17 October 2003

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอเนื้อหาในเรื่องของ ไอเดียดีๆ มาจากไหน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนนำมาจากหนังสือชื่อ What’s the Big Idea ของ Thomas Davenport กับ Laurence Prusak โดยได้กล่าวถึงพัฒนาการของแนวคิดในการบริหารและจัดการใหม่ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของผู้ที่เราเรียกว่ากูรู (Guru หรือผู้รู้) ต่อการพัฒนาแนวคิดทางการบริหารใหม่ๆ เหล่านี้ ในสัปดาห์นี้ผมเลยขออนุญาตนำเสนอในเรื่องที่ต่อเนื่องกับสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจต่อพวกกูรูเหล่านี้ว่าเขามีการจัดลำดับกันอย่างไร และกูรูเหล่านี้มาจากไหนอย่างไร เผื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้พัฒนาตนเองให้เป็นกูรูของเมืองไทยบ้าง

ผมเองจำได้ว่าเคยเสนออันดับของกูรูทางด้านการจัดการไปหลายครั้งแล้ว โดยแต่ละครั้งก็จะเป็นการจัดลำดับจากสถาบันที่แตกต่างกันไป โดยจำได้ว่าเคยนำมาจากการจัดลำดับของหนังสือพิมพ์ Financial Times ของอังกฤษ และนิตยสาร Business 2.0 ของอเมริกา ในสัปดาห์นี้เราลองมาดูลำดับของกูรูที่ปรากฎในหนังสือ What’s the Big Idea ดูบ้าง โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้มีการจัดลำดับของกูรูทางการจัดการ โดยใช้เกณฑ์สามประการ ได้แก่ 1) จำนวน Hits หรือหน้าที่เจอจากการใช้ Google ในการค้นหาชื่อของกูรู เนื่องจากในปัจจุบันเราถือว่า Google.com เป็น Search Engine ที่เร็วและครอบคลุมที่สุดตัวหนึ่งของโลก ทำให้หลายคนและหลายสถาบันใช้จำนวนหน้าที่เจอใน Google เริ่มกลายเป็นตัววัดมาตรฐานในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านของชื่อเสียง จนกระทั่งมีบางคนขนานนามเลยว่าเป็น Google Index ท่านผู้อ่านลองเข้าไปใน google.com ดูนะครับแล้วพิมพ์ชื่อของท่านดูซิครับ แล้วท่านจะแปลกใจว่ามีชื่อของท่านปรากฎขึ้นใน Google อยู่พอสมควร 2) การอ้างอิงจากนักวิชาการโดยการตรวจสอบจาก Social Sciences Citation Index ซึ่งเป็นการดูว่าได้มีนักวิชาการหรือนักเขียนท่านอื่นได้อ้างอิงงานของกูรูเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ยิ่งได้มีการอ้างอิงหรืออ้างถึงมากเพียงใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงความนิยมต่องานของกูรูท่านนั้น จริงๆ แล้วเกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้กันมากในหมู่สถาบันการศึกษาและนักวิชาการ เพื่อดูถึงการแพร่หลายและความนิยมต่อผลงานวิชาการของนักวิชาการแต่ละท่าน ในเมืองไทยเองสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งได้พยายามที่จะนำดัชนีตัวนี้มาใช้เหมือนกัน เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเมืองไทยยังไม่มีระบบในการจัดเก็บการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ ทำให้นักวิชาการของไทยแต่ละคนไม่มีทางรู้เลยว่างานของตัวเองได้ถูกอ้างอิงไปมากน้อยแค่ไหน 3) เป็นการอ้างอิงของสื่อมวลชนและสิ่งพิมพ์ทางธุรกิจต่างๆ ที่ปรากฎบนฐานข้อมูล LexisNexis ซึ่งเกณฑ์ด้านนี้มีส่วนคล้ายกับข้อที่สอง เพียงแต่ในข้อที่สองนั้นจะเป็นการอ้างอิงด้านวิชาการ แต่ในข้อนี้จะเป็นการอ้างอิงในด้านสื่อมวลชนทั่วๆ ไป

เป็นอย่างไรครับ เกณฑ์ที่เขาใช้ในการประเมินกูรูทางด้านธุรกิจ ในความเห็นของผมเองก็ต้องบอกว่าจับต้องและวัดได้ชัดเจนว่าเกณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ความคิดเห็นเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังในแง่ของการสร้างกระแสความนิยมให้ตัวเอง ผมเองมีความเห็นว่าถ้ากูรูคนไหนที่มีสื่อ ช่องทาง และวิธีการที่ดี ย่อมสามารถที่จะทำให้คะแนนของตัวเองในเกณฑ์ที่ 1 และ 3 เพิ่มสูงได้ เรามาดูดีกว่าครับว่าในสิบอันดับแรกของการจัดอันดับกูรูของหนังสือ What’s the Big Idea มีใครบ้าง 1) Michael Porter ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับเขาดีอยู่แล้ว 2) Tom Peters เป็นทั้งนักเขียนและนักพูดชื่อดัง ที่จุดกระแสของกูรูขึ้นมาจากหนังสือ In Search of Excellence 3) Robert Reich เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของอเมริกา เขียนหนังสือ The Future of Success และ The Work of Nations (ผมต้องยอมรับเลยครับว่าเพิ่งได้ยินชื่อท่านนี้เป็นครั้งแรก) 4) Peter Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการที่ทุกท่านรู้จักดี ถ้าดูจากการจัดลำดับของสำนักอื่นๆ แล้ว Drucker มักจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่พอมาจัดอันดับด้วยวิธีนี้กลับทำให้ Drucker ตกไปอยู่อันดับสี่ 5) Gary Becker เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมไม่คุ้นเคย เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Chicago และได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 6) