12 June 2004
สัปดาห์นี้เรามาดูตัวอย่างยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันบ้างนะครับ ผมคิดว่าเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับหน่วยงานทางด้านการศึกษาและหน่วนงานที่ไม่ได้แสวงหากำไรได้ดีทีเดียว คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่าจุฬาฯ เพิ่งมีอธิการบดีท่านใหม่ ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมาและถือเป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของจุฬาฯ (ท่านชื่อ ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์) โดยเมื่อมารับตำแหน่งก็ได้มีการวางแนวทางเดินของมหาวิทยาลัยในอีกสี่ปีข้างหน้า ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือได้มีการแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างงานประจำที่จะต้องทำและงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ (ท่านผู้อ่านอาจจะสับสนนะครับว่ายุทธศาสตร์กับกลยุทธ์ต่างกันอย่างไร ถ้าในวงการธุรกิจแล้วเราจะใช้คำว่ากลยุทธ์แทนคำว่า Strategy ในภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็นภาคราชการหรือวงการทหารเขาจะมองกลับกันครับ โดย ยุทธศาสตร์ คือ Strategy ส่วนกลยุทธ์นั้นคือ Tactics)สำหรับมหาวิทยาลัยแล้ว งานประจำที่ต้องทำเป็นปกติก็หนีไม่พ้นในเรื่องของการผลิตบัณฑิต งานทางด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการผลิตผลงานทางวิชาการ รวมถึงการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนก็หนีไม่พ้นงานต่างๆ ข้างต้น เพียงแต่ในยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ นั้นจะไม่ได้มองภาพเฉพาะงานประจำเหล่านี้เท่านั้น แต่จะมุ่งเน้นที่สิ่งที่จะต้องทำเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การบรรลุต่อวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งงานประจำต่างๆ นะครับ จะเป็นในลักษณะของการทำงานประจำให้ดี และมุ่งเน้นงานเชิงยุทธศาสตร์หรืองานพัฒนาเพื่อให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กัน
ก่อนจะลงไปดูที่ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย เรามาดูวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ กันหน่อยนะครับ วิสัยทัศน์นี้ได้มีการกำหนดขึ้นมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ท่านอธิการบดีท่านที่แล้ว เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายที่จุฬาฯ จะก้าวเดินไปสู่เมื่อจุฬาฯ มีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2559 โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้แก่ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน เพื่อเสริมสร้างคนและสังคมไทยให้พึ่งพาตนเองได้ แข่งขันได้ และร่วมมือได้อย่างทัดเทียมและยั่งยืนในประชาคมโลก มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการผสมผสานการวิจัยเข้ากับการเรียนการสอน และมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่” ดูแล้วก็ชัดเจนดีนะครับถึงสิ่งที่จุฬาฯ ต้องการจะเป็น สำหรับพันธกิจที่เป็นกรอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ก็มีทั้งหมดห้าประการด้วยกัน ประกอบด้วย 1) สร้างบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะที่ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติและเหมาะสมกับสังคม 2) เสริมสร้างนิสิตให้เป็นบัณฑิตที่สามารถครองตนอย่างมีคุณธรรมและเป็นผู้นำสังคมได้ 3) บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่และบูรณาการองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย 4) ถ่ายโอนองค์ความรู้กับสาธารณะเพื่อช่วยพัฒนาสังคมไทยไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในประชาคมโลก และ 5) ทำนุบำรุงและสืบสานศิลปวัฒนธรรม
เมื่อดูวิสัยทัศน์และพันธกิจแล้ว เรามาดูยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกันนะครับ โดยยุทธศาสตร์นี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกรอบยุทธศาสตร์โดยกว้าง ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละด้านก็จะมีกลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงาน (Strategic Initiatives) ที่เป็นรายละเอียดสนับสนุนอีกขั้นหนึ่ง จุฬาฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองไว้สามประการ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ซึ่งเป็นเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตามพันธกิจที่ได้กำหนดไว้2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กร เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยทันสมัย ที่สามารถสร้างผลผลิตตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และ 3) ยุทธศาสตร์การบูรณาการระหว่างศาสตร์ เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และเป็นที่พึ่งทางวิชาการให้แก่สังคมและประเทศ โดยภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละประการก็มีกลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงาน เข้ามากำกับ ซึ่งผมขออนุญาตยกมาให้ดูกันเพียงบางส่วนนะครับ
