1 April 2004

การศึกษาทางด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ในปัจจุบันได้หันมาให้ความสนใจต่อเรื่องการทำงานของสมองคนเรามากขึ้น และช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามในการที่จะศึกษาว่าอะไรคือปัจจัยที่จะสามารถพยากรณ์ถึงความสำเร็จในการทำงานของคนแต่ละคน ใช่สติปัญญา ความรู้ ความสามารถของคนแต่ละคน หรือ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความรู้ของแต่ละคน? ในอดีตเราอาจจะคิดว่าสติปัญญาและความฉลาดของแต่ละคนจะเป็นสิ่งที่บอกถึงโอกาสในการที่จะประสบความสำเร็จของคนๆ นั้น แต่จากผลการวิจัยในช่วงหลังๆ ดูเหมือนว่าความเชื่อดังกล่าวเริ่มที่จะไม่เป็นจริงแล้วนะครับ ถึงแม้ยังมีผลการวิจัยที่ยืนยันว่าระดับสติปัญญาของแต่ละคนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลความสำเร็จทางด้านการเรียน แต่กลับพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญากับการประสบความสำเร็จทางชีวิตและการงานกลับมีอย่างน้อยถึงน้อยมากเลยครับ

เขียนถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากก็คงจะนึกถึงหลักการที่เราเรียกว่าEmotional Intelligence กันแล้วนะครับ ผมเองไม่แน่ใจว่าได้มีการแปลคำๆ นี้เป็นภาษาไทยหรือยัง แต่ถ้าจะแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คงจะหมายถึงความฉลาดทางอารมณ์นะครับ ในช่วงหลังเราจะพบว่าได้มีการอบรม สัมมนา หรือความพยายามขององค์กรต่างๆ ในอันที่จะพัฒนา Emotional Intelligence ของพนักงานของตนเอง เราลองมาดูกันหน่อยนะครับว่าเจ้าแนวคิดเรื่อง Emotional Intelligence มีที่มาที่ไปอย่างไร

เราคงจะต้องยอมรับนะครับว่าผู้ที่ทำให้แนวคิดของ Emotional Intelligence โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกได้แก่ Daniel Goleman ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของEmotional Intelligence มาตั้งแต่ปี 1995 หลังจากนั้นแนวคิดดังกล่าวก็โด่งดังไปทั่วโลก แต่จริงๆ แล้ว Goleman ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่บุกเบิกแนวคิดนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกหรอกนะครับ เนื่องจากได้มีการศึกษาของนักจิตวิทยามานานในเรื่องนี้ เพียงแต่การเรียกว่า Emotional Intelligence เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในปี 1990 โดย Salovey และ Mayer เป็นผู้ที่บัญญัติศัพท์ว่า Emotional Intelligence ขึ้นมา ซึ่งในตอนนั้นทั้งคู่บอกว่า Emotional Intelligence คือความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับรู้ ในอารมณ์และความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการตัดสินใจ ในช่วงต้นปี 1990 ทาง Daniel Goleman ได้อ่านผลงานของ Salovey และ Mayer และจากผลการศึกษาดังกล่าวได้นำไปสู่หนังสือชื่อดังของเขา โดยก่อนหน้านี้ Goleman เป็นนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่ที่วารสาร New York Times ซึ่ง Goleman เองก็ได้มีความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องของสมองและพฤติกรรมของมนุษย์

ในช่วงนั้น Goleman เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความกังวลว่าการทดสอบสติปัญญาแบบดั้งเดิมไม่สามารถบอกให้รู้ถึงการที่จะคนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตเพียงใด ระดับของสติปัญญาที่ถูกวัดด้วย IQ ไม่ใช้เครื่องวัดที่ดีว่าบุคคลผู้นั้นจะทำงานได้ดีหรือไม่ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าระดับไอคิวบ่งบอกถึงโอกาสในการประสบความสำเร็จในการทำงานตั้งแต่ร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 25 แสดงให้เห็นว่าสิ่งเราเคยเชื่อกันมาตั้งแต่อดีตว่าถ้าใครก็ตามที่มีระดับไอคิวที่สูง บุคคลผู้นั้นมักจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงนั้นไม่เป็นจริงเสมอไปนะครับ มีผลการทดลองอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงระดับความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่าเบาบางระหว่างระดับของไอคิวกับการประสบความสำเร็จในชีวิต การศึกษาดังกล่าวชื่อว่าการศึกษาที่ Sommerville (Sommerville Study) ถือเป็นการศึกษาที่น่าสนใจมากครับ เพราะเป็นการศึกษาระยะยาวที่ใช้เวลนานถึง 40 ปี (เข้าใจว่ากว่าจะศึกษาจบก็คงจะเปลี่ยนตัวผู้วิจัยไปหลายรุ่นแล้วนะครับ) ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้มีการติดตามผู้ชาย 450 คนที่เติบโตที่เมือง Sommervilleมลรัฐ Massachusetts ตั้งแต่เด็กจนโต ผลจากการศึกษากว่า 40 ปีชี้ให้เห็นเลยครับว่าระดับสติปัญญามีผลหรือความสัมพันธ์ที่น้อยมากกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการทำงานหรือในชีวิตของบุคคลเหล่านี้ แต่ผลปรากฎว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดกลับเป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองและความสามารถในการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่น 

