19 December 2005

ถึงช่วงสิ้นปีต่อต้นปีก็ถึงช่วงที่เปิดโอกาสให้หลายๆ คนได้กลับมานั่งพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นปีที่แล้ว พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้หลายๆ คนได้มองไปข้างหน้าว่าในปีหน้าจะมีแนวโน้มของสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง? ซึ่งในความคิดเห็นของผู้เขียนจุดเชื่อมระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ (31 ธันวาคม ต่อ 1 มกราคม) เป็นเพียงแค่จุดสมมติที่เราคิดกันขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกระหว่างปีที่กำลังผ่านไป กับปีใหม่ที่กำลังมาถึง การมองแนวโน้มหรือสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ย่อมไม่สามารถแยกออกได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2548 หรือแม้กระทั่งปี 2546 หรือ 2547 การมองแนวโน้มในปีหน้าจึงไม่ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นบนโลกนี้มาก่อน เป็นเพียงแต่การนำข้อมูลหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนั้นคือสิ่งที่ผมจะทำในบทความชิ้นนี้ นั้นคือนำแนวโน้มหรือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆ มา แล้วมาประมวลแล้วพิจารณาว่าจะมีปัจจัยใดหรือเรื่องใดที่จะโดดเด่นหรือมีความสำคัญสำหรับปี 2549

ในปี 2549 สิ่งที่เราจะเห็นในด้านการบริหารจัดการนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากปีที่แล้วและปีนี้ เพียงแต่เราจะพบเห็นเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องเหล่านี้จะทวีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น

เรื่องแรกคือที่เราเรียกว่า Convergence หรือการรวมกันของปัจจัยและสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราได้พบเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และผมคิดว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นในปี 2549 โดยคำว่าทวีความสำคัญนั้นไม่ได้หมายถึงการรวมกันหรือ Convergence ที่จะมากขึ้น แต่จะเป็นเรื่องที่มีการรวมหรือ Converge กันมากขึ้น เรามาลองพิจารณากันนะครับว่าที่ผมบอกว่าจะมีการรวมในด้านต่างๆ มากขึ้นนั้นจะมีเรื่องของอะไรบ้าง

ประการแรก ก็คือการรวมกันขององค์กรธุรกิจ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ และก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะเป็นสิ่งที่เรายังเห็นต่อในปี 2549 นี้ การรวมกันนี้อาจจะเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบการซื้อขายกิจการ หรือการควบรวมกิจการ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนับวันจะมีมากขึ้นและเกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น การรวมของกิจการต่างๆ นั้นเป็นไปตามหลักการที่อุตสาหกรรมต่างๆ จะมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะ Consolidate กันมากขึ้น นั้นคือจะเหลือองค์กรในอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม และแต่ละรายก็จะมีขนาดใหญ่  ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยที่ปรากฎในหนังสือ Winning the Merger Endgame ที่ระบุว่าสุดท้ายแล้วทุกอุตสาหกรรมย่อมจะเข้าสู่สภาวะเดียวกันนั้นคือภาวะ Consolidate ที่จะเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เพียงแต่ระยะเวลาและช่วงเวลาที่แต่ละอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ภาวะ Endgame ที่แตกต่างกัน

ประการที่สอง คือการรวมตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในช่วงหลังเราจะพบว่ามีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดเห็นหรือเคยคิดมาก่อน ที่เราคุ้นเคยกันเช่น การรวมตัวระหว่างอุตสาหกรรมบันเทิงและการศึกษา ที่ออกมาเป็น Edutainment อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เราจะพบเห็นในปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของอุตสาหกรรมเดิมๆ พัฒนาการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นทั้งจากพัฒนาการของเทคโนโลยี และแรงกดดันทางด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมๆ ที่คอยบีบบังคับให้ผู้เล่นรายเดิมๆ ต้องหาหนทางในการเติบโตใหม่ๆ เนื่องจากภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมเข้าสู่สภาวะวิกฤติและกลายเป็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมกลายเป็นการแข่งขันในด้านราคาเป็นหลัก ทำให้ผู้เล่นรายเดิมๆ ต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเติบโต โดยการสร้างอุตสาหกรรมหรือตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา และสาเหตุข้างต้นคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในปีที่ผ่านมาหนังสือทางด้านบริหารที่ขายดีและเป็นที่ยอมรับกันที่สุดคือเรื่องของ Blue Ocean Strategy ที่เสนอแนะแนวทางในการเติบโตเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ และการไปสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ (New Demand Creation)