อย่างยุทธศาสตร์ตามพันธกิจนั้นก็ประกอบด้วยกลยุทธ์ที่สนับสนุนพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยทั้งห้าประการ เพียงแต่มุ่งเน้นที่งานพัฒนาเป็นหลัก เช่น มีกลยุทธ์การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการและวิจัย ทั้งในศาสตร์เดียวกันและการบูรณาการระหว่างศาสตร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของจุฬาฯ ที่จะพัฒนาศาสตร์และองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่เนื่องจากสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถมุ่งเน้นในศาสตร์เดียวได้อีกต่อไป ยังจะต้องมีการต่อยอดด้วยการบูรณาการระหว่างศาสตร์มากขึ้น หรือ กลยุทธ์การทำให้บัณฑิตของจุฬาฯ มีคุณภาพและเอกลักษณ์ ก็เป็นกลยุทธ์ที่สนับสนุนพันธกิจทางด้านการผลิตบัณฑิต แต่ในอนาคตบัณฑิตของจุฬาฯ จะต้องมีความแตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจ จุฬาฯ จะมุ่งเน้นการหา Competency หรือคุณลักษณะของบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการของสังคมในอนาคต และพยายามเสริมสร้างคุณลักษณะเหล่านั้นเข้าไปที่ตัวนิสิต อีกทั้งยังจะสร้างเอกลักษณ์พิเศษในบัณฑิตของจุฬาฯ ที่ทำให้บัณฑิตของจุฬาฯ มีความแตกต่างจากบัณฑิตของสถาบันอื่น หรือ กลยุทธ์การเพิ่มบทบาทของจุฬาฯ ในสังคมประเทศไทยและสังคมนานาชาติ ก็จะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้จุฬาฯ มีความเชื่อมโยงกับสังคมในระดับต่างๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและชุมชนในประเทศไทยเอง หรือ การสร้างความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หรือ การเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้และในระดับสากล เป็นอย่างไรครับตัวอย่างรายละเอียดของกลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ แต่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำตามพันธกิจเท่านั้น แต่เป็นยุทธศาสตร์ตามพันธกิจในเชิงรุกเสียมากกว่า
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัยก็ได้ โดยมีกลยุทธ์การสร้างธรรมาภิบาลในการบริหาร เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการบริหารที่คล่องตัว กระจายอำนาจ และตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงมาใช้ การนำระบบทางด้านการจัดการที่เหมาะสมมาใช้ เช่น ระบบ Business Intelligence หรือ การสร้าง CU Operation Center หรือ กลยุทธ์การพัฒนาระบบบริหารบุคคลของจุฬาฯ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเลย ในกลยุทธ์นี้จุฬาฯ จะมุ่งเน้นการปรับระบบบริหารบุคลากรเพื่อให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเพื่อการรักษาและจูงใจบุคลากรที่มีคุณค่าให้อยู่กับมหาวิทยาลัย กลยุทธ์อีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความทันสมัย คือกลยุทธ์การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการบริหารวิชาการ ซึ่งจริงๆ แล้วงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะถูกแฝงเข้าไปอยู่ในเกือบทุกกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่ที่จะมุ่งเน้นได้แก่การสร้าง Single Datawarehouse และ Single Database ขึ้นมาเพื่อให้มีระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยและชัดเจนในการบริหารมหาวิทยาลัย ประเด็นสุดท้ายก็คือกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ที่จุฬาฯ จะมุ่งการรักษาภาพลักษณ์ (Branding) ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ตัวผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนขึ้น
ยุทธศาสตร์สุดท้ายถือว่าน่าสนใจมากครับ เพราะเป็นยุทธศาสตร์การบูรณาการระหว่างศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็อยู่ภายใต้การสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการและวิจัยอยู่แล้ว แต่ทางจุฬาฯ เองต้องการที่จะดึงประเด็นนี้ออกมาให้ชัดเจน และเป็นจุดมุ่งเน้นของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว โดยยุทธศาสตร์การบูรณาการระหว่างศาสตร์นั้น เป็นการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ผ่านการบูรณาการระหว่างศาสตร์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสามประการ ได้แก่ 1) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาและประยุกต์องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านอาหาร และสุนทรียภาพของชีวิต เป็นต้น 2) สังคมที่ดีและน่าอยู่ขึ้น (Better Place to Live) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาและประยุกต์องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เช่น องค์ความรู้ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม การศึกษา การแก้ไขปัญหาของสังคม และการให้คุณค่ากับความเป็นไทย (Thainess) เป็นต้น และ 3) ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น (Better Competitiveness) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาและประยุกต์องค์ความรู้ด้าน การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ การจัดการผลกระทบจากภาวะโลกาภิวัตน์ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาบุคลากรของประเทศ เป็นต้น
เป็นอย่างไรครับยุทธศาสตร์ประการสุดท้าย ผมว่าเห็นภาพได้ชัดเจนดีมาก และในรูปที่ทางจุฬาฯ นำเสนอนั้นเป้าหมายทั้งสามประการ (คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมที่ดีและน่าอยู่ขึ้น และความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น) เป็นลักษณะของวงกลมสามวงที่มีส่วนคาบเกี่ยวกันได้ด้วย เรียกได้ว่าต่อไป ศาสตร์และองค์ความรู้ใหม่ๆ ของจุฬาฯ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในศาสตร์เดียวกัน หรือการบูรณาการระหว่างศาสตร์ จะมุ่งเน้นการตอบเป้าหมายหลักทั้งสามประการ ซึ่งเป็นการชี้นำและพัฒนาทั้งชีวิตคน สังคม และประเทศชาติ เลยทีเดียว
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่ายุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่อนข้างครอบคลุมและชัดเจนดีนะครับ โจทย์ต่อไปก็คือทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับจุฬาฯ ต่อไปครับ