Photo by Braden Jarvis on Unsplash

6 January 2008

จากการที่ในปัจจุบันมีกระแสความตื่นตัวในเรื่องของนวัตกรรมในการบริหารองค์กรกันอย่างมาก กับในช่วงนี้ที่เรากำลังรอผลการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ ก็ทำให้ผมได้คิดเหมือนกันนะครับว่ารัฐบาลใหม่จะนำนวัตกรรมดีๆ มาสู่ประเทศไทยกันได้บ้างไหม? ก่อนอื่นนั้นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับว่านวัตกรรมไม่ได้หมายถึงแค่นวัตกรรมในสินค้าและบริการอย่างเดียวนะครับ กระบวนการบริหารจัดการก็ต้องมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันครับ นักวิชาการทางการจัดการชื่อดัง Gary Hamel ก็เขียนหนังสือชื่อ The Future of Management ขึ้นมา โดยเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการจัดการหรือ Management Innovation กันมากขึ้น

นอกจากนี้ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นนะครับว่านวัตกรรมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านสินค้า บริการ การจัดการ หรือ กลยุทธ์ ทำให้เริ่มเกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าการที่ประเทศจะพัฒนาและก้าวหน้าได้นั้น นวัตกรรมน่าจะมีบทบาทและความสำคัญอยู่พอสมควร ซึ่งนวัตกรรมของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ก็พูดถึงกันเยอะแล้ว และมีหน่วยงานรับผิดชอบกันพอสมควร

แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญและยังละเลยกันอยู่คือนวัตกรรมในการบริหารประเทศครับ ถ้าเปรียบเทียบประเทศเหมือนกับองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง ถ้าองค์กรธุรกิจจะประสบความสำเร็จและเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้ นวัตกรรมทางการจัดการเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วถ้าประเทศไทยต้องการจะเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ นวัตกรรมในการบริหารประเทศก็น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ถ้านวัตกรรมในการบริหารประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเราควรจะเริ่มต้นจากที่ใดครับ? ผมว่าจะเริ่มต้นนวัตกรรมในการบริหารประเทศได้ ต้องเริ่มจากระดับสูงสุดคือรัฐบาลก่อนครับ ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่เรากำลังจะได้ในเร็ววันนี้ (ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะมาก็แล้วแต่) น่าจะต้องเริ่มคิดนะครับว่าจะนำหลักเรื่องนวัตกรรมมาปรับใช้กับการบริหารประเทศได้อย่างไร?

ผมมาลองคิดดูนะครับว่ารัฐบาลใหม่จะช่วยในการนวัตกรรมประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง ก็คงต้องเริ่มจาก การเลือกคนเข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากถ้าต้องการนวัตกรรมประเทศไทยแล้ว คงจะต้องทำในหลายๆ ด้านพร้อมกันครับ บรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลถือเป็นกลไกที่สำคัญมากครับ เนื่องจากนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ตัวผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานถือเป็นปัจจัยสำคัญครับ

รัฐบาลใหม่จะต้องแถลงนโยบายและแผนบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภาฯ ซึ่งตัวนโยบายและแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นแผนยุทธศาสตร์หรือแผนกลยุทธ์ของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินเลยครับ เนื่องจากนโยบายและแผนบริหารราชการแผ่นดินนี้ จะต้องถูกถ่ายทอดเป็นแผนปฏิบัติราชการของหน่วยราชการต่างๆ ต่อไป จะดูว่ารัฐบาลใหม่มีเจตนานวัตกรรมประเทศไทยมากน้อยเพียงไหน ก็ดูที่นโยบายและแผนบริหารราชการนั้นแหละครับ หวังว่านโยบายและแผนบริหารฯ ที่จะเกิดขึ้นนั้นสะท้อนเจตนารมย์ของรัฐบาลใหม่ในการนวัตกรรมประเทศไทยนะครับ

นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ก็ควรจะเริ่มต้นนวัตกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศด้วยเช่นเดียวกันนะครับ รัฐบาลใหม่อยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต (อย่างน้อยก็สี่ปีข้างหน้า) ก็ต้องเริ่มคิดนะครับ ไม่ใช่ปล่อยให้ถอยหลังลงไปเรื่อยๆ แต่ก่อนผมจำได้ว่าเวลาพูดถึงคู่แข่งของประเทศไทยก็จะนึกถึงสิงค์โปร์ แล้วก็ขยับมาเป็นมาเลเซีย ในปัจจุบันก็เป็นเวียดนาม ทำให้ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าในอีกสิบปีข้างหน้าจะกลายเป็นประเทศใดต่อไป ถ้าประเทศไทยจะสร้างความโดดเด่นและแตกต่างในสนามการแข่งขันระดับโลก ประเทศไทยจะมุ่งเน้นในด้านไหน? ก็ได้แต่เฝ้าภาวนานะครับว่าคำตอบเหล่านี้จะมีในรัฐบาลชุดใหม่

เคยมีบางท่านท้วงผมเหมือนกันว่า หลักวิชาการในเรื่องของนวัตกรรมประเทศนั้นเป็นหลักวิชาการบนแผ่นกระดาษ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย แต่ผมคิดว่าทุกอย่างก็มีข้อจำกัดทั้งนั้นครับ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศนั้นจะกล้าทำหรือไม่เท่านั้นเอง นวัตกรรมหรือการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ นั้นต้องอาศัยความกล้าของตัวผู้บริหารนะครับ เริ่มตั้งแต่การกล้าที่คิด กล้าที่จะทำ และกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ทำไมองค์กรธุรกิจระดับโลกถึงริเริ่มและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมได้ แล้วทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้ ผมคิดว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบหรือข้อจำกัดหรอกครับ ขึ้นอยู่กับความกล้าที่จะคิด จะทำ รวมทั้งเห็นถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญครับ