22 April 2004

สัปดาห์นี้เรามาพูดถึงแนวคิดที่เกี่ยวกับคนเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมและเริ่มที่จะได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางมากขึ้นนะครับ นั้นคือในเรื่องของ Talent Management (ไม่แน่ใจว่าจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร เคยมีอาจารย์บางท่านเรียกว่า การบริหารจัดการคนเก่ง แต่ฟังดูแล้วไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ครับ) สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลก็คงจะคุ้นกับแนวคิดของ Talent Management กันแล้วนะครับ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีองค์กรชั้นนำของเมืองไทยหลายแห่งที่ได้นำหลักการของ Talent Management ไปใช้ สำหรับเนื้อหาในสัปดาห์นี้ผมขออนุญาตนำเสนอให้กับผู้ที่ไม่คุ้นเคยในเรื่องของ Talent Management ก็แล้วกันนะครับ

จะมี Talent Management ขึ้นมาได้ก็ต้องเข้าใจในสองประเด็นก่อนนะครับ ประการแรกก็คือ ทำไมถึงต้องมี Talent Management และประการที่สอง Talent หมายถึงอะไร? คำถามข้อแรกน่าจะตอบได้ง่ายๆ นะครับว่าในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ทรัพยากรบุคคลถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดที่องค์กรจะต้องรักษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและความสามารถที่จะต้องปกปักรักษาไว้ให้กับอยู่กับองค์กร และจะต้องสามารถพัฒนากลุ่มบุคคลเหล่านี้ให้ก้าวขึ้นมาและก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อองค์กรได้ ส่วนคำถามข้อที่สองที่ว่า Talent หมายถึงอะไรนั้น ผมเองจำได้ว่าเคยอ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งว่า Talent หมายถึงบุคคลที่มีความสามารถ ทักษะ คุณภาพในการทำงาน มีศักยภาพ ความสามารถในการเรียนรู้ หรือความรู้ แต่บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นบุคคลที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือรับรู้ว่ามีความสามารถอยู่ คล้ายๆ กับภูเขาไฟที่ยังสงบนิ่งอยู่ แต่พร้อมที่จะปะทุขึ้นมาได้ทุกขณะ เมื่อถึงโอกาสที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ที่เป็น Talent ในองค์กรจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นพวกที่โดดเด่นเสมอไป เนื่องจาก Talent อาจจะมีความสามารถที่ถูกซุกซ่อนอยู่ และกำลังรอการนำออกมาใช้

ภาพรวมหลักๆ ของ Talent Management นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการแสวงหาหรือระบุTalent จากนั้นถึงจะต้องทำความเข้าใจต่อสภาวะแวดล้อมและบริบทที่จะทำให้ผู้ที่เป็น Talentสามารถเติบโตและพัฒนาต่อไปได้ เมื่อทำความเข้าใจต่อสภาวะแวดล้อมและบริบทที่เกี่ยวข้องแล้วถึงจะสามารถกำหนดกิจกรรม การดำเนินงาน การลงทุนสำหรับการพัฒนา Talent เหล่านั้นขึ้นมา อย่างไรก็ดีมีสิ่งหนึ่งที่จะต้องระลึกไว้เสมอนะครับว่า Talent Management ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันกับระดับความรู้ของบุคลากร ผมเคยเจอบางองค์กรเหมือนกันที่บอกว่านำหลักในเรื่องของ Talent Management มาใช้ แต่พอดูในรายละเอียดแล้วกลับเป็นเรื่องของการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรทั่วทั้งองค์กรเพียงอย่างเดียว สาเหตุที่มองว่า Talent ไม่ควรที่จะหมายถึง ความรู้จากการเรียนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในบางครั้งบุคลากรบางคนอาจจะไม่ได้มีความรู้ ตามระบบการศึกษาหรืออบรมที่เราคุ้นๆ กันอยู่ แต่ก็สามารถเป็นผู้ที่มี Talent ได้ ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นตัวอย่างจากผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัวหลายๆ ท่านที่ไม่ได้มีความรู้สูง แต่ก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้

Talent Management ไม่ได้เป็นเรื่องของงานด้านทรัพยากรบุคคลเพียงอย่างเดียวนะครับ เนื่องจากองค์กรที่คิดจะนำแนวคิดของ Talent Management มาใช้อย่างจริงจัง ผู้บริหารระดับสูงจะต้องทุ่มเทและให้ความสำคัญต่อเรื่องของ Talent Management อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วบทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคลน่าจะเป็นเหมือนกับที่ปรึกษาภายในขององค์กร มากกว่าผู้รับผิดชอบเพียงหนึ่งเดียวของการทำ Talent Management ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารตามสายงานต่างๆ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในสายงานที่จะรู้ว่าอะไรคือทักษะ ความสามารถที่เป็นที่ต้องการ อีกทั้งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพนักงานในระดับต่างๆ ดังนั้นเมื่อเราพูดถึง Talent Management ขอให้นึกว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกระดับและทุกท่าน ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพียงหน่วยงานเดียว

