14 August 2006
ในปัจจุบันมีแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำประการหนึ่งที่น่าสนใจครับ เรียกว่า Servant Leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ โดยแนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Robert K. Greenleaf ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของ AT&T โดยในปัจจุบัน Greenleaf ได้เสียชีวิตไปสิบกว่าปีแล้ว แต่แนวคิดเกี่ยวกับ Servant Leadership ที่เขาพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 นั้นกลับได้รับการกล่าวถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน และตัว Greenleaf เองก็ได้รับการยกย่องให้เทียบเท่านักคิดทางด้านผู้นำหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น Douglas McGregor หรือ Peter Drucker (ตามความเห็นของ Warren Bennis กูรูทางด้านภาวะผู้นำในปัจจุบัน) แต่ก็น่าแปลกใจนะครับที่ในต่างประเทศเขาสนใจแนวคิดเรื่อง Servant Leadership กันมาก จนถึงขั้นมีการตั้ง Greenleaf Center for Servant Leadership ขึ้นมาและมีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในประเทศไทยนั้นกลับไม่ค่อยเป็นที่กล่าวขวัญหรือพูดถึงกันเท่าใด หรือไม่รู้ว่าพอบรรดาผู้นำของเราได้ยินคำว่า Servant Leadership ปุ๊บ จะนึกว่าตนเองต้องมาเป็นผู้รับใช้ลูกน้องหรือเปล่า?
Robert Greenleaf ระบุไว้เลยครับว่า Servant Leader นั้น เริ่มต้นจากการรับใช้ (เขาใช้คำว่า Servant ครับ) ก่อนเลยครับ โดยผู้บริหารที่เป็น Servant Leader นั้นจะต้องมีความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นก่อน และจากความรู้สึกดังกล่าวถึงอยากจะเป็นผู้นำ ซึ่งจะต่างผู้นำที่ไม่ได้เป็น Servant Leader นะครับ โดยผู้นำทั่วๆ ไปนั้นจะคิดถึงการได้ขึ้นมาสั่งการ ชี้นำ มีอำนาจ ก่อนที่จะคิดช่วยเหลือหรือรับใช้ผู้อื่น Greenleaf ระบุอีกนะครับว่าจะรู้ว่าผู้นำที่เป็น Servant Leader ประสบผลหรือไม่ ก็คือคนที่ผู้นำช่วยเหลือและรับใช้นั้น (หรือผู้ใต้บังคับบัญชา) เติบโตและพัฒนาขึ้นในด้านต่างๆ หรือไม่? และสุดท้ายบุคคลผู้นั้นก็จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้รับใช้คนอื่นต่อไป
ผู้นำที่เป็น Servant Leader นั้น จะไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้นำประเภท ข้ามาคนเดียว ข้าเก่งคนเดียวครับ แต่ผู้นำประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาหรือยกระดับผู้อื่นในทีมของตนและประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นทีมเดียวกัน ผู้นำประเภทนี้จะให้บุคคลอื่นๆ ในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมตามหลักจริยธรรม และการเอาใจใส่ผู้อื่น และประเด็นสำคัญคือผู้นำในลักษณะนี้ให้ความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการของบุคคลอื่นในองค์กร โดยในขณะเดียวกันก็เอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร
