17 December 2006

ในสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอเรื่องของความฉลาดทางสังคม หรือ Social Intelligence ซึ่งได้นำมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Daniel Goleman ครับ จริงๆ แล้วเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในการรวบรวมผลการทดลองหรือข้อพิสูจน์ต่างๆ ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของสมองเรา ซึ่งแสดงให้เห็นความสมองของเราแต่ละคนนั้นมีการติดต่อและปฏิสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ และผลจากการค้นพบต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้ได้แนวทางในการที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเราขึ้นมาได้ ซึ่งผมมองว่าจากสถานการณ์ในสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ต้องการความสมานฉันท์ ความเข้าใจ และความเห็นใจร่วมกันในทุกระดับ เป็นสิ่งที่จำเป็น และถ้าเราแต่ละคนสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเราให้ดีขึ้นมาได้ ย่อมควรที่จะนำไปสู่สังคมที่มีแต่สันติสุขมากขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นนำเสนอองค์ประกอบของความฉลาดทางสังคมในประเด็นแรกไว้แล้ว นั้นคือที่เราเรียกกันว่า Social Awareness หรือการรับรู้ทางสังคม ที่เราแต่ละคนควรจะมีความสามารถในการรับรู้ ตระหนัก และเข้าใจต่อ ความรู้สึก อารมณ์ของบุคคลแต่ละคนในสังคมรอบๆ ตัวเรา รวมทั้งเข้าใจต่อสถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งการรับรู้ต่อสังคมนั้นเป็นเพียงแค่ขั้นตอนแรกครับ ถ้าเรามีแต่การรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการกระทำเกิดขึ้น ก็จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้นในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอในองค์ประกอบประการที่สองของความฉลาดทางสังคม นั้นแก่ได้เรื่องของ Social Facility หรือ ปฏิสัมพันธ์ที่แต่ละบุคคลแสดงออกระหว่างกันและกัน ซึ่งสุดท้ายท่านผู้อ่านจะพบนะครับว่าถ้าเรามีความฉลาดทางสังคมตามปัจจัยต่างๆ ที่ควรจะมีนั้น สุดท้ายแล้ว สังคมคงจะดีขึ้นแน่นอนครับ

ปัจจัยประการแรกเริ่มต้นจาก Synchrony หรือ การที่บุคคลสองบุคคลได้มีปฏิกริยาของร่างกายที่สอดคล้องไปในจังหวะเดียวกัน อ่านดูอาจจะงงๆ นะครับ แต่ท่านผู้อ่านสังเกตซิครับว่าทำไมเมื่อชายหญิงเต้นรำกัน ไม่ว่าจะเป็นเต้นเร็ว หรือ เต้นช้า การเคลื่อนไหวร่างกายของทั้งสองคนจะไปในจังหวะเดียวกันและไม่ค่อยมีการขัดแข้งขัดขากัน นอกจากนี้คนที่มีความฉลาดทางสังคมในด้านนี้จะสามารถจับปฏิกริยาของคู่สนทนาได้อย่างดี แต่พวกที่มีปัญหาในด้านนี้มักจะไม่สามารถอ่านปฏิกริยาหรืออวัจนะภาษาที่อีกฝ่ายสามารถแสดงออกมาได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราสนทนากับคู่สนทนามาระยะหนึ่งและเราต้องการจบการสนทนา เราก็มักจะลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราจะไป หรือ เริ่มมองนาฬิกาบ่อยๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีนัดต่อไป ซึ่งคนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะเข้าใจในอวัจนะภาษาที่เราแสดงออก แต่พวกที่มีความฉลาดทางสังคมในด้านนี้ต่ำจะไม่สามารถอ่านภาษากายเหล่านี้ได้ครับ จะเจออยู่หลายครั้งที่เพียงแค่การแสดงกริยาทางร่างกายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราถึงขั้นต้องเอ่ยปากเลย

ทักษะประการที่สองคือ Self-Presentation ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงออกของแต่ละบุคคล คนบางคนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสดงอารมณ์หรือถ่ายทอดอารมณ์ให้ผู้อื่นรับรู้ได้ดี และคนรอบข้าง ก็จะมีความใจในอารมณ์ของคนเหล่านี้ได้ดี เช่น พวกนักแสดงที่เก่งๆ หรือ นักพูดเก่งๆ หรือแม้กระทั่งอาจารย์เก่งๆ คนพวกนี้จะสามารถแสดงออกทางอารมณ์ที่เก่ง รู้จักที่จะแสดงอารมณ์ในแต่ละแบบในจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่การแสดงอารมณ์พร่ำเพร่อก็ไม่ดีนะครับ เราจะต้องรู้จักที่จะควบคุมอารมณ์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะรู้จักที่จะแสดงหรือควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

ทักษะประการที่สามคือ Influence หรือความสามารถในการชี้นำพฤติกรรมหรือการกระทำผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่ต่อเนื่องจาก Self-Presentation คนที่มีทักษะในด้าน Influence ที่ดีๆ จะมีความสามารถในการรับรู้ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และใช้ความสามารถส่วนตัวในการชี้นำพฤติกรรมหรืออารมณ์ของบุคคลที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ลองสังเกตพวกผู้บริหารหลายๆ ท่านซิครับ ว่าเมื่อผลการทำงานของลูกน้องออกมาไม่ดี ผู้บริหารพวกนี้จะแสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจออกมา เพื่อชี้นำและกระตุ้นลูกน้อง เพื่อให้รับทราบถึงความไม่พอใจของตนเอง และเพื่อทำให้ลูกน้องได้ปรับปรุงการทำงานของตนเอง เราลองสังเกตดูนะครับ ผู้บริหารประเภทนี้จะมีความฉลาดทางสังคมที่ดี รู้จักที่จะแสดงออกถึงอารมณ์ในลักษณะและรูปแบบต่างๆ เพื่อชี้นำให้บุคลากรปฏิบัติตามที่ตนเองต้องการ

ปัจจัยประการที่สี่คือ Concern หรือการคำนึงถึงผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเราได้รับรู้ในอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นแล้ว เราจะพบว่าหลายๆ คนยังประสบกับปัญหา หรือ มีเรื่องทุกข์ใจอยู่ ดังนั้นความฉลาดทางอารมณ์ประเภทสุดท้าย ก็คือ การคำนึงถึงผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักที่จะช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังมีปัญหา

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเราทุกคนสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมในแต่ละด้านออกมาได้ คงจะทำให้ทั้งตัวเราและสังคมที่เราอาศัยอยู่มีความสุขขึ้นมาอีกเยอะนะครับ เพียงแต่คำถามสำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเราขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านสนใจศึกษาต่อในรายละเอียดก็ลองหาหนังสือของ Daniel Goleman ได้นะครับ ผมเองซื้อมาจาก ร้านคิโนคุนิยา ครับ