ประการที่สามเป็นการรวม (Converge) ของศาสตร์และวิทยาการต่างๆ ในแวดวงวิชาการเราจะพบการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทางด้านแพทย์ วิศวะกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แนวโน้มที่เราพบเห็นในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในปัจจุบัน และน่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น คือการบูรณาการระหว่างศาสตร์เหล่านี้จนกระทั่งกลายออกมาเป็นศาสตร์ใหม่ เช่น Biomedical Engineering เป็นต้น นอกเหนือจากการบูรณาการของศาสตร์ต่างๆ ในสถาบันการศึกษาแล้ว เรายังจะพบการบูรณาการในศาสตร์ต่างๆ ที่นำมาใช้ในการบริหารองค์กรด้วย สิ่งที่โดดเด่นก็หนีไม่พ้นการนำหลักการทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของสมองเข้ามาผสมผสานกับการบริหาร และการตลาด เราจะพบว่ามีการนำผลการศึกษาในเรื่องการทำงานของสมองเราเข้ามาใช้ร่วมกับการบริหารและจูงใจคนในด้านต่างๆ ผ่านทางการศึกษาในเรื่องของภาวะผู้นำ สำหรับการผสมผสานทางด้านการตลาดนั้น ก็มีความพยายามที่จะศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคผ่านทางการศึกษาในเรื่องของการทำงานของสมองคนเรา

ประการที่สี่เป็นการบูรณาการของศาสตร์ทางการบริหารในโลกตะวันตกเข้ากับศาสตร์และหลักการของโลกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักในการบริหารจัดการผสมผสานและเชื่อมโยงกับพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งในช่วงหลังเราจะพบเห็นหนังสือและนักคิดในด้านนี้กันมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกครับ เนื่องจากถ้าเปรียบเทียบอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าหลักการบริหารของโลกตะวันตกนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาวะผู้นำและการบริหารคนนั้น แทบจะไม่แตกต่างจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้มีความพยายามที่เห็นชัดเจนมากขึ้นในการศึกษาและเชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยในช่วงแรกจะพบเห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนก่อน เช่น นำเอาตัวละคนและหลักการต่างๆ ในสามก๊ก เข้ากับแนวคิดการบริหารในปัจจุบัน เช่นเรื่องของกลยุทธ์เป็นต้น ไม่แน่นะครับ ในปีหน้าเราอาจจะเห็นผู้นำเอาเรื่องราวต่างๆ ของไทยเช่น พระยาพิชัยดาบหัก หรือ หมู่บ้านบางระจัน หรือ การต่อสู่ของท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร เชื่อมโยงกับหลักของภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม หรือ การต่อสู่ในภาวะวิกฤต ก็เป็นได้

จากผลพวงของความตื่นตัวในเรื่องของ Convergence ในด้านต่างๆ ตามที่ได้เสนอไปข้างต้น ทำให้ผมเองได้กลับมานั่งคิดทบทวนว่า จากปรากฎการณ์เรื่องของ Convergence นั่นอะไรคือทักษะหรือคุณลักษณะที่เราควรจะมี เพื่อให้สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุค Convergence? คิดไปคิดมาก็คิดได้เรื่องเดียวครับ นั้นคือความสามารถในการมองภาพต่างๆ ในเชิงองค์รวม หรือที่เราเรียกว่า Holistic View หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า Sytemetic Thinking หรือ Conceptual Thinking ก็ได้ นั้นคือคนทำงานและผู้บริหารจะต้องสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ได้ดีและชัดเจน ไม่ใช่การมองสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการแยกชิ้นแยกส่วนและขาดความเชื่อมโยง การมองสิ่งต่างๆ ในองค์รวมนั้น จะทำให้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ อันจะนำไปสู่การบูรณาการระหว่างสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา พวกเราส่วนใหญ่มักจะถูกสอนมาให้แยกส่วนวิเคราะห์ แต่สิ่งที่ขาดคือการสังเคราะห์สิ่งที่แยกส่วนนั้นให้รวมกลับมาเชื่อมโยงกัน ปัญหาดังกล่าวสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากแผนกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ ที่มักจะเป็นลักษณะของการนำแผนของแต่ละหน่วยงานมาประกบกัน โดยขาดความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง

สิ่งที่ผมพบโดยทั่วไปคือเวลาเรากำลังคิดเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือพิจารณาสิ่งใดอยู่นั้น เรามักจะจมเข้าไปสู่รายละเอียดหรือประเด็นปลีกย่อยของปัญหา จนในที่สุดก็ไม่สามารถมองในภาพรวมของสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ หลายๆ ครั้งที่เราจะต้องถอยหลังออกมาก้าวหนึ่งเพื่อไม่ให้จมอยู่ในรายละเอียดมากเกินไป และสามารถมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งปัญหาข้างต้นจะไม่เกิดเลยครับ ถ้าเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในเชิงองค์รวมกันได้มากขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร แต่จะสร้างขึ้นมาก็ไม่ใช่ง่ายๆ คงต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน รวมทั้งมีต้นแบบที่ดีอีกด้วย

หวังว่าแนวโน้มปี 2549 ของผม คงจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพในสิ่งที่น่าจะเกิดหรือมีความสำคัญในปีหน้านะครับ และอย่างที่เรียนในตอนต้นแนวโน้มปี 2549 นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา แต่จะเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการบริหารในปี 2549 นี้ สุดท้ายก็ต้องขออำนวยพร และสวัสดีปีใหม่ในปี 2549 ไปยังท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านด้วยนะครับ