28 August 2005
ดูเหมือนเรื่องภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่คุยกันไม่รู้จักจบสิ้นนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำในตัวเรา ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนสามารถที่จะพัฒนาภาวะผู้นำของตนเองได้ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อม สถานการณ์ และการเปิดรับของบุคคลผู้นั้นหรือไม่? ทฤษฏีและหลักการเกี่ยวกับภาวะผู้นำมีอยู่มากมายหลายทฤษฎี บางทฤษฎีก็บอกว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสไตล์หรือพฤติกรรมของผู้นำได้ แต่บางทฤษฎีก็บอกว่าเปลี่ยนแปลงได้ สัปดาห์นี้ผมจะขอนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำประการหนึ่ง ที่เขาเชื่อว่าผู้นำสามารถที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการกระทำของตนเองได้ เพียงแต่จะทำแบบนั้นได้ ผู้นำแต่ละคนจะต้องเข้าใจลักษณะภาวะผู้นำของตนเองก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร
แนวคิดนี้ David Rooke และ William R. Torbert ได้นำเสนอไว้ในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนเมษายนนี้ภายใต้หัวเรื่องว่า ‘7 Transformations of Leadership’ โดยสาระสำคัญหลักๆ ของแนวคิดของทั้งสองก็คือ ภาวะผู้นำสามารถที่จะพัฒนาได้ และการพัฒนาภาวะผู้นำได้นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จขององค์กร โดยทั้งคู่มีข้อสมมติฐานว่าสิ่งที่ทำให้ผู้นำแต่ละคนแตกต่างกันไม่ใช่ตัวปรัชญาของผู้นำแต่ละคน หรือ บุคลิกภาพของผู้นำ หรือวิธีการในการบริหาร แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Action Logic หรือถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะใกล้เคียงกับ ตัวเบื้องหลังหรือเหตุผลที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้นำประพฤติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
ถ้าจะลองนึกง่ายๆ ดูก็ได้นะครับ ท่านผู้อ่านเคยสังเกตเหตุผลหรือวิธีการคิดของท่านผู้อ่านแต่ละท่านดูไหมครับว่าเป็นอย่างไร และได้นำไปสู่พฤติกรรมหรือการกระทำใดบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเจอสถานการณ์ที่ท้าทาย พฤติกรรมการแสดงออกของพวกเราแต่ละคนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือวิธีการคิดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าท่านผู้อ่านเกิดอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน และไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าใครเป็นคนผิด ท่านผู้อ่านจะ…………………. (เป็นคำถามปลายเปิดที่เว้นให้ท่านผู้อ่านเติมคำตอบลงในช่องทางนะครับ) ท่านผู้อ่านลองนำไปถามเพื่อนร่วมงานดูก็ได้ครับ แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าคำตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะเปิดประตูออกมาแล้วพูดจาเอะอะ และทำทีว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก ในขณะที่บางคนจะประนีประนอม ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา บางคนจะไม่สนใจและขับรถออกไปเลย ฯลฯ สาเหตุหนึ่งที่พฤติกรรมหรือการกระทำของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ก็เนื่องมาจากวิธีคิดหรือเหตุผลของแต่ละคนต่างกันออก หรืออีกนัยหนึ่งคือ Action Logic ที่แตกต่างกันออกไปนั้นเอง
ทีนี้ลองเอาตัวอย่างข้างต้นมาใช้กับผู้นำดูบ้างก็ได้ครับ เช่น ถ้าท่านพบว่าลูกน้องของท่านไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของท่าน ท่านจะ …………………………. (เป็นคำถามปลายเปิดอีกเช่นเดียวกันครับ) ผมเชื่อว่าคำตอบมีหลากหลายมากครับ บางท่านอาจจะบอกว่า เกิดขึ้นเนื่องจากลูกน้องมีความสามารถไม่เพียงพอ หรือ บางท่านบอกว่าจะต้องเพิ่มแรงจูงใจเข้าไป หรือ บางท่านอาจจะเริ่มทำตัวดุและเอาจริงเอาจังกับลูกน้องมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมหรือการกระทำจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็มักจะเป็นผลมาจากวิธีคิดหรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของผู้นำท่านนั้นๆ
เมื่อเราเข้าใจในหลักของ Action Logic แล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่าการที่ผู้นำจะพัฒนาได้นั้นย่อมจะต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจใน Action Logic ของตนเองก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยๆ หาแนวทางในการพัฒนาและปรับเปลี่ยน Action Logic ดังกล่าว ซึ่งเรื่องของ Action Logic นั้นสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ ท่านผู้อ่านอาจจะพบเจอผู้นำหลายๆ ท่าน ที่เมื่อสองสามปีที่แล้วยังมีวิธีในการคิดลักษณะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น และประสบการณ์มากขึ้น วิธีในการคิดของผู้นำท่านนั้นก็ย่อมที่จะเปลี่ยนไปได้ และประเด็นที่น่าสนใจก็คือมีการวิจัยและพบว่าลักษณะของ Action Logic ที่แตกต่างกันนั้นส่งผลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นผู้นำที่พยายามที่จะทำความเข้าใจในวิธีคิดและเหตุผลในการกระทำของตนเอง ย่อมนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการชี้นำ ซึ่งสุดท้ายย่อมนำไปสู่ผลการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น
ผู้เขียนบทความทั้งสองท่านได้ทำการวิจัยโดยพัฒนาแบบสอบถามที่เรียกว่า Leadership Development Profile ขึ้นมา และใช้เวลามากกว่ายี่สิบปีในการเก็บข้อมูลจากผู้นำมากกว่าพันคน จนสามารถจัดกลุ่มลักษณะของ Action Logic ออกมาได้เป็นเจ็ดกลุ่ม โดยทั้งเจ็ดกลุ่มนั้นประกอบไปด้วย 1) Oppotunists 2) Diplomat 3) Expert 4) Achiever 5) Individualist) 6) Strategist 7) Alchemist โดยยังพบความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของ Action Logic ทั้งเจ็ดกลุ่มกับผลการดำเนินงานขององค์กรอีกด้วย โดยในองค์กรที่มีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานผู้นำมักจะมี Action Logic แบบ Opportunists, Diplomats, Experts ในขณะที่องค์กรที่มีผู้นำที่มี Action Logic แบบ Individualists, Strategicst, Alchemists นั้นจะเป็นองค์กรที่มีความสามารถในด้านนวัตกรรมที่สูงและสามารถปรับเปลี่ยนองค์กรของตนได้เป็นอย่างดี
สัปดาห์นี้ขอเรียกน้ำย่อยแค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์เรามาดูลักษณะของ Action Logic แต่ละประเภทกัน พร้อมทั้งดูด้วยว่าเราจะสามารถพัฒนา Action Logic ของเรากันได้อย่างไร