21 September 2003

ไม่ทราบว่าเพราะทำไมที่ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาวารสารชั้นนำระดับโลกและระดับภูมิภาคได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการศึกษาในระดับ MBA กันอย่างกว้างขวาง ในวารสาร Strategy + Business ซึ่งเป็นวารสารทางด้านกลยุทธ์ชั้นนำของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกอย่าง Booz Allen ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง What Business Needs from Business Schools ซึ่งเป็นบทความที่แสดงความคิดเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการจากโรงเรียนทางด้านบริหารธุรกิจในอเมริกา ส่วนในเดือนที่แล้ว วารสาร Asia Inc ได้นำเสนอการจัดลำดับสถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และสุดท้ายในวารสาร Business Week ฉบับที่แล้วได้ตีพิมพ์ผลการสำรวจผู้ที่จบการศึกษาในระดับ MBAไปตั้งแต่ปี 1992 ว่าหลังจากจบมาแล้ว 10 ปี ได้มีความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน และผลตอบแทนจากการลงทุนในการศึกษาทางด้าน MBA นั้นคุ้มค่าหรือไม่ ในสัปดาห์นี้เรามาดูทั้งเนื้อหาจากวารสาร Strategy + Business และจาก Asia Inc กันนะครับ ส่วนของ Business Week นั้นพอจะสรุปได้สั้นๆ ว่าเมื่อสำรวจออกมาแล้ว ก็เป็นไปตามที่คาดคือการเรียนและจบ MBA มานั้นส่งผลดีให้กับผู้ที่เรียน MBA กันมา

เรามาดูเนื้อหาจากวารสาร Strategy + Business ก่อนนะครับ ถึงแม้ว่าในบทความจะเป็นข้อเสนอแนะต่อสถาบันศึกษาทางด้าน MBA ในอเมริกา แต่ผมเองคิดว่ามีข้อคิดที่สำคัญหลายประการที่น่าจะนำมาปรับใช้กับการจัดการศึกษาระดับ MBA ในบ้านเราได้ อีกทั้งในบ้านเราก็มีผู้ที่จบ MBA จากต่างประเทศกันเยอะ ทำให้น่าจะมีคุณลักษณะร่วมบางอย่าง ผู้เขียนบทความดังกล่าวมีความเห็นว่าการศึกษาทางด้าน MBA ยังไม่ได้เตรียมพร้อมผู้เรียนให้เพียงพอต่อสิ่งที่ต้องเผชิญในการทำงาน องค์กรธุรกิจในปัจจุบันต้องการผู้ที่สามารถคิดในเชิงสังเคราะห์ ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่ MBA ผลิตออกมา คือผู้ที่สามารถวิเคราะห์และนำสูตรที่ได้เรียน มาใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังต้องการผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางสำหรับงานหรือตำแหน่งบางด้าน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ MBA ผลิตออกมาคือผู้ที่มีลักษณะที่กว้าง (Generalists) ที่ไม่สามารถลงลึกลงในด้านใดด้านหนึ่งได้ สุดท้ายภาคธุรกิจต้องการผู้นำที่นำเสนอความคิดรวบยอดออกมาทั้งโดยการพูดและการเขียน เพื่อจูงใจและชี้นำให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม แต่สิ่งที่ MBA ผลิตออกมานั้นเป็นเพียงผู้ที่มีความคิด แต่ไม่สามารถนำเสนอความคิดนั้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าดูจากสิ่งที่ปรากฏในบทความนี้ดูเหมือนว่าจะยังมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่ภาคธุรกิจในอเมริกาคาดหวังกับผู้ที่จบ MBA ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ผลิตออกมา ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรกับปรากฎการณ์นี้ในประเทศไทยอย่างไรบ้างครับ ท่านผู้อ่านส่งอีเมล์มาคุยกับผมได้นะครับ 