คำถามหนึ่งที่อาจจะเจอจากผู้บริหารระดับสูงหลายๆ ท่านก็คือ ในสภาวะที่บุคลากรมีการเปลี่ยนหรือโยกย้ายงานกันอยู่เป็นประจำ การนำ Talent Management มาใช้ในองค์กรจะคุ้มค่าหรือไม่? ในเมื่อถ้าเราเริ่มพัฒนา Talent ขึ้นมาได้ซักพัก พนักงานที่เป็น Talent ก็จะย้ายงานไปสู่ที่อื่น ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นะครับ แต่ขอให้คิดว่า Talent Management ก็เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ในสวนของท่าน ที่ไม่อาจจะหวังผลได้ในระยะสั้น และไม่อาจจะหวังได้ว่าเมล็ดที่หว่านไว้ทั้งหมดจะขึ้นมาเป็นดอกไม้สวยงามได้ทุกเมล็ด แต่ขอให้คิดว่าถ้าไม่มีการหว่านเมล็ดไว้เลยก็จะไม่มีดอกไม้สวยงามในสวนของท่าน และในขณะเดียวกันท่านเองในฐานะที่เป็นผู้หว่านเมล็ดและผู้คอยดูแลการเติบโตของต้นไม้ของท่านก็ย่อมสามารถตัด ตกแต่ง ต้นไม้และดอกไม้ให้เป็นไปตามที่ท่านต้องการ และสุดท้ายย่อมก่อให้เกิดความสวยงามให้แก่สวนของท่าน

ถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบนะครับว่าถ้าต้องการนำ Talent Management มาใช้ในองค์กรจะต้องเริ่มจากอะไร? แรกสุดก็คงเหมือนกับการนำเครื่องมือทางการจัดการอื่นๆ มาใช้นั้นก็คือจะต้องมีความชัดเจนในทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรท่านเสียก่อน เนื่องจากการทราบถึงทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรท่านย่อมทำให้ท่านทราบว่าลักษณะของบุคลากรและความสามารถที่ต้องการมีอะไรบ้าง ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าการที่จะสามารถนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลได้นั้นบุคลากรจะต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร ดังนั้นการที่จะทำให้ Talent Management เกิดขึ้นได้ก็ย่อมจะต้องเริ่มต้นจากกลยุทธ์ขององค์กรเสียก่อน เมื่อเริ่มต้นจากกลยุทธ์แล้วก็ถึงขั้นตอนที่สำคัญครับ นั้นก็คือจะทราบได้อย่างไรว่าพนักงานคนไหนภายในองค์กรที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น Talent จริงๆ แล้วพอจะมีวิธีการในการคัดเลือก Talent ขึ้นมาเหมือนกัน เรามาลองดูในวิธีต่างๆ โดยคร่าวๆ นะครับ

อย่างแรกสุดก็คงต้องใช้วิธีพื้นฐานที่สุดก่อนนะครับ นั้นคือพิจารณาจากผลการดำเนินงานของแต่ละบุคคล ซึ่งวิธีนี้อาจจะฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัติผมว่าเป็นไปได้ลำบากพอสมควร เนื่องจากองค์กรจะต้องมีระบบในการวัดและประเมินการดำเนินงานของบุคลากรที่ดี อีกทั้งการที่บุคลากรมีผลการดำเนินงานของบุคลากรที่ไม่ดีไม่ได้หมายความว่าพนักงานผู้นั้นไม่ได้มี Talent แต่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเหมาะสมที่จะจูงใจให้พนักงานผู้นั้นทำงานได้อย่างเต็มที่ อีกวิธีการหนึ่งก็คือการมอบหมายงานพิเศษนอกเหนือความรับผิดชอบปกติให้พนักงานได้รับผิดชอบ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำให้รู้ถึงศักยภาพและความสามารถที่ซ่อนอยู่ของพนักงาน เนื่องจากการที่จะต้องรับผิดชอบในงานใหม่ที่มีความท้าทาย ทำให้บุคลากรได้ดึงความสามารถที่ถูกซ้อนไว้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แนวทางในการแสวงหา Talent ประการที่สามก็คือการทดสอบพนักงาน โดยเป็นการทดสอบระดับความสามารถของพนักงาน และศักยภาพของพนักงานผู้นั้น ปัจจุบันมีเครื่องมือและวิธีการต่างๆ มากมายในการทดสอบและแสวงหา Talent ไม่ว่าจะเป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพชนิดต่างๆ แบบทดสอบการแก้ไขหรือตอบสนองต่อปัญหา แบบทดสอบในการทำงานร่วมกันเป็นทีม การเล่นเกมจำลอง การร่วมกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดีการที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทดสอบและแสวงหา Talent นั้น ไม่ควรจะพึ่งเพียงแค่เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง ควรที่จะใช้หลายๆ เครื่องมือประกอบกัน และที่สำคัญจะต้องอย่าลืมว่า Talent ที่หาได้นั้นจะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรด้วย

เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ Talent Management เดี๋ยวในสัปดาห์หน้าเรามาต่อกันในเรื่องนี้นะครับ