7 September 2005

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมซื้อมาตั้งแต่ช่วงเมษายนแต่เพิ่งมีโอกาสเปิดอ่านไม่นานมานี้ และเห็นหลายๆ คนเริ่มพูดถึงหนังสือเล่มนี้กันมากขึ้น เลยขออนุญาตนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันนะครับ หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อ Making Stratgy Work เขียนโดย Lawrence G. Hrebiniak ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ Wharton School ที่มหาวิทยาลัย Pennsylavania สหรัฐ ซึ่งพอดูชื่อหนังสือเล่มนี้แล้วก็คงพอจะเดาได้เลยนะครับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือทางด้านการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นออกมากันมากขึ้น เล่มที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง Execution ที่เขียนโดย Larry Bossidy กับ Ram Charan ก็คงต้องมาดูนะครับว่าหนังสือ Making Strategy Work จะออกมาโด่งดังเท่า Execution หรือไม่?

ทีนี้ก่อนที่จะลงไปดูในรายละเอียดเรามาดูกันก่อนนะครับว่าอะไรคือปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผล (เนื้อหาเหล่านี้เรียบเรียงจากหนังสือเล่มดังกล่าวบวกกับความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ดังนั้นคงจะไม่ใช่เป็นการแปลจากหนังสือโดยตรงครับ)

ประการแรกก็คือผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพัฒนาในเรื่องของการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ ถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในองค์กรที่มีระบบในการพัฒนาผู้บริหารที่ดีก็จะพบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่นั้นได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีในกระบวนการในการวางแผนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ทางกลยุทธ์ การกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ และพันธกิจ รวมถึงการเขียนแผน ไม่ว่าจะเป็นแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ หรืองบประมาณ แต่การนำแผนเหล่านั้นไปปฏิบัตินั้นไม่ได้มีหลักสูตรหรือวิชาที่สอนอย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูบรรดาวิชาต่างๆ ในหลักสูตร MBA ท่านผู้อ่านก็จะพบนะครับว่ามีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียด วิชาเกี่ยวกับการวางแผนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การเงิน สุดท้ายก็มักจะปิดท้ายกันด้วยการวางแผนกลยุทธ์ ส่วนเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นมักจะถูกแทรกเป็นประเด็นเล็กๆ อยู่ตามวิชาอื่นๆ โดยไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ซึ่งกรณีข้างต้นนั้นเป็นตัวอย่างขององค์กรที่มีระบบในการพัฒนาผู้บริหารที่ดีหรือผู้ที่ผ่านหลักสูตร MBA นะครับ แต่ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่าในชีวิตจริงนั้นยังมีองค์กรอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีระบบในการพัฒนาผู้บริหารที่ดี หรือ ผู้บริหารไม่ได้ผ่าน MBA ในบางองค์กรนั้นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาของตนเองจำต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร บางคนอาจจะมีพื้นฐานเป็นวิศวกร หรือ นักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ มาตลอดชีวิตการทำงาน ดังนั้นพอก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว อย่าว่าแต่การแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติเลยครับ การวางแผนกลยุทธ์เองก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์และความรู้ที่เพียงพอ ซึ่งจะโทษผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่ถูกนะครับ คงจะต้องหันกลับมาพิจารณาหลักสูตรทางด้านบริหารกันใหม่ รวมทั้งองค์กรต่างๆ ก็ต้องเห็นความสำคัญของการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ และเตรียมความพร้อมของผู้บริหารตนเองอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาประการที่สองในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติก็คือ ผู้บริหารระดับสูงส่วนมาก มักจะนึกว่าการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารระดับกลางและระดับล่าง โดยตนเองในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูง จึงมีหน้าที่เพียงแค่การวางกลยุทธ์และการกำกับติดตามเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมกับระดับกลางและล่างเท่าไหร่นะครับ เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงก็คิดอย่างบรรเจิดและสร้างสรรค์ถึงกลยุทธ์ต่างๆ อย่างสนุกสนาน พอคิดเสร็จก็ส่งต่อให้ระดับกลางและระดับล่างไปปฏิบัติ และถ้าเกิดกลยุทธ์ไม่สามารถปฏิบัติได้หรือล้มเหลวขึ้นมา ความผิดพลาดก็มักจะตกอยู่กับผู้ปฏิบัติมากกว่าผู้วางแผน เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลครับ ถ้าโค้ชวางแผนมาอย่างดีแล้ว นักเตะขอให้เตะได้ตามแผน แต่ถ้าแพ้ขึ้นมาเมื่อใด ความผิดพลาดก็จะอยู่กับนักเตะที่ไม่สามารถเตะได้ตามแผนของโค้ช (เชื่อว่านักเตะหลายๆ คนคงจะถามในใจว่า ถ้าวางแผนดีนัก ทำไมไม่ลงมาเล่นเองบ้าง!)

จริงอยู่นะครับที่ในทุกองค์กรคงจะต้องมีระดับความแตกต่างระหว่างกลุ่มบุคคลที่วางแผน กับผู้ที่นำแผนไปปฏิบัติ แต่เพื่อที่จะทำให้กลยุทธ์เกิดความสำเร็จได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือและร่วมใจของคนทั้งองค์กรตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงมา เนื่องจากว่าในสถานการณ์ส่วนใหญ่การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นย่อมหนีไม่พ้นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จนั้นตัวผู้บริหารระดับสูงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระดับกลางและล่างเพียงอย่างเดียว

ปัญหาประการที่สาม จะต่อเนื่องจากประการที่สองครับ นั้นคือเรามักจะมองการวางกลยุทธ์กับการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอน ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วนะครับว่าทั้งการวางกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบและเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นกลยุทธ์จะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อผู้ที่เป็นผู้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน และยิ่งเข้ามามีส่วนร่วมมากเท่าใด โอกาสที่กลยุทธ์จะประสบความสำเร็จก็มีมากเท่านั้น ปัญหาที่มักจะเจอก็คือผู้ที่นำแผนไปปฏิบัตินั้นมักจะไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผน การดึงผู้ปฏิบัติให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นนั้น ทำให้ในขณะที่วางแผนนั้นได้เกิดการร่วมกันคิดไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติเลยว่าจะนำแผนนั้นไปปฏิบัติอย่างไร ปัญหาที่จะเผชิญมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ไม่สนใจเรื่องการปฏิบัติ และคิดแต่ว่า “เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ภายหน้า ปัจจุบันวางแผนให้เสร็จก่อน” การคิดเรื่องการปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการกำหนดกลยุทธ์นั้น ทำให้การวางกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติสามารถกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน (ซึ่งก็คือการบริหารกลยุทธ์) ได้

สิ่งที่มักจะถูกละเลยในขณะวางกลยุทธ์ก็คือปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะเผชิญเมื่อนำกลยุทธ์ดังกล่าวไปปฏิบัติ เวลาเราวางกลยุทธ์เราก็มักจะเข้าข้างตัวเองและคิดในแง่ดี (เป็นภาพความฝันที่อยากจะให้เกิดในอนาคต) ดังนั้นเราจึงมักจะละเลยถึงปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำความฝันนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ เรียกได้ว่าไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของคน วัฒนธรรม หรือโครงสร้างองค์กร

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอปัญหาสามประการเบื้องต้นจากหนังสือ Making Strategy Work ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้ามาต่อในปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้กลยุทธ์ไม่สามารถเกิดการปฏิบัติได้ครับ