ในปี 1999 ได้มีการวิจัยในอเมริกา โดยศึกษาถึงทักษะในด้านต่างๆ 12 ประการ ของกลุ่มทดลองสองกลุ่ม โดยในกลุ่มแรกเป็นผู้ที่จบ MBA และอีกกลุ่มเป็นผู้ที่จบด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช้ MBA ผลปรากฏว่าผู้ที่จบ MBA มีทักษะที่ดีกว่าผู้ที่จบในด้านอื่นๆ อยู่เจ็ดประการ คือในด้าน การปฏิบัติ (Action) การตั้งเป้า (Goal Setting) การวิเคราะห์ข้อมูล (Information Analysis) การเก็บรวบรวมข้อมูล (Information Gathering) ทักษะเชิงปริมาณ (Quantitative Skills) ทฤษฎี (Theory) และทางด้านเทคโนโลยี(Technology) แต่ในขณะเดียวกันทักษะอีกห้าด้านที่มีความสำคัญพอๆ กัน ผู้ที่จบทางด้าน MBA ไม่ได้มีเหนือผู้ที่ไม่ได้จบ MBA โดยทักษะอีกห้าด้านได้แก่ การช่วยเหลือผู้อื่น (Helping Others) ความคิดริเริ่ม (Initiatives) ภาวะผู้นำ (Leadership) ความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship) และการตัดสินใจด้วยสัญชาติญาณ (Sense Making) 

ในปี 2002 มีการสำรวจในแคนาดา โดยสอบถามผู้บริหารระดับสูงสุดจำนวน 141 คน โดยผู้บริหารเหล่านี้ได้ให้คะแนนผู้ที่ไม่ได้จบ MBA สูงกว่าผู้ที่จบ MBA ในด้านต่างๆ ได้แก่ ความมุ่งมั่นในการทำงานหนัก (Commitment to hard work) การสื่อสารด้วยวาจา (Oral communication) การสื่อสารด้วยการเขียน (Written communication) ความเข้าใจต่อรายละเอียดของอุตสาหกรรม (Understanding the details of an industry) ทักษะส่วนบุคคล (Interpersonal skills) หรือแม้กระทั่งทักษะทางด้านการตลาดและการขาย (Skills in marketing and sales) นอกจากนี้ในเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ทาง AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองการศึกษาทางด้านMBA ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาได้ออกรายงานแนะนำสถาบันการศึกษาในระดับ MBA ว่าควรที่จะสอนทักษะพื้นฐานทางด้านการจัดการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการสื่อสาร (Communication) ทักษะส่วนบุคคล (Interpersonal skills) การจัดการต่างวัฒนธรรม (Multicultural skills) การเจรจาต่อรอง(Negotiations) การพัฒนาผู้นำ (Leadership Development) การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)  ต่อมาในวารสารทางวิชาการ Academy of Management Learning and Education ได้ตีพิมพ์บทความของอาจารย์จาก Stanford ว่านอกเหนือจากสถาบันทางด้าน MBA ชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งแล้ว ที่เหลือไม่สามารถให้ผู้เรียนในสิ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ในโลกธุรกิจ อีกทั้งผู้เรียนก็ขาดประสบการณ์ในการชี้นำผู้อื่น ดูเหมือนว่าจากรายงานต่างๆ ข้างต้น สิ่งที่ผู้เรียน MBA ยังขาดอยู่คงจะเป็นทักษะส่วนบุคคล หรือที่เราเรียกว่าเป็น Soft skills เป็นส่วนใหญ่ ส่วนทักษะ หรือความสามารถในการคิด วิเคราะห์ หรือความสามารถในด้านวิชาการนั้นดูไม่น่าที่จะเป็นปัญหา

มีผู้ให้ความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นเนื่องจากสถาบันการศึกษาทั้งหลายมักจะมองว่าผู้เรียนเป็นลูกค้าที่สำคัญอันดับหนึ่ง ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรต่างๆ จึงมักจะตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้เรียนต้องการเป็นส่วนใหญ่ โดยละเลยสิ่งที่นายจ้างในอนาคตต้องการ นอกจากนี้สิ่งที่พบเห็นอีกประการก็คือสถาบันทางด้าน MBA ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันมากขึ้น ความแตกต่างของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าระวังไว้ประการหนึ่งในบ้านเรา ผมเองจะเริ่มได้ยินมามากขึ้นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ที่จบจาก MBA ของสถาบันต่างๆ ในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ที่ร่างหลักสูตร หรือตัวอาจารย์ผู้สอนของแต่ละสถาบันก็มักจะเป็นอาจารย์กลุ่มเดียวกัน ทำให้ผู้ที่อยากจะเรียนกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว เพียงสมัครเข้าไปเรียนที่หลักสูตร MBA ที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไปสอน ก็ได้เรียนจากอาจารย์ชื่อดังเหล่านั้น เหมือนกับได้ไปเรียนจากมหาวิทยาลัยชื่อดังจริงๆ

