25 June 2006
ท่านผู้อ่านเคยคิดเรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวไหมครับ? หรือ ที่เรานิยมเรียกกันว่าเป็น Work and Life Balance เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้นั้นจะต้องเสียสละหรือแลกด้วยชีวิตส่วนตัว กล่าวกันว่าคนทำงานทั่วๆ ไป จะต้องเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั้นคือ ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากๆ ก็จะต้องเสียสละเวลาสำหรับส่วนตัวไป ไม่ว่าเวลาพักผ่อน เวลาที่อยู่กับครอบครัว และดูลูกๆ เติบโตผ่านวัยต่างๆ หรือ แม้กระทั่งบางคนก็ต้องเสียครอบครัวไปเลย แต่ถ้าอยากจะสร้างความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวนั้น โอกาสที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้นก็ขอให้ลืมไปได้เลย สุดท้ายแล้วเราก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับความคิดเห็นเหล่านี้หรือไม่ครับ?
ผมเชื่อว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยครับ บางท่านก็บอกว่าเราสามารถเดินสายกลางได้ นั้นคือประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว แต่บางท่านก็เห็นด้วยและบอกว่าเราต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความคิดเห็นของผมนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่าครับ ไม่คิดว่าเราจะสามารถเหมารวมได้ทั้งหมดว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้บริหารบางคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และในขณะเดียวกันก็มีชีวิตครอบครัวที่สุขสันต์ แต่บางท่านถึงจะประสบความสำเร็จด้านการงาน แต่ด้านครอบครัวนั้นกลับล้มเหลว ดังนั้น ไม่น่าที่จะมีกฎเกณฑ์ตายตัวหรือไม่สามารถฟันธงลงไปได้เลย
ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ทำไมผู้บริหารบางท่านถึงสามารถสร้างความสมดุลระหว่างงานและครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันบางท่านกลับทำไม่ได้? มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจัดทำโดย Fernando Bartolome และ Paul Lee Evans ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Harvard Business Review ตั้งแต่ปี 1980 แต่ยังถือเป็นบทความที่คลาสสิกและทันยุคอยู่เรื่องหนึ่งครับ บุคคลทั้งสองได้ทำการศึกษาติดตามผู้บริหารกว่า 2,000 คน รวมทั้งการสัมภาษณ์สามีและภรรยาของบุคคลเหล่านั้น เพื่อหาตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น และก็พบว่ามีผู้บริหารอยู่สองประเภทครับ นั้นคือพวกที่สามารถบริหารทั้งงานและชีวิตส่วนตัวให้มีความสุข และพวกที่ประสบความสำเร็จในงานแต่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว สิ่งที่เหมือนกันของผู้บริหารกลุ่มนี้คือความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับงานครับ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือสิ่งที่ทั้งคู่เรียกเป็น negative emotional spillover ครับ หรือ ถ้าอธิบายเป็นไทยง่ายๆ ก็คือไม่มีอารมณ์ (เสีย) ค้างมาจากที่ทำงาน
ดูๆ ก็เหมือนกับเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาเหมือนกันนะครับ ทั้งนี้เนื่องจากในการทำงานของพวกเราทุกคนก็จะมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายเกิดขึ้น และเรื่องร้ายทั้งหลาย ก็จะนำไปสู่อารมณ์ที่เสีย บูด หรือ ไม่ดี ประเด็นสำคัญก็คืออารมณ์ที่เสียหรือบูดนั้น ได้มีการติดตัวเราจากที่ทำงานกลับมาสู่บ้านด้วยหรือไม่? ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านเองนะครับ เวลาเราเจอเรื่องเครียดๆ หรือ ปัญหาจากที่ทำงาน เราได้นำปัญหาเหล่านั้นกลับไปบ้านด้วยหรือไม่? และไม่ใช่แค่นำปัญหากลับไปอย่างเดียวนะครับ เราได้ยอมให้ปัญหาดังกล่าวเข้ามามีอิทธิพลเหนือชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของเราหรือไม่? ดูเหมือนว่าผู้ที่ไม่มีความสุขในที่ทำงาน และไม่สามารถตัดระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัวได้ ก็ยากที่จะมีความสุขในชีวิตครอบครัวนะครับ
ท่านผู้อ่านที่มีการย้ายงานและเปลี่ยนเจ้านายลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเจ้านายคนเก่าเป็นคนง่ายๆ ทำงานได้ด้วยความสบายใจ แต่พอย้ายงานแล้ว มาอยู่กับนายที่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นประเภททำงานยี่สิบสี่ชั่วโมง คอยจ้ำจี้จ้ำไช จำผิดลูกน้อง พอทำงานกับนายใหม่ได้ซักพัก ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับ ว่าจะส่งผลต่อชีวิตครอบครัวของท่านบ้างไหม? เนื่องจากพอท่านกลับไปบ้านก็จะคอยแต่กังวลและเครียดตลอดเวลา บางครั้งก็เผลอไประบายกับครอบครัวเข้าโดยไม่ตั้งใจ หรือบางท่านพอเหนื่อยและเครียดจากที่ทำงานมาก พอกลับมาก็มาบ้านก็จะไม่พูดไม่จา ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเลย และก็จะอยู่แต่ในโลกของตัวเองตลอดเวลา
อารมณ์ (เสีย) ค้างนั้น มักจะมาในสองรูปแบบครับ แบบแรกคือความเหนื่อยอ่อน หมดแรง เนื่องจากการทำงานทั้งวัน วุ่นวายตลอดเวลา แต่ท่านผู้อ่านต้องคอยสังเกตนะครับ บางครั้งถึงจะวุ่นวายแต่ถ้าเราสามารถทำงานได้สำเร็จ กลับยิ่งเพิ่มพลังงานให้กับเราด้วยซ้ำไป แบบที่สองเป็นความกังวลครับ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องงานที่เรานำกลับมาบ้านด้วย ทำให้ในจิตใจจะมีแต่เรื่องงานตลอดเวลา พอกลับมาบ้านจะทนเสียงรบกวนหรือเสียงดังๆ ของลูกๆ ไม่ค่อยได้ (อารมณ์หงุดหงิดง่าย) บางท่านอาจจะไม่อารมณ์เสีย แต่เป็นประเภทเก็บตัวอยู่คนเดียวครับ ไม่สุงสิงกับใครในครอบครัวเลย
ทีนี้เรามองกลับกันนะครับ ถ้าเรารู้สึกดีกับงานที่เราทำ (ไม่ได้หมายความว่างานง่ายนะครับ อาจจะเป็นงานที่ท้าทาย แต่เราก็สามารถทำได้สำเร็จ) อารมณ์ (เสีย) ค้างจากที่ทำงานก็จะไม่มี และเมื่อเราอารมณ์ดี โอกาสที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นก็มากขึ้นไปด้วย ไม่รู้พอจะตั้งเป็นข้อสมมติฐานได้ไหมว่า ความสุขในการทำงาน เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ต่อความสุขในชีวิตครอบครัว สัปดาห์หน้าเรามาดูพวกสาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหากันต่อนะครับ แต่ท่านผู้อ่านอย่าลืมไปสำรวจตัวเองนะครับว่า อารมณ์ (เสีย) ค้าง จากที่ทำงานกลับมาที่บ้านด้วยหรือไม่?