3 July 2004

ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ Robert Kaplan ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คิดค้น Balanced Scorecard จะมาจัดสัมมนาหนึ่งวันเต็มที่เมืองไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการต้อนรับการมาเยือนเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งของ Kaplan (หลังจากเมื่อปีที่แล้วมาแล้วครั้งหนึ่งครับ) ผมขออนุญาตนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการนำ Balanced Scorecard มาใช้ในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผมได้ทำขึ้นมาเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว โดยสาเหตุที่ทำขึ้นมานั้นก็เนื่องจากต้องการที่จะทราบว่าการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง? มีความคืบหน้าอย่างไร? มีแนวทางอย่างไร? ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด? เป็นต้น วิธีในการทำก็เป็นลักษณะของการวิจัยเชิงสำรวจทั่วๆ ไป ที่ส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทุกบริษัท (เมื่อช่วงปลายปี 45 นะครับ) ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองด้วยดีพอสมควรเลยครับ (มีบริษัทที่ตอบกลับมาคิดเป็นร้อยละ 43.95) เราลองมาดูสรุปในประเด็นที่สำคัญๆ กันนะครับ

ประเด็นแรกคือในเรื่องของการนำ BSC มาใช้ พบว่าร้อยละ 8.2 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามกลับมาได้มีการนำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์หรือประสบความสำเร็จแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 17.5 กำลังใช้ BSC อยู่ แต่ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ร้อยละ 47.4 กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาที่จะนำมาใช้ ร้อยละ 9.4 ไม่ได้ใช้และไม่คิดที่จะนำมาใช้ และ ร้อยละ 17.5 ของบริษัทที่ตอบกลับมาที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยกับ BSC เมื่อพิจารณาสัดส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำ BSC มาใช้นั้นพบว่ากลุ่มธนาคาร กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนของบริษัทที่ได้นำ BSC มาใช้ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น (ร้อยละ 35 ขึ้นไปของบริษัทในกลุ่มต่างๆ ข้างต้นมีการนำ BSC มาใช้แล้ว) ส่วนกลุ่มสื่อสารและกลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของบริษัทที่มีการนำ BSC ไปใช้จนประสบความสำเร็จในอัตราที่สูงที่สุดเทียบกับจำนวนบริษัททั้งหมดในกลุ่ม (มากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป) ซึ่งในกลุ่มที่มีการนำ BSC ไปใช้ในอัตราที่สูงเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการของบริษัทในระดับที่สูง ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีหรือพัฒนาการทางด้านการจัดการ

ที่นี้เรามาดูกันบ้างครับว่าบริษัทต่างๆ ได้เริ่มนำ BSC มาใช้ในปีไหนบ้าง และในบริษัทที่ใช้จนเห็นผลลัพธ์นั้นเขาจะต้องใช้เวลากี่ปี โดยส่วนใหญ่แล้ว (ร้อยละ 92) ของบริษัทที่นำเอา BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์นั้นนำ BSC มาใช้มากกว่า 1 ปี (ตั้งแต่ปี 2544 ลงไป) ส่วนบริษัทที่นำ BSC มาใช้แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนนั้นกว่าร้อยละ 59 เพิ่งนำ BSC มาใช้ในเป็นปีแรก จากข้อมูลดังกล่าวน่าจะทำให้เห็นภาพได้ว่า การนำ BSC มาใช้ให้เห็นผลลัพธ์นั้นโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป เมื่อมาดูถึงสาเหตุของการนำ BSC มาใช้ จะพบว่า การนำ BSC มาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงานกับการนำ BSC มาใช้เป็นเครื่องมือในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัตินั้น เป็นสาเหตุที่สำคัญสองประการที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 36.4 และร้อยละ 38.8 ตามลำดับ) อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาโดยละเอียด จะพบว่าในบริษัทที่นำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์จะนำ BSC มาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงานมากกว่าการเป็นเครื่องมือในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่กำลังใช้ BSC อยู่แต่ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน การใช้ BSC เป็นเครื่องมือในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติจะพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญมากกว่าการใช้ BSC เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงาน

