resource: Proxsis Group

21 June 2006

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เริ่มต้นไว้เกี่ยวกับการศึกษาประสบการณ์ในการพัฒนาและนำ BSC มาใช้จากองค์กรที่นำ BSC มาใช้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คือพวกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในหอเกียรติยศของการทำ BSC หรือ Balanced Scorecard Hall of Fame (BSC HoF) โดย Robert Kaplan และ David Norton สองผู้คิดค้นเรื่อง BSC เขาได้ศึกษาในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับ BSC HoF และพยายามสร้างแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best Practices ขึ้นมา โดยสรุปเป็นหลักการที่พวกเขาเรียกว่า Strategy Focused Organization (SFO) โดยประกอบด้วยแนวคิดหลักๆ ห้าประการ ได้แก่ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยผู้นำ การแปลงกลยุทธ์สู่สิ่งที่สามารถเข้าใจได้ การทำให้ทั้งองค์กรมีความเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน การทำให้กลยุทธ์เป็นงานของทุกๆ คน และ การทำให้การบริหารกลยุทธ์เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง

            เนื้อหาในสัปดาห์นี้จะขอลงรายละเอียดในแต่ละแนวคิดนะ เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้มีแนวทางในการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างองค์กรของท่านเอง กับแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นเลิศ

            ภายใต้แนวทางแรก การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยผู้นำ หรือ Mobilize Change Through Executive Leadership ทั้งนี้เนื่องจากในการนำ BSC มาใช้นั้น หลายๆ องค์กรนำมาใช้ โดยขาดจุดเริ่มต้นหรือสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งจริงๆ แล้วในการนำ BSC มาใช้นั้นก็เปรียบเสมือนการบริหารการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแนวคิดในการบริหารการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการนำ BSC มาใช้ หลักการสำคัญคือ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องผลักดัน สนับสนุนและเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสาเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงจะต้องชัดเจน อีกทั้งทีมผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นองค์กรจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าภายในแนวทางประการแรกนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัว BSC เท่าใดนะครับ แต่การที่จะนำ BSC มาใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้น บทบาทของผู้บริหารระดับสูงมีความสำคัญ รวมทั้งควรจะนำแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงเข้ามาใช้ร่วมในการนำ BSC มาปฏิบัติ

            แนวทางที่สองคือการแปลงกลยุทธ์ไปสู่สิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่าย หรือ Translate strategy into operational terms เนื่องจากการจะทำให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าใจในกลยุทธ์ แต่เนื่องจากเวลาองค์กรต่างๆ เขียนกลยุทธ์ มักจะเขียนในแบบที่ยากที่บุคลากรทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจว่าจะต้องทำหรือปฏิบัติในสิ่งใดบ้าง ดังนั้นการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธืจึงควรเริ่มต้นจากการพัฒนาแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) การกำหนดตัวชี้วัด ตามมุมมองต่างๆ การตั้งเป้าหมาย โดยภายใต้แนวทางนี้ก็คือตัวแก่นหลักพื้นฐานของการทำ BSC ในปัจจุบัน โดยเป็นการอาศัยแผนที่กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย เป็นเครื่องมือในการแปลงกลยุทธ์ไปสู่ภาษาที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

            แนวทางที่สาม คือ การทำให้ทั้งองค์กรมีความเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน หรือ Align the organization to the strategy ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของหลายๆ องค์กรครับ นั้นคือการทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและระดับต่างๆ ในองค์กร จะสังเกตได้ว่าในองค์กรจำนวนมากที่การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ไม่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้นที่กลยุทธ์ จะต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในลักษณะและรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ขององค์กรกับหน่วยงานหลัก ระหว่างหน่วยงานหลักกับหน่วยงานเสริมต่างๆ ระหว่างหน่วยงานหลักกับพันธมิตรภายนอก หรือ แม้กระทั่งความเชื่อมโยงระหว่างกรรมการบริษัทกับกลยุทธ์ของบริษัท ภายใต้แนวคิดนี้จะเชื่อมโยงระหว่างแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกันผ่านทางการจัดทำแผนที่กลยุทธ์ของแต่ละหน่วยงานย่อย ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาถึงขั้นการเขียนแผนที่กลยุทธ์ของคณะกรรมการบริษัทกันแล้วครับ

            แนวทางที่สี่คือ การทำให้กลยุทธ์เป็นงานของทุกๆ คน หรือ Motivate to make strategy everyone’s job ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่สำคัญของการบริหารกลยุทธ์คือ ผู้บริหารระดับต้น กลาง และผู้ปฏิบัติมักจะไม่ค่อยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง รับรู้ หรือเป็นผู้ผลักดันในตัวกลยุทธ์เท่าใด เรามักจะนึกว่ากลยุทธ์เป็นของผู้บริหารระดับสูงเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในการทำให้กลยุทธ์เป็นเรื่องที่ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างการรับรู้ในกลยุทธ์ของบุคลากรทุกระดับ โดยการสื่อสารกลยุทธ์ไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้บุคลากรแต่ละคนควรจะมีการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ที่มีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ รวมทั้งผูกเข้ากับระบบการจูงใจ และเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ ก็จะต้องมีแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะ และความสามารถของบุคลากรที่สอดคล้องกับกลยุทธ์

            แนวทางที่ห้า คือ การทำให้กระบวนการในการบริหารกลยุทธ์เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง หรือ Govern to make strategy a continual process เนื่องจากปัญหาที่หลายๆ องค์กรเผชิญก็คือกระบวนการในการบริหารกลยุทธ์มักจะเป็นกระบวนการที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่การจะบริหารกลยุทธ์ให้เกิดผลนั้นจะต้องเป็นกระบวนการในการบริหารที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่มีการทบทวนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ มีการรายงานผลการดำเนินงานตาม BSC มีความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์และงบประมาณ มีการบริหารงบลงทุนทางด้านกลยุทธ์แยกออกมาอย่างชัดเจน มีการแบ่งปันความรู้หรือแนวทางปฏิบัติที่สำคัญภายในองค์กร และ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารกลยุทธ์ (หรือหน่วยบริหารกลยุทธ์) ที่ชัดเจน

            ท่านผู้อ่านลองนำรายละเอียดของแนวทางทั้งห้าประการไปศึกษาเปรียบเทียบกับการนำ BSC มาใช้ในองค์กรของท่านดูนะครับ เผื่อที่จะได้เรียนรู้จากแนวทางที่เป็นเลิศ ขององค์กรที่นำ BSC ไปใช้จนประสบผลสำเร็จครับ