19 November 2006
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าอารมณ์หรือความรู้สึกจากบุคคลคนหนึ่งสามารถสื่อถึงคนอื่นที่อยู่รอบๆ ได้ ลองสังเกตดูซิครับว่าคนที่เป็นผู้นำบางคนสามารถที่จะปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ตามได้อย่างเก่งกาจเพียงใด หรือ เมื่อเราดูทีวีที่เป็นเรื่องเศร้า เราก็มักจะเศร้าตาม หรือ บ่อยครั้งที่เราเจอคนอารมณ์เสียใส่เรา ก็พลอยทำให้อารมณ์ของเราขุ่นมัวด้วย หรือ ถ้าเราเจอใครที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เราก็จะพลอยรู้สึกสดชื่นไปด้วย นอกจากนี้ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าพอถึงตอนเย็นของแต่ละวันเราจะรู้สึกดีหรือรู้สึกแย่นั้น เกิดขึ้นจากผลรวมของอารมรณ์ที่เราได้รับจากคนรอบข้างในแต่ละวันหรือไม่? ถ้าในวันไหนเราเจอแต่เรื่องดีๆ เจอคนอารมณ์ดีๆ กับเราตลอด พอถึงตอนเย็นเราก็จะรู้สึกดีด้วย แต่ถ้าเจอแต่คนอารมณ์หงุดหงิดใส่เราตลอด พอถึงตอนเย็นเราก็พลอยหงุดหงิดไปด้วย
ผมมองว่าเรื่องของอารมรณ์ที่สื่อถึงกันของแต่ละคนเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ และสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกวิชาชีพ นอกจากนี้ก็เป็นสิ่งที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้ใส่ใจเท่านั้นเอง ตัวอย่างง่ายๆ ก็เวลาไปซื้อของตามพวกตลาดนัดต่างๆ ก็ได้ครับ ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปทั้งคนซื้อและคนขายว่า ร้านไหนที่พ่อค้า แม่ค้า หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ร้านนั้นก็จะเรียกลูกค้าได้ตลอด แต่ถ้าร้านไหนคนขายหน้าบึ้ง ก็ไม่มีคนอยากจะไปซื้อของกับร้านนั้น (ยกเว้นจำเป็นจริงๆ) จากตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นอาจจะกล่าวได้ว่าการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมประเภทหนึ่ง ที่นอกเหนือจากจะต้องการการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมแล้ว อารมณ์ของคนในสังคมก็สามารถถ่ายทอดถึงกันได้ และถ้าเราได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เราก็น่าจะใช้ประโยชน์จากเรื่องของอารมณ์ที่สื่อถึงกันให้เป็นประโยชน์กับวิชาชีพเราได้นะครับ
ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าแนวคิดในเรื่องของอารมณ์ที่สื่อถึงกันนั้น ท่านจะสามารถนำมาใช้กับอาชีพของท่านเองได้อย่างไร? อย่างของผมเองนั้นอาชีพหลักคือการสอนหนังสือ สิ่งที่พบได้ทั้งในฐานะที่เป็นอาจารย์และผู้เรียนคือ อารมณ์ของผู้สอนนั้นสามารถส่งถึงอารมณ์ของผู้เรียนได้อย่างดีเลยครับ วันไหนถ้าผู้สอนอารมณ์ไม่ดีเข้าไปสอนหนังสือ ก็จะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนอึมครึมไปด้วย แต่ถ้าอาจารย์ท่านไหน อารมณ์ดี ก็จะทำให้บรรยากาศในห้องผ่อนคลายไปด้วย
ที่ผมนำเสนอมาทั้งหมดข้างต้นนั้นอาจจะมาจากข้อสังเกตหรือสิ่งที่เราพบเห็นทั่วๆ ไป แต่ในปัจจุบันก็ได้มีความพยายามของนักวิชาการในการหาข้อมูลและข้อพิสูจน์ทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนแล้วครับ โดย Daniel Goleman (คนแรกที่เขียนหนังสือเรื่อง Emotional Intelligence) ได้เขียนหนังสือออกมาอีกเล่มหนึ่งครับชื่อ Social Intelligence (มีขายที่ร้าน Kinokuniya ครับ) โดยในหนังสือเล่มนี้ Goleman ได้รวบรวมบรรดางานวิจัยและงานค้นคว้าในด้าน Neuroscience ซึ่งเป็นการศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองคนเราครับ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการค้นพบใหม่ๆ ในด้าน Neuroscience โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงานของสมองเราที่เชื่อมโยงกับสมองของผู้อื่นครับ เช่น ได้มีการพบเซลประสาทชนิดใหม่ที่เรียกว่า Mirror Neurons ที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ว่าบุคคลอื่นจะทำการเคลื่อนไหวหรือมีอารมณ์อย่างไร แล้วก็เตรียมตัวเรา ที่จะลอกเลียนแบบการเคลื่อนไหวและอารมณ์ดังกล่าว
ตอนที่ Goleman เขียนหนังสือ Emotional Intelligence จนโด่งดังนั้น เขามุ่งเน้นที่ความสามารถที่แต่ละคนในการบริหารอารมณ์และความรู้สึกภายในเพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี แต่พอมาเป็นหนังสือเรื่อง Social Intelligence นั้น Goleman เขามองภาพกว้างขึ้นไปอีกครับ โดยเน้นถึงความเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมทั้งแนวทางในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าครับ เรามาดูเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้กันนะครับ
Goleman ระบุเลยครับว่าอารมณ์ของมนุษย์นั้นสามารถติดต่อกันได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี หรือ อารมณ์เสีย ล้วนแล้วแต่สามารถติดต่อระหว่างกันได้ทั้งสิ้น และยิ่งการที่เรามีการเข้าสังคม ต้องพบปะผู้คนตลอดเวลา อารมณ์ของแต่ละคนก็ยิ่งมีการส่งถึงกันมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการก็คือในสังคมปัจจุบันมีปัจจัยที่กระตุ้นหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์เยอะพอสมควรครับ ปัจจัยหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น การฟังรายการวิทยุ หรือ แม้กระทั่งการเห็นใบหน้าของบุคคลอื่น ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าเพียงแค่การได้เห็นใบหน้าของบุคคลอื่นไม่ว่าจะเห็นตัวจริง หรือ เห็นภาพถ่าย ก็สามารถกระตุ้นหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ของเราได้ นึกภาพง่ายๆ ครับ เพียงแค่เราเห็นคนยิ้มหรือหัวเราะ เราก็มักจะพลอยเบิกบานไปด้วย และยิ่งถ้าเป็นคนที่อ่อนไหวเท่าใดก็จะยิ่งรับสัญญาณ หรือ สิ่งกระตุ้นเหล่านี้ได้ดีกว่าปกติครับ
สัปดาห์นี้เราเริ่มต้นไว้ก่อนนะครับว่าเราสามารถส่งต่ออารมณ์ของเราและรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นได้ ท่านผู้อ่านลองสังเกตรอบๆ ตัวท่านนะครับว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวบ่อยมากน้อยแค่ไหน และยิ่งถ้าเราเป็นคนที่แสดงออกทางอารมณ์มากกว่าผู้อื่น สัญญาณที่ส่งออกไปก็จะแรงกว่าผู้ที่ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์เท่าใด แล้วสัปดาห์หน้าเราจะมาดูเนื้อหาที่น่าสนใจของ Social Intelligence กันต่อนะครับ