ในการทำวิจัยครั้งนี้ได้มีการสอบถามถึงความคาดหวังของผู้บริหารต่อการจัดทำ BSCและผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้เป็นการสรุปมาจากประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการทำ BSC ซึ่งประเด็นคำถามนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารในแต่ละบริษัทมีความคาดหวังต่อการจัดทำ BSC อย่างไรบ้างและผลลัพธ์ที่ได้รับนั้นเป็นไปตามที่คาดหวังไว้เพียงใด จะพบว่าประเด็นที่ได้รับความคาดหวังที่สุดจากการนำ BSC มาใช้ได้แก่ การทำให้สมาชิกองค์กรเข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรในทิศทางเดียวกัน และ การทำให้ผู้บริหารมีมุมมองที่กว้างและครบถ้วนมากขึ้น ส่วนที่มีความคาดหวังน้อยที่สุดได้แก่ การที่องค์กรสามารถประเมินพนักงานได้ยุติธรรมยิ่งขึ้น และ การอบรมและพัฒนาจะสามารถเกื้อหนุนกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง ทีนี้เมื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการนำ BSC มาใช้ ผลการสำรวจพบว่า การที่ผู้บริหารมีมุมมองที่กว้างและครบถ้วนมากขึ้น ตามด้วยสมาชิกขององค์กรเข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งสองประเด็นก็เป็นสิ่งที่เป็นที่คาดหวังมากที่สุดเช่นกัน สำหรับการที่องค์กรสามารถประเมินพนักงานได้อย่างยุติธรรมยิ่งขึ้นนั้นเป็นประเด็นที่ทั้งมีความคาดหวังน้อยที่สุดและได้ผลลัพธ์น้อยที่สุด แสดงให้เห็นว่าในองค์กรที่ได้นำเอา BSC มาใช้ในเมืองไทยนั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำ BSC มาใช้ในระดับบุคคลมากเท่าใด

การนำ BSC มาใช้ภายในองค์กรมักจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในด้านต่างๆ ขององค์กร ซึ่งในการทำวิจัยชิ้นนี้ทางผู้เขียนก็ได้มีการสอบถามบริษัทต่างๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนในสิ่งต่างๆ ภายหลังจากที่ได้นำ BSC มาใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นในเรื่องของการอบรมและพัฒนา และประเด็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรเป็นสองประเด็นที่มีคะแนนสูงสุดตามลำดับ อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทที่ได้นำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์นั้นจะเห็นประเด็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะพบว่าประเด็นที่บริษัทที่นำ BSC ไปใช้จนเห็นผลลัพธ์แล้วคิดว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องปรับเปลี่ยนในระดับมากถึงมากที่สุดนั้น ได้แก่กระบวนการวางแผนกลยุทธ์และภาวะผู้นำและการตัดสินใจ

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีโปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC ออกมามากมาย และมักจะเกิดคำถามที่ว่าในการนำ BSC มาใช้นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้โปรแกรมสำเร็จรูปหรือไม่ ดังนั้นจึงได้มีการสอบถามในวิจัยชิ้นนี้อีกเช่นกันถึงการนำโปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC เข้ามาใช้ ซึ่งจะพบว่ามีเพียงแค่ร้อยละ 20.4 เท่านั้นที่ได้นำโปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC มาใช้ โดยส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรม Spreadsheet เข้ามาใช้ในการจัดทำ BSC และยังมีถึงร้อยละ 27.8 ที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาแยกเป็นบริษัทที่ได้นำ BSC มาใช้จนเห็นผลแล้ว และบริษัทที่ได้นำ BSC มาใช้แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ จะพบเห็นความแตกต่างอย่างมากระหว่างบริษัททั้งสองลักษณะ โดยบริษัทที่กำลังใช้ BSC อยู่แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนจะมีสัดส่วนของบริษัทที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ ในอัตราที่สูง ในขณะที่บริษัทที่นำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์แล้วจะมีสัดส่วนของบริษัทที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในอัตราที่ต่ำ นอกจากนี้กว่าครึ่งของบริษัทที่นำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์แล้วที่ใช้เพียงแค่โปรแกรมSpreadsheet ธรรมดา มีเพียงแค่ร้อยละ 14.29 เท่านั้นที่ได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC โดยตรง และเมื่อได้สอบถามบริษัทที่ยังไม่ได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC ว่าเพราะเหตุใดที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC นั้น พบว่ากว่าครึ่งระบุว่าสาเหตุที่ไม่ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางด้าน BSC นั้นเนื่องจากยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยขั้นต้นเพื่อหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ BSC ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้นนะครับ ทั้งนี้เนื่องจากการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยเริ่มที่จะแพร่หลายและทวีความนิยมขึ้น และเนื่องจาก BSC เองเป็นแนวคิดทางด้านการจัดการที่มีความยืดหยุ่น ไม่ได้มีแนวทางหรือขั้นตอนที่ชัดเจนที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเหมือนกับเครื่องมือทางด้านการจัดการอื่นๆ ทำให้การนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยค่อนข้างมีความหลากหลายกันไปในแต่ละบริษัท ผมเองในสิ้นปีนี้จะทำวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่มีความต่อเนื่องจากชิ้นนี้ ซึ่งน่าจะให้ข้อมูลในเชิงลึกได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยชิ้นนี้ ในงานชิ้นใหม่นี้อาจจะตอบคำถามที่หลายๆ คนชอบถามก็ได้นะครับว่านำ BSC มาใช้แล้วจะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานขององค์กรดีขึ้นหรือไม่? ถ้าได้ผลอย่างไรก็จะนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านต่อไปนะครับ ส่วนท่านผู้อ่านที่สนใจฉบับเต็มของรายงานวิจัยชิ้นนี้ก็ลองไปหาอ่านดูได้จากวารสารจุฬาลงกรณ์รีวิว ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ในฉบับปัจจุบันได้นะครับ