ท่านผู้อ่านอาจจะบอกว่าหลักการต่างๆ ข้างต้นไม่ใหม่นะครับ ซึ่งก็จริงครับ ถ้าย้อนกลับไปดูพระศาสดาของศาสนาต่างๆ หรือ รวมทั้งพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายพระองค์ ท่านก็ต่างมีลักษณะของความเป็น Servant Leader ทั้งสิ้น เพียงแต่ Greenleaf เขาสามารถนำเอาคำสองคำที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วอย่าง Servant กับ Leader มาไว้ด้วยกันได้ และหลังจาก Greenleaf ได้ใช้กำหนดคำและหลักการนี้แล้ว ก็ได้มีนักคิดทางด้านภาวะผู้นำคนอื่นๆ อีกที่ต่อยอดแนวคิดเรื่องของ Servant Leader ต่อจาก Greenleaf ดังนั้นเลยไม่น่าแปลกใจนะครับว่าแนวคิดของ Servant Leader จึงไม่ค่อยเป็นที่แปลกสำหรับหลายๆ ท่าน
ถึงแม้แนวคิดเรื่อง Servant Leader จะไม่ใหม่ แต่ท่านผู้อ่านลองมองไปยังผู้นำต่างๆ รอบๆ ตัวนะครับว่ามีลักษณะเป็น Servant Leader มากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าลักษณะของ Servant Leader นั้นแฝงอยู่กับวิธีการบริหารของผู้บริหารหลายๆ ท่าน ตัวอย่างเช่น Herb Kelleher ซีอีโอของสายการบินชื่อดังอย่าง Southwest Airlines มีความเชื่อว่าผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้ที่เป็น Best Server (ขอไม่แปลเป็นไทยนะครับ) และการที่เป็นผู้รับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้นไม่ใช่การคอยควบคุมหรือบังคับผู้อื่น แต่เป็นการคอยดูแลและเอาใจใส่ผู้อื่นเติบโตและพัฒนา
ถึงแม้เราพอจะหาลักษณะของ Servant Leader ได้ในผู้นำหลายๆ ท่าน แต่ประเด็นสำคัญคือบุคคลเหล่านี้จะเป็น Servant Leader อย่างแท้จริงก็คือ ต้องมีความต้องการอยากจะรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นก่อน แล้วหลังจากนั้นความต้องการเป็นผู้นำถึงจะตามมา แต่ถ้าเราเจอผู้นำที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะต้องการอำนาจ แล้วมาอ้างทีหลังว่าต้องการช่วยเหลือผู้อื่น อันนั้นก็ไม่ใช่ Servant Leader ครับ
แนวคิดของ Servant Leadership ที่ Robert Greenleaf พัฒนาขึ้นมานั้น ผู้นำจะมาจากคนละเบ้าหลอมกับพวกผู้นำที่คิดถึงแต่ตนเองเป็นหลักครับ ผู้นำที่เป็น Servant Leader นั้นจะเริ่มต้นจากความต้องการที่จะรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ดังนั้นเมื่อบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ความมุ่งมั่นของเขาเองจึงเพื่อบุคคลอื่น เพื่อองค์กร แต่ไม่ใช่เพื่อตนเอง คงต้องยอมรับนะครับว่าในปัจจุบันเราต้องการผู้นำที่มีลักษณะ Servant Leadership มากขึ้นนะครับ อาจจะเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลกับหลายๆ ผู้นำที่มัวแต่คิดถึงแต่ตนเองเป็นหลัก
Robert Greenleaf ระบุไว้เลยครับว่าคนที่เป็น Servant Leader นั้น ต้องเริ่มที่คำว่า Servant หรือ ผู้รับใช้ก่อนครับ ไม่ใช่เริ่มที่คำว่าผู้นำครับ นั้นคือจะต้องมีความรู้สึกอยากจะรับใช้ อยากจะช่วยเหลือ อยากจะให้ผู้อื่นได้ดี หลังจากนั้นถึงจะค่อยเกิดความอยากจะเป็นผู้นำ ซึ่งพวกที่เป็น Servant Leader จริงๆ นั้นจะต่างจากพวกที่เริ่มต้นที่คำว่า Leader ก่อนนะครับ ท่านผู้อ่านจะต้องแยกกลุ่มคนทั้งสองคนออกจากกันให้ได้ ระหว่างพวกที่อยากจะรับใช้ก่อน และพวกที่อยากจะเป็นผู้นำก่อน พวกที่เป็น Servant ก่อนนั้น เขาจะให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นเป็นหลักครับ นั้นคือจะหาทางทำให้ความต้องการของผู้อื่นได้รับการตอบสนองก่อน และพวกที่ถูกรับใช้หรือตอบสนองนั้นก็จะค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็น Servant Leader เช่นเดียวกันครับ
แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องระวังอย่าถูกหลอกจากผู้นำบางประเภทนะครับ ที่ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนั้น มักจะบอกว่าต้องการรับใช้องค์กร รับใช้ผู้อื่น แต่เมื่อเป็นผู้นำแล้ว กลับมุ่งเน้นแต่ตนเองและพวกพ้องเป็นหลักครับ เนื่องจากคนที่เป็น Servant Leader จริงๆ เขาจะไม่ใช่บอกว่าอยากจะเป็นผู้รับใช้แต่ปากนะครับ แต่พฤติกรรมและการประพฤติก็ต้องแสดงออกมาด้วยครับ นักวิชาการทางด้านภาวะผู้นำอย่าง Warren Bennis ได้เขียนถึงแนวคิดของ Servant Leadership ไว้ว่า Servant Leader ที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือ และความจริงใจ หลักการของ Servant Leadership จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และประเด็นสำคัญคือต้องอย่าให้ความทะเยอทะยานของตนเองอยู่เหนือความถูกต้องที่ควรจะเป็น
แนวคิด Servant Leadership ของ Greenleaf นั้นได้รับการยกย่องจากนักคิดทั่วโลก ในเรื่องของการจุดประกายเรื่องของผู้นำยุคใหม่ครับ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่า Greenleaf เขียนเรื่อง Servant Leadership มาตั้งแต่ปี 1970 ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำหลายๆ ประการที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันในปัจจุบันก็มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของ Greenleaf พอสมควรครับ เรื่องของ Servant Leadership ไม่ใช่เรื่องของการรับใช้ผู้อื่นอย่างเดียวครับ หลักการในเรื่องของการทำงานเป็นทีม หลักพฤติกรรมที่เอาใจใส่ผู้อื่น หลักการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม หลักการสนใจต่อความก้าวหน้าและเติบโตของลูกน้อง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจต่อการเติบโตขององค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้แนวคิดของ Servant Leadership ทั้งสิ้นครับ
สัปดาห์หน้าผมจะลงรายละเอียดคุณลักษณะของ Servant Leader จริงๆ นะครับ แต่ขอเรียกน้ำย่อยไว้ข้อหนึ่งก่อนครับ ซึ่งน่าสนใจมากเลย คือคนที่จะเป็น Servant Leader จริงๆ นั้นต้องรู้จักที่จะฟัง (Listen) ผู้อื่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำหลายๆ ท่านยังขาดอยู่ครับ นั้นคือเมื่อท่านพูดแล้วท่านต้องการให้คนอื่นฟัง แต่เมื่อคนอื่นพูดท่านมักจะไม่ฟังผู้อื่น
ก่อนจบขอฝาก คำถามหนึ่งที่ Warren Bennis ให้ไว้และน่าสนใจเกี่ยวกับ Servant Leadership ก็คือ “ท่านต้องการจะเป็นผู้นำจริงหรือ?” ซึ่งเป็นคำถามตั้งต้นที่น่าสนใจครับ ถ้าท่านต้องการจะเป็นผู้นำ คำถามถัดมาก็คือ ต้องการเป็นผู้นำเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร? ท่านต้องการเป็นผู้นำเพื่อตนเองและบุคคลใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน หรือ ท่านต้องการเป็นผู้นำที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข มีโอกาสพัฒนา และเติบโต และสุดท้ายย่อมนำไปสู่การทำทุกคนรอบข้างดีขึ้น?