Emotional Intelligence เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการที่แต่ละบุคคลรู้ตัวว่าควรจะแสดงอารมณ์เมื่อไหร่และอย่างไร รวมทั้งการควบคุมอารมณ์ด้วย มีการทดลองชิ้นหนึ่งที่มหาวิทยาลัย Yale ที่ให้นักแสดงสวมบทบาทเป็นผู้บังคับบัญชาที่จะเข้ามาพูดคุยกับลูกน้องในเรื่องของการจัดสรรโบนัส และให้นักแสดงนั้นมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่กระตือรือร้น หรือ อารมณ์ที่อบอุ่น หรือ อารมณ์ที่ขุ่นมัว ผลจากการทดลองพบว่าอารมณ์ของนักแสดงที่เล่นเป็นผู้บังคับบัญชาสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคนทั้งกลุ่ม ถ้าผู้บังคับบัญชามาด้วยอารมณ์ที่ดี ก็จะส่งผลต่อการร่วมมือที่ดี และผลการดำเนินงานของกลุ่มที่ดีขึ้น หรือการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าในกองทัพเรือของอเมริกานั้น ผู้นำที่มีประสิทธิผลมากที่สุด เป็นผู้นำที่มีลักษณะเปิดเผย แสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน และเป็นผู้ที่สังคมเก่ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่สามารถวิเคราะห์และระบุอารมณ์ของผู้อื่นได้ดี จะประสบความสำเร็จในชีวิตและสังคมมากกว่าผู้อื่น

ดูเหมือนว่าผมจะยกตัวอย่างงานวิจัยมามากจน ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าเจ้า Emotional Intelligence นี้เป็นที่สุดของปัจจัยสู่ความสำเร็จของแต่ละคนนะครับ แต่อยากจะเรียนว่าถ้าจะสรุปเพียงแค่นั้นก็อาจจะง่ายเกินไป มีการโต้แย้งว่าจริงๆ แล้ว ตัว Emotional Intelligence เองไม่ได้เป็นตัวที่สามารถพยากรณ์ถึงความสำเร็จของแต่ละบุคคลได้ แต่เจ้าตัว Emotional Intelligence กลับเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาความสามารถที่จะทำให้แต่ละบุคคลประสบความสำเร็จ Goleman เองก็พยายามแยกความแตกต่างดังกล่าวออกเป็นEmotional Intelligence กับ Emotional Competence ซึ่งตัวหลังนั้นหมายถึงทักษะทั้งทางส่วนตัวและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยเจ้าตัว Emotional Competence นั้นมีรากฐานมาจาก Emotional Intelligence ซึ่งการที่คนแต่ละคนจะเกิด Emotional Competence ได้จะต้องมี Emotional Intelligence ในระดับที่เหมาะสม เช่น การที่คนๆ หนึ่งสามารถที่จะรับทราบและระบุได้ว่าบุคคลอื่นรอบๆ ตัวกำลังมีอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างไร (เป็น Emotional Intelligence) จะทำให้คนผู้นั้นสามารถพัฒนาความสามารถในการโน้มน้าวและชี้นำบุคคลภายใต้อารมณ์และภาวะต่างๆ เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านจะต้องให้ความสำคัญกับทั้ง Emotional Intelligence และ Emotional Competence นะครับ

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าทำไมเนื้อหาในสัปดาห์นี้ถึงเน้นแต่เรื่องสมองและอารมณ์ ดูแล้วไม่เห็นได้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตรงไหน สัปดาห์นี้ถือเป็นการปูพื้นฐานก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อนะครับว่าหลักของ Emotional Intelligence จะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการได้อย่างไร