
13 July 2008
ช่วงนี้ท่านผู้อ่านมีความสุขดีไหมครับ? เชื่อว่าหลายท่านอาจจะถามผมกลับมานะครับว่า ถามคำถามนี้ในช่วงนี้ได้อย่างไร? ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองก็ดูจะวุ่นวาย เงินเฟ้อก็สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากกว่าสองเท่า น้ำมันก็ใกล้สองลิตรร้อย ฯลฯ แล้วเราจะหาความสุขได้จากไหน? ถ้าผมจะบอกว่าความสุขเกิดจากเงิน เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็อาจจะสาปส่งผมอยู่ในใจตอนนี้ก็ได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายท่านอาจจะเถียงว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้
สิ่งที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องของการหาความสุขด้วยเงินครับ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้เงินในการซื้อหรือการแสวงหาความสุขนะครับ แต่เป็นการให้เงินเพื่อทำให้เกิดความสุขครับ จริงอยู่นะครับว่าตามหลักพระพุทธศาสนาเรามีคำสอนในเรื่องของการเมตตา การให้ทาน และคนไทยเราเองก็มีความใจบุญ ทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ อยู่แล้ว แต่คราวนี้ผมไปพบเจองานวิจัยของอาจารย์จาก Harvard และ British Columbia ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เรื่อง Spending Money on Others Promotes Happiness ซึ่งถ้าแปลชื่อเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือการใช้เงินเพื่อผู้อื่นทำให้เรามีสุข
งานวิจัยนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากข้อสงสัยที่ว่าในปัจจุบันคนจำนวนมากต่างพยายามหาหนทางทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองที่มากขึ้น ไม่ว่าจะโดยสุจริตหรือทุจริต เนื่องจากเรามีความเชื่อหรือคิดสมมติฐานว่าการมีเงินมากขึ้น จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งท่านผู้อ่านลองสังเกตบ้างไหมครับว่าจริงๆ แล้วการมีเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่การได้ใช้เงินต่างหากเหล่าที่ทำให้เรามีความสุข ผมรู้จักสุภาพสตรีหลายท่านที่ดูเหมือนว่าจะมีความสุขกับการได้ใช้เงิน (โดยเฉพาะเงินของผู้อื่น) เหมือนกับว่าการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองที่มากขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขหรอก แต่ถ้าเราใช้เงินที่เราหามาได้นั้นอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่างหากที่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข
สิ่งที่นักวิจัยทีมนี้เขาทำก็คือลองไปสำรวจและสังเกตพฤติกรรมในการใช้จ่ายโบนัสที่ได้รับจากบริษัท ว่าพฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินประเภทไหนที่นำความสุขในระยะยาวมาให้กับเจ้าของเงินดังกล่าว ผลการวิจัยที่พบนั้นน่าสนใจครับ นั้นคือพบความจริงว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราใช้เงินในการซื้อของหรือใช้จ่ายไปเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของขวัญให้ผู้อื่น การทำบุญ หรือ การบริจาค และความสุขที่เกิดขึ้นจากการให้ผู้อื่นนั้นช่างมากมายกว่าการใช้เงินในการซื้อของให้ตนเองครับ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือมูลค่าหรือจำนวนเงินที่ใช้ไปไม่ได้ส่งผลต่อความสุขเท่าไร แต่สิ่งที่ส่งผลคือสัดส่วนหรือระดับของการใช้เงินครับ จากการศึกษาเดียวกันพบว่ามูลค่าหรือจำนวนโบนัสที่พนักงานได้รับไม่ได้ส่งผลต่อความสุขในระยะยาวของพนักงานเลย ซึ่งก็เป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจนะครับ เนื่องจากเชื่อว่าทุกๆ คนก็อยากที่จะได้รับโบนัสจำนวนมาก (ผมเคยมีลูกทีมที่ส่งอีเมลประกาศโบนัสของบริษัทต่างๆ ที่ให้กันมากกว่าหกเดือนมาให้เลยครับ – เหมือนจะบอกใบ้) แต่สิ่งที่พบกลับกลายเป็นว่าการได้รับโบนัสก้อนใหญ่หรือเล็กนั้น กลับไม่ได้ส่งผลต่อความสุขในระยะยาวเลย จริงอยู่ว่าการได้รับโบนัสที่มากนั้นอาจจะทำให้เรารู้สึกดีใจหรือมีความสุขได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ระยะยาวแล้วขนาดของโบนัสกลับไม่ได้ส่งผลต่อความสุขเท่าที่ควร
จากงานวิจัยข้างต้นความสุขนั้นเกิดขึ้นจากการใช้เงินที่ได้รับมานั้นให้กับหรือเพื่อผู้อื่นมากกว่า การใช้เงินเพื่อผู้อื่นที่มีจำนวนไม่มากเพียงห้าเหรียญสหรัฐ หรือ เพียงร้อยกว่าบาท ก็ส่งผลให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้แล้ว ดังนั้นการที่คนเราจะมีความสุขได้นั้นไม่จำเป็นต้องมีเงินถุงเงินถังแล้วบริจาคเงินปีละมากมาย การใช้เงินเพียงแค่ร้อยกว่าบาทเพื่อผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของให้ผู้อื่น การบริจาค หรือ ทำบุญ) ก็ทำให้เรามีความสุขได้แล้วครับ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่ารวยหรือจน ถ้าเพียงเรารู้จักที่จะใช้เงินเพื่อผู้อื่นบ้าง ความสุขก็ย่อมจะเกิดแล้ว
ดังนั้นท่านที่ทำงานอย่างหนัก (ไม่ว่าสุจริตหรือทุจริต) เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น จริงๆ แล้วท่านอาจจะไม่ได้มีความสุขที่แท้จริงหรอกครับ แต่ความสุขดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อท่านได้ใช้เงินที่ท่านแสวงหามานั้นเพื่อผู้อื่นบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ก็สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสตร์หลายๆ ประการนะครับ ดังนั้นท่านผู้อ่านอย่ามัวแต่แสวงหาเงินมาอย่างเดียวนะครับ ความสุขที่แท้จริงนั้นอาจจะอยู่ที่การได้ใช้เงินที่หามานั้นเพื่อผู้อื่นเสียบ้าง
ก่อนจบท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่าข้อมูลข้างต้นเป็นผลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเท่านั้น และบทความนี้ก็ชื่อ “มองมุมใหม่” อยู่แล้วนะครับ เราอย่าไปยึดติดหรือติดอยู่ในกับดักของการคิดแบบเดิมๆ นะครับ และขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์เช่นเดิมครับ เนื่องจากปีนี้ที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ดังนั้นจะมีงานสัมมนาวิชาการใหญ่ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยมีคณาจารย์และศิษย์เก่ามานำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติใหม่ๆ ทางด้านการบริหารจัดการครับ สนใจก็ลองโทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