ประเด็นแรกสุดครับคือผู้ที่เป็น Servant Leaders คือจะต้องทักษะในการฟัง (Listening) Servant Leaders จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี และพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างจริงใจ โดยจะต้องเป็นผู้ที่สนใจและพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น Servant Leaders จะต้องสามารถทำให้บุคคลอื่นรู้สึกอยากจะแสดงความคิดเห็น และเชื่อว่าเมื่อแสดงความคิดเห็นนั้นแล้ว จะเป็นที่รับฟังจากตัวผู้นำเอง ผู้ที่อยากจะพัฒนาตนเองให้เป็น Servant Leaders จะต้องเริ่มจากการพัฒนาทักษะในการฟังก่อนนะครับ และเจ้าทักษะในการฟังนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่ทักษะในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น
คุณสมบัติประการที่สองคือ ความเข้าใจในผู้อื่น (Empathy) ผู้ที่เป็น Servant Leaders นั้นจะต้องมีความพยายามในการทำความเข้าใจผู้อื่น เนื่องจากบุคคลต่างๆ นั้นต้องการให้เป็นที่ยอมรับในความแตกต่างของแต่ละคน Servant Leaders จะเข้าใจในปัญหาและความแตกต่างของแต่ละคน ในขณะเดียวกัน Servant Leaders ก็จะได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้อื่น
คุณสมบัติประการที่สามคือ ความสามารถในการกระตุ้นและให้กำลังใจผู้อื่น (ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Healing ครับ เลยไม่แน่ใจจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร?) เนื่องจากบุคคลต่างๆ ในองค์กรจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานับประการ และอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บ (ทางจิตใจ) Servant Leaders จะเป็นบุคคลที่คนอื่นจะมองหาเมื่อประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และ Servant Leaders จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการกระตุ้น ให้กำลังใจ และบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาเหล่านั้น
คุณสมบัติประการที่สี่ คือ ความตระหนัก (Awareness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งครับ เนื่องจากถ้าเราตระหนักและรู้จักตนเองเป็นอย่างดีแล้ว จะทำให้เรามองปัญหาต่างๆ ด้วยความรอบคอบจากมุมมองต่างๆ ที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากความตระหนักในตนเองแล้ว ผู้ที่เป็น Servant Leaders ยังมีความตระหนักในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว อยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ครับ
คุณสมบัติประการที่ห้า คือ ความสามารถในการเกลี้ยกล่อมผู้อื่น (Persuasion) เนื่องจาก Servant Leaders จะไม่เน้นการสั่งการตามตำแหน่งหน้าที่ ที่มี แต่จะเน้นการเกลี้ยกล่อม หรือ ชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นด้วยและทำตาม แทนที่จะเป็นการบังคับบัญชา Servant Leaders จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำให้กลุ่มสามารถเห็นชอบในสิ่งเดียวกัน Servant Leaders จะไม่บังคับให้ผู้อื่นเห็นด้วยหรือทำตาม แต่จะมีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่สามารถปฏิเสธได้ที่ผู้อื่นเมื่อฟังแล้ว จะปฏิบัติตาม ซึ่งคุณสมบัติในข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Servant Leaders มีความแตกต่างจากผู้นำที่มุ่งเน้นการบังคับบัญชา
คุณสมบัติประการที่หก คือ ความสามารถในการมองภาพในเชิงองค์รวม (Conceptualization) ผู้ที่เป็น Servant Leaders จะไม่มองภาพเป็นจุดๆ หรือเป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่จะมองสิ่งต่างๆ ในเชิงองค์รวม และไม่ได้มองเฉพาะสิ่งที่เป็นเป้าหมายในปัจจุบัน แต่จะมองภาพใหญ่และสิ่งที่ต้องการไปสู่ในอนาคต ผู้ที่เป็น Servant Leader จะไม่มองเฉพาะตนเองเท่านั้น แต่ยังพยายามกระตุ้นคนรอบข้างให้มองภาพใหญ่ในอนาคต
คุณสมบัติประการที่เจ็ด คือ เป็นความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคต (Foresight) ซึ่งจะค่อนข้างใกล้เคียงกับคุณสมบัติประการที่หก Servant Leaders จะเป็นผู้ที่สามารถคาดการณ์หรือมองเห็นถึงแนวโน้มหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ของสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไป
คุณสมบัติประการที่แปดคือ Stewardship (ไม่ทราบจะแปลอย่างไรจริงๆ ครับ) เป็นความมุ่งมั่นของผู้นำในการเตรียมองค์กรให้สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
คุณสมบัติประการที่เก้าได้แก่ การให้ความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาของผู้อื่น (Commitment to the Growth of People) ซึ่งคงไม่ต้องแปลความหมายนะครับ เพียงแต่ผู้ที่เป็น Servant Leaders นั้นจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ที่จะให้บุคคลอื่นในองค์กรได้มีการเติบโตและพัฒนา
คุณสมบัติประการสุดท้าย ได้แก่ การสร้างชุมชน (Building Community) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างลักษณะของชุมชนให้เกิดขึ้นภายในองค์กร Servant Leader เชื่อว่าองค์กรควรจะดำเนินงานในลักษณะชุมชน และสร้างบรรยากาศการทำงานในลักษณะของชุมชนให้เกิดขึ้นภายในองค์กร