหรอกครับ เพียงแต่ผู้บริหารขาดระบบในการเตือนภัยล่วงหน้า โดยในองค์กรส่วนใหญ่ไม่มีผู้ที่รับผิดชอบในการติดตามความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์โดยเฉพาะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะนะครับ การติดตามและเตือนภัยในเรื่องความเสี่ยงทางกลยุทธ์ถือเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในองค์กร แต่ความยากก็มีอีกครับ นั้นคือการจะติดตามและเตือนภัยในความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ได้นั้นบุคลากรจะต้องมองเห็นภาพรวมของทั้งองค์กร รวมทั้งต้องเป็นผู้ที่มีลักษณะ External Focus มากพอสมควรครับ อีกทั้งความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ก็เป็นสิ่งที่จับต้องได้ไม่ง่ายนักครับ ดังนั้นการจะมีระบบบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่ดีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนที่คิดนะครับ
เกือบจบบทความแล้วท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับว่าเจ้าความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ หรือ Strategic Risks ที่ผมนำเสนอมาคืออะไร ถ้าให้นิยามสั้นๆ ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ ก็คือความเสี่ยงที่กลยุทธ์ที่เราได้วางไว้ไม่เหมาะสม หรือ ไม่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไปครับ นั้นคือเมื่อองค์กรได้มีการกำหนดกลยุทธ์แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป และสภาวะแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไป กลยุทธ์ที่เราได้กำหนดขึ้นมาอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากครับ ผู้บริหารควรจะหันมาให้ความสนใจและพัฒนาระบบเพื่อติดตามและเตือนภัยความเสี่ยงชนิดนี้
เนื้อหาในสัปดาห์นี้คงจะเป็นการเกริ่นให้ทราบก่อนนะครับว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์ สำคัญและจำเป็นอย่างไร สัปดาห์หน้าเรามาลงรายละเอียดครับว่าการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์มีแนวทางอย่างไรบ้าง