ผู้เขียนบทความ What Business Needs from Business Schools ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการปรับตัวของสถาบันการศึกษาต่างๆ ไว้หกแนวทางด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1. สถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ควรจะมีวิชาบังคับในด้านที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ภาวะผู้นำ การบริหารทรัพยากรบุคคล จิตวิทยา มากขึ้น เพื่อให้ผู้ที่จบไปได้มีทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารคนและนำองค์กร โดยควรที่จะมีอย่างน้อยสองวิชาทางด้านต่างๆ ข้างต้นต่อ 10 วิชาบังคับที่เรียน แต่ในปัจจุบันถ้าดูจากสถาบันชั้นนำทางด้าน MBA ของอเมริกาอย่างเช่น Harvard เองมีเพียงแค่วิชาเดียวที่มุ่งเน้นในด้านการบริหารคนจากวิชาบังคับทั้งหมด 11 วิชา หรือในกรณีของ Kellogg มีเพียงแค่วิชาเดียวจากวิชาบังคับเก้าวิชา

2. ควรที่จะมีวิชาที่สอนทักษะพื้นฐานและเครื่องมือที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการแสวงหาปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ผิวของปัญหา

3. ผู้เรียนควรที่จะมีพื้นฐานที่มั่นคงในทฤษฎีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรมบุคคล ภาวะผู้นำ การบริหาร เนื่องจากการมีพื้นฐานที่มั่นคงในทฤษฎีด้านต่างๆ จะทำให้ผู้ที่จบจาก MBA สามารถสร้างความแตกต่างในสายตาของนายจ้าง

4. สถาบันการศึกษาควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อที่ให้ผู้เรียนได้สามารถผสมผสานในสิ่งที่ได้เรียนและประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่างๆ เข้ากับการทำงาน ประเด็นนี้ผมเองมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันเรามักจะสอนกันเป็นศาสตร์ๆ แต่สิ่งที่ขาดคือการผสมผสานวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้เรียนขาดการมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งหมด

5. สถาบันต่างๆ ควรสนับสนุนให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสเรียนในวิชาเลือกอื่นๆ นอกเหนือแกนหลักๆ โดยส่วนใหญ่แล้วสถาบันต่างๆ มีวิชาเลือกให้เลือกมากมาย แต่ผู้เรียนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกแต่วิชาหลักๆ พวกตลาด การเงิน หรือ กลยุทธ์ การมีพื้นความรู้ที่หลากหลายจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต

6. สถาบันต่างๆ ควรที่จะมุ่งสร้างความแตกต่างให้กับหลักสูตรของตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 

นอกเหนือจากทั้งหกข้อข้างต้นแล้วยังมีข้อแนะนำอื่นๆ อีก เช่น การมีวิธีการในการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการทำหรือทดลองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การสอนด้วยการบรรยายหรือกรณีศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้สถาบันการศึกษาต่างๆ ยังควรที่จะมีความร่วมกับองค์กรภาคราชการและเอกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตร MBA ให้กับบุคลากรของหน่วยงานโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย สัปดาห์นี้คงจะนำเสนอได้เท่านี้ก่อนนะครับ เนื้อที่หมดแล้ว ในสัปดาห์หน้าเรามาดูการจัดลำดับ MBA ชั้นนำของวารสาร Asia Inc กันว่าเป็นอย่างไร

ก่อนจบในสัปดาห์นี้มีข่าวน่ายินดีที่จะแจ้งให้ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมภ์นี้นิดหนึ่งครับ เนื่องจากมีหลายๆ ท่านที่อยากจะให้ผมรวบรวมเนื้อหาในบทความนี้ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาเข้าเป็นเล่ม บัดนี้ทางสำนักพิมพ์ผู้จัดการได้กรุณาจัดพิมพ์ให้แล้ว โดยเนื้อหาภายในเล่มผมได้เรียบเรียงจากเนื้อหาเกือบสองปีของบทความนี้ โดยเลือกตอนที่ผมพิจารณาแล้วว่าน่าสนใจมาเรียบเรียง ปรับปรุงและเพิ่มเติมใหม่ โดยหนังสือเล่มนี้จะเริ่มวางจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือที่จะจัดในสัปดาห์นี้ ถึงต้นเดือนตุลาคมที่ศูนย์ประชุมสิริกิตต์ ขอบพระคุณครับ