13 February 2005

เนื้อหาในสัปดาห์นี้ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วครับที่พยายามนำเสนอแง่มุมและแนวคิดที่อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและการทำงาน ซึ่งก็คงจะสรุปได้ว่ายากที่จะมีหนทางที่ดีที่สุดที่สวยงามทุกฝ่ายครับ ท่านผู้อ่านคงจะต้องเลือกชีวิตของท่านครับว่าจะมุ่งเน้นในด้านใด เป็นพวกที่ทำงานเก่ง ก้าวหน้า ได้รับคำชมอยู่เสมอว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ทำงานได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน เป็นที่คาดหวังและพึ่งพิงของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน แต่อาจจะต้องกินข้าวกลางวันบนรถ กลับไปถึงบ้านไม่เคยได้ทันเจอหน้าลูก พาครอบครัวไปเที่ยวทะเลก็ต้องเอางานไปนั่งทำด้วย ฯลฯ หรือคนอีกประเภทที่อาจจะไม่ก้าวหน้าเร็วเท่าพวกแรก แต่คุณภาพชีวิตดีกว่ามาก คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะต้องเลือกกันเองนะครับ สัปดาห์นี้เราจะมาดูต่อว่าทำงานอย่างไรถึงจะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ แต่ในขณะเดียวกันผลงานก็ออกมาในระดับที่น่าพอใจ

มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งเราอาจจะหลงระเริงอยู่กับมันครับ นั่นคือคำว่า Multitasking ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าเรียกในภาษาไทยว่าอย่างไร แต่คำนี้เรามักจะเจอเวลาพูดถึงใครก็ตามที่สามารถทำงานไปได้พร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง เช่น ในขณะที่นั่งประชุมก็ตอบอีเมลไปพร้อมๆ กัน หรือ ในขณะที่ลูกน้องกำลังเข้ามาปรึกษาปัญหาเรื่องการทำงาน ก็กำลังเซ็นเอกสารไปด้วย ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักจะพูดในแง่ของคำชมเชยหรือชื่นชม ซึ่งคนที่ได้รับคำชมก็มักจะเหลิงและนึกว่าตัวเองเก่งจริงๆ ที่สามารถทำงานได้ทีละหลายๆ อย่าง แต่จริงๆ แล้วคำๆ นี้เป็นดาบสองคมนะครับ ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าในชีวิตจริงเราสามารถทำงานในลักษณะ Multitasking ได้อย่างมีคุณภาพจริงหรือไม่? ถ้าเป็นงานที่ไม่ได้ใช้สมองเท่าไหร่ เช่น ฉีกกระดาษ ดื่มน้ำ ก็ยังพอจะทำได้นะครับ แต่ถ้าเป็นงานที่จะต้องอาศัยการคิดและสมาธิจริงๆ ก็คงจะต้องถามท่านผู้อ่านครับว่าเป็นไปได้จริงๆ หรือที่เราจะทำงานพร้อมๆ กันสองอย่างออกมาได้อย่างมีคุณภาพทั้งคู่ และถ้าใครชอบทำงานลักษณะ Multitasking บ่อยๆ สุดท้ายแล้วก็คงหนีไม่พ้นการเป็นโรคสมาธิสั้นในที่ทำงาน แบบที่ผมเคยเขียนนำเสนอไปแล้วเมื่อสามสี่สัปดาห์ที่แล้วครับ เพราะเราจะมีเวลาไม่ถึงสิบวินาทีในการเพ่งสมาธิหรือให้ความสนใจกับใดงานหนึ่งอย่างจริงจัง

อาจจะเรียกได้ว่า Multitasking เป็นการทำงานสำเร็จพร้อมๆ กันหลายอย่างได้อย่างไม่มีคุณภาพ และถ้าท่านผู้อ่านเป็นพวกที่ชอบ Multitasking จริงๆ ลองนึกภาพดูนะครับว่าเวลาท่านอยู่ในห้องประชุม เจ้านายและเพื่อนร่วมงานของท่านกำลังถกเถียงกันในเรื่องสำคัญ ส่วนตัวท่านเองก็กำลังตอบอีเมลที่สำคัญอยู่ด้วย ท่านคิดว่าท่านจะสามารถแบ่งสมาธิและใจของท่านออกเป็นสองส่วนและทำให้งานออกมามีคุณภาพพร้อมๆ กันได้หรือไม่? ผมเองก็เจอบ่อยๆ ครับไปสอนตามบริษัทต่างๆ แล้วผู้บริหารบางท่านก็ชอบควักโน้ตบุคส์ขึ้นมาด้วย ตอนแรกก็นึกว่าเขาคอยจดตามสิ่งที่ผมพูด แต่พอเห็นเขาต่อสาย Lan แล้วก็เลยรู้เลยว่าจริงๆ แล้วผู้บริหารเหล่านั้นกำลังทำอะไรอยู่ (เลยสูญเสียความมั่นใจเหมือนกันครับว่า ตัวเองสอนหนังสือไม่รู้เรื่อง) หรือในอีกสถานการณ์หนึ่ง ลูกน้องของท่านนำเรื่องที่สำคัญเข้ามาปรึกษากับท่าน แต่ในขณะที่ท่านฟังลูกน้องของท่านพูดอยู่นั้นก็ตอบเมลหรือเซ็นแฟ้มไปพร้อมๆ กัน ท่านผู้อ่านลองนึกดูซิครับว่าลูกน้องของท่านจะชื่นชมท่าน หรือท่านจะทำให้ลูกน้องของท่านมีความภักดีและมุ่งมั่นในการทำงานเพียงใด ในเมื่อท่านยังไม่สามารถให้ความสนใจกับปัญหาของลูกน้องอย่างเต็มที่ แล้วทำไมเขาต้องให้ความสำคัญและมุ่งมั่นต่อตัวท่านด้วย

นอกเหนือจากเรื่องของ Multitasking แล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งในการทำงาน ก็คือเรื่องของเวลาครับ ปัจจุบันเวลาเรากำหนดนัดหมายหรืองานต่างๆ แล้ว เรามักจะนำระบบ Just-in-Time (JIT) เข้ามาใช้เสมอ นั้นคือระหว่างนัดต่างๆ นั้นจะมีเวลาให้ขยับตัวหรือเผื่อไว้ไม่เกินห้าถึงสิบนาที ผู้บริหารบางท่านมีตารางนัดหมายหรือคิวกิจกรรมที่ยุ่งกว่าดาราหรือนักร้องเสียอีก เคยมีโอกาสเจอผู้บริหารหลายท่านที่ถ้าจะนัดหมายแล้ว จะต้องนัดอีกสองถึงสามเดือนล่วงหน้า (แม้กระทั่งเวลาซักครึ่งชั่วโมง) หรือบางครั้งเวลาแค่สิบนาทีระหว่างนัดหมายยังแทบจะหาไม่ได้เลย

ทีนี้ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้าระบบเรื่องเวลาในลักษณะ Just-in-Time ข้างต้นมันช้าหรือพังไปแค่ส่วนหนึ่ง ก็จะส่งผลให้ทั้งระบบพังไปหมดเลย เพียงแค่นัดหมายหนึ่งที่เกินเวลาไปยี่สิบนาที ก็จะส่งผลในลักษณะลูกโซ่และส่งผลกระทบต่อนัดหมายอื่นๆ ไปอีกทั้งวัน หรือ ถ้าหยุดกินข้าวเกินเวลาที่กำหนดก็จะทำให้ตารางในตอนบ่ายรวนไปหมด ถ้าท่านผู้อ่านมีลักษณะดังกล่าวหรือรู้จักใครที่มีลักษณะดังกล่าว ก็ต้องเรียนว่าบุคคลดังกล่าวมีชีวิตที่น่าสงสารมากครับ ไม่สามารถหยุดและนั่งพักลงได้แม้แต่นาทีเดียว เพราะจะส่งผลกระทบต่องานอื่นๆ อีกทั้งวัน ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านอยากจะใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ครับ

สัปดาห์นี้พยายามนำเสนออีกแง่มุมในการทำงานนะครับ บางครั้งเราคิดว่าเราสามารถทำงานได้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน (Multitasking) แล้วเราก็นึกว่าเราเก่ง หรือบางครั้งเราจัดตารางนัดหมายต่างๆ อย่างแน่นขนัดแล้วเราคิดว่าเราเก่งในเรื่องของ Just-in-Time แต่จริงๆ แล้วทั้งสองเรื่องเป็นหลุมพรางของคนที่คิดว่าตัวเองเก่งนะครับ แทนที่จะทำให้งานออกมามีคุณภาพ กลับได้งานที่เสร็จจริง แต่อาจจะเสร็จแบบลวกๆ ท่านผู้อ่านก็คงต้องเลือกเอานะครับว่าจะเลือกใช้ชีวิตการทำงานแบบใด