19 February 2017
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่ทำร้ายจิตใจคนวัย 50 ปีขึ้นไป ทั้งการเรียกวิศวกรวัย 50 ว่า “ลุง” หรือ สุภาพสตรีวัย 52 ว่า “แม่เฒ่า” รุ่นพี่ที่ผมรู้จักหลายท่านต่างออกมาคร่ำครวญผ่านทางสื่อออนไลน์ว่าตนเองยังไม่สมควรถูกเรียกเป็นลุงหรือแม่เฒ่า ทำให้ผมเองก็อยากจะรู้คำตอบว่าคนวัย 50 นั้นสมควรถูกว่าลุงและแม่เฒ่าหรือยัง?
ได้ไปอ่านทั้งบทความและงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ชี้ตรงกันว่าจุดเริ่มต้นที่จะเรียกคนว่า “สูงวัย” นั้นแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจากในอดีตเราไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพ และยังมีการสูบบุหรีและดื่มเหล้ากันค่อนข้างมาก ทำให้เมื่ออายุเริ่มย่างเข้า 50 ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพกันแล้ว แต่ในปัจจุบันที่คนดูแลสุขภาพมากขึ้นทำให้คนที่อายุ 50 ในปัจจุบันมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่อายุ 50 เมื่อ 50 ปีที่แล้ว จนกระทั่งเริ่มมีคำกล่าวแล้วว่า “50 is the new 30”
คำถามต่อมาคือแล้วเมื่อไรถึงจะเริ่มนับว่าคนเข้าสู่ยุค “สูงวัย” ถ้าไปสอบถามคนแต่ละช่วงอายุก็จะให้คำตอบไม่เหมือนกัน มีงานวิจัยที่ไปสอบถามคนช่วงอายุ 20, 30, 40, 50, 60 ว่าที่อายุเท่าไรถึงจะนับว่า “สูงวัย” ปรากฎว่าคำตอบที่ได้มานั้นไม่เหมือนกัน และที่น่าสนใจก็คือยิ่งผู้ตอบอายุมากขึ้นคำตอบที่ได้รับก็จะแสดงอายุที่สูงขึ้นไปด้วย
งานวิจัยที่แตกต่างกัน นิยามจุดเริ่มต้นของความ “สูงวัย” ที่แตกต่างกัน (ถึงแม้จะใกล้เคียงกัน) ในอดีตเคยมีงานวิจัยที่พบว่าคนจะรับรู้ว่าเข้าสู่ช่วง “สูงวัย” เมื่ออายุพ้นเลข 68 แต่ล่าสุดผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษกว่า 2,000 คนพบว่าความ “สูงวัย” นั้นเริ่มต้นที่ 80 ในขณะเดียวกันมีรายงานจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนาที่ระบุว่าความ “สูงวัย” นั้นเริ่มที่อายุ 74 โดยพิจารณาว่าการจะ “สูงวัย” ได้นั้น ให้พิจารณาว่าคนยังมีอายุขัยเหลืออีกเท่าไร และจะถือว่า “สูงวัย” ได้ก็คือคนจะต้องมีอายุขัยเหลืออีก 15 ถึงจะเริ่มนับได้ว่าสูงวัย
ดังนั้นถ้าเราจะยึดที่เลข 74 หรือ เลข 80 ว่าเริ่มต้นเข้าสู่ความสูงวัย ก็แสดงให้เห็นว่าช่วงความเป็นวัยกลางคนนั้นกว้างมากและถูกขยายมาถึง 74 หรือ 80 ปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังได้พบว่าเริ่มมีรายงานจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้วที่องค์กรหรือบริษัทต่างๆ หันกลับมาพึ่งพาผู้สูงอายุในการเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากอัตราการเกิดของประเทศต่างๆ ที่ลดลง ทำให้การขาดแคลนคนทำงานที่มีฝืมือ ทำให้องค์กรต้องหันกลับมาพึ่งพาผู้ที่เกษียณไปแล้วที่วัย 60 หรือ 65 ปีขึ้นไปให้กลับมาช่วยทำงาน
ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือเราเคยมีความเชื่อว่าบุคคลที่อายุมากขึ้นจะทำงานสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ แต่ปรากฎว่ามีการศึกษาในปี 2010 ที่นำคนรุ่นใหม่อายุ 20-31 มาทดสอบและทำงานในด้านต่างๆ สู้กับผู้ใหญ่อายุ 65-80 เป็นระยะเวลา 100 วัน โดยทดสอบทั้งในด้าน การคิด ความจำ ความเร็วในการทำงาน ปรากฎว่าจากผลการทดสอบกลุ่มคนสูงอายุทำงานได้สม่ำเสมอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผลการทำงานในแต่ละวันจะผันแปรและแตกต่างกัน นอกจากนี้ผลการทำงานโดยรวมก็ออกมาดีกว่าคนรุ่นใหม่ เพราะถึงแม้ความสามารถในการจำ การเรียนรู้ หรือความเร็วในการคิดของผู้สูงอายุจะลดน้อยลง แต่สิ่งที่ทดแทนได้คือประสบการณ์ และประสบการณ์ช่วยทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้วิธีการที่จะจดจำได้ดีขึ้น เรียนรู้ และทำงานได้เร็วขึ้น
แม้กระทั่งในบรรดา Startups ทั้งหลาย ในอเมริกาก็เริ่มมีแนวโน้มของ Silver Startups ที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่เมื่ออายุเลยเลข 50 ไปแล้ว ในปี 2015 ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ประกอบการใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจนั้นอายุอยู่ระหว่างช่วง 55 – 64 ซึ่งสูงขึ้นกว่าในอดีต
สรุปคือเราไม่สมควรเรียกคนวัย 50 ว่า “ลุง” หรือ “แม่เฒ่า” นะครับ เนื่องจากคนวัยนี้เพิ่งก้าวพ้นช่วงวัยรุ่นตอนปลายเข้าสู่วัยกลางคนเองครับ