13 March 2005
ท่านผู้อ่านคงจะได้อ่านข่าวของหนึ่งในสองผู้บริหารสูงสุดของดีแทค (คุณซิคเว่ บริคเก้) ที่กลับเข้ามาบริหารบริษัทอีกครั้งด้วยความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนบริษัทจะบริษัทที่ดี (Good Company) เป็นบริษัทที่สุดยอด (Great Company) หรือถ้าเป็นศัพท์ที่เขาใช้ก็จะต้องเป็น Good to Great หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีของไทยที่ต้องการให้ในอีกสี่ปีข้างหน้าเป็นสี่ปีของการสร้าง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านพิจารณาดูดีๆ แล้วจะพบว่าความหมายของผู้บริหารทั้งสองท่านก็ไม่ได้ต่างกันเท่าใด ผมเลยย้อนกลับไปอ่านหนังสือ Good to Great ของ Jim Collins อีกครั้ง จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2001 และขายดีมาก จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของAmazon.com อยู่ กลับไปอ่านทบทวนในบทแรกๆ ก็เจอบทที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำที่เขาเรียกว่า ผู้นำระดับ 5 (Level 5 Leadership) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้นำที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรตนเองจาก Good to Great ได้ เลยคิดว่าน่าจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากัน
ก่อนลงไปในรายละเอียดเรื่องของภาวะผู้นำระดับ 5 จะต้องชี้แจงให้ท่านผู้อ่านเข้าใจลักษณะของหนังสือเล่มนี้ก่อน ในหนังสือ Good to Great ผู้เขียนได้ทำการศึกษาวิจัยองค์กรชั้นนำของอเมริกาภายย้อนกลับไปหลายสิบปี และหาว่ามีบริษัทไหนบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองจากบริษัทดีๆ ธรรมดาๆ เป็นบริษัทสุดยอด (Good to Great) ได้บ้าง จากนั้นก็ศึกษาต่อว่าบริษัทที่สามารถปรับตนเองให้เป็นบริษัทที่สุดยอดได้จะต้องมีคุณลักษณะหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง และในขณะเดียวกันเพื่อจะทำให้ภาพเกิดความชัดเจนขึ้น ทาง Jim Collins ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังได้ศึกษาองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ไม่สามารถปรับตนเองจากบริษัทชั้นดีให้เป็นบริษัทที่สุดยอดได้ ว่ามีคุณลักษณะหรือองค์ประกอบที่แตกต่างจากบริษัทในกลุ่มแรกอย่างไร
ในระยะแรกของการวิจัย ทาง Jim Collins ไม่พยายามที่จะหาคุณลักษณะที่เหมือนกันของผู้นำในองค์กรที่สามารถเปลี่ยนจากดีธรรมดามาเป็นดีสุดยอดได้ เนื่องจากในระยะแรกเขามีความเชื่อว่าถ้ามุ่งแต่ที่ประเด็นผู้นำอย่างเดียว ก็จะทำให้ไม่ต้องศึกษาในเรื่องอื่นๆ เพราะทุกอย่างก็จะยกประโยชน์หรือโทษผู้นำ ไม่ว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ก็มักจะโยนไปที่ผู้นำหมด แต่สุดท้ายจากหลักฐานต่างๆ ที่หามาได้ก็ทำให้ Jim Collins ยอมจำนนและสรุปได้ว่าคุณลักษณะของผู้นำมีผลสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยนองค์กรดีธรรมดา ให้เป็นองค์กรที่ดีสุดยอดได้ เขากล้าสรุปออกมาเลยครับว่าในองค์กรเหล่านั้นคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้นำจะมีลักษณะที่เหมือนๆ กันหมด เรียกได้ว่าออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน ไม่ว่าองค์กรดังกล่าวจะอยู่ในธุรกิจใด หรือ เป็นองค์กรที่อยู่ในช่วงกำลังเผชิญวิกฤตหรือกำลังเติบโต หรือ เป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เรียกได้ว่าผู้นำขององค์กรที่ดีสุดยอดจะมีลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันเกือบหมด ซึ่งสิ่งที่ทางผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวสรุปมาได้ก็มาจากผลการศึกษาวิจัยล้วนๆ ครับ
เนื่องจากเป็นการยากที่จะหาชื่อที่เหมาะสมสำหรับเรียกผู้นำขององค์กรเหล่านี้ เขาก็เลยเรียกด้วยภาษาง่ายๆ ครับว่าเป็นผู้นำในระดับที่ 5 (Level 5 Leadership) โดยได้มีการแบ่งว่าเมื่อคนเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำนั้น จะสามารถแบ่งผู้นำที่ดีออกเป็น 5 ระดับครับ ระดับที่1 หรือ High Capable Individual เป็นผู้ที่มีความสามารถส่วนตัวที่ดี ทั้งทักษะ ความรู้ ความสามารถ และพฤติกรรมในการทำงานที่ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ระดับที่ 2 หรือ Contributing Team Member เป็นผู้ที่สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี เป็นพวกที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และช่วยให้กลุ่มและทีมบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ระดับที่ 3 หรือ Competent Manager เป็นผู้บริหารที่สามารถบริหารบุคลากรและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร ระดับที่ 4 หรือ Effective Leader เป็นพวกผู้นำที่สามารถครับ นั้นคือทำให้ทุกคนเกิดความมุ่งมั่น มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และสามารถจูงใจให้บุคลากรทุกคนทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในสี่ระดับต้นนั้นจะเป็นลักษณะของบุคลากรและผู้นำในองค์กรที่เราพบเจอในหนังสือทางด้านภาวะผู้นำทั่วๆ ไป แต่ในองค์กรที่สามารถปรับตนเองจากดีธรรมดา ให้เป็นดีสุดยอดได้นั้น ลักษณะผู้นำจะเป็นผู้นำในระดับที่ 5 ซึ่งการจะเป็นระดับที่ 5 ได้นั้นมีความเป็นผู้นำในสี่ระดับเบื้องต้นได้ก่อน แต่ระดับที่ห้าจะมีความแตกต่างก็คือ ผู้นำดังกล่าวจะต้องสร้างความสุดยอดอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรได้ด้วยคุณสมบัติที่ดูเหมือนจะขัดกันระหว่างความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จกับความถ่อมตัว
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จและความถ่อมตัวนั้นเป็นคุณสมบัติที่ค่อนข้างขัดแย้งกันและดูเหมือนว่าไม่ควรจะอยู่ด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ Jim Collins พบจากการศึกษาวิจัยก็คือในตัวผู้นำที่สร้างปรับเปลี่ยนองค์กรของตนเองจากดีธรรมดาให้เป็นดีสุดยอดได้ จะมีปัจจัยทั้งสองประการอยู่ด้วยกัน การที่ผู้นำระดับที่ 5 ถ่อมตัวนั้น ก็ไม่ได้หมายความผู้นำดังกล่าวจะต้องขี้กลัว ไม่กล้า หรือขาดความทะเยอทะยานนะครับ ผู้นำเหล่านี้อาจจะไม่ชอบความมีชื่อเสียง หรือ ชอบเป็นจุดสนใจของคนทั่วไป แต่ผู้นำเหล่านี้ก็มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานนะครับ แต่เป็นความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานสำหรับองค์กร ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
อาจจะกล่าวได้ว่าผู้นำเหล่านี้เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ขัดแย้งกันก็ได้นะครับ นั้นคือ มุ่งมั่นและต้องการที่จะนำความสำเร็จมาสู่องค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนถ่อมตัว ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะทำเพื่อตนเอง แต่เป็นองค์กรเป็นหลัก ท่านผู้อ่านลองมองและหารอบๆ ตัวท่านดูนะครับว่าพบผู้นำที่มีลักษณะดังกล่าวบ้างหรือไม่ สัปดาห์หน้าผมจะมาอธิบายรายละเอียดของผู้นำระดับที่ 5 กันต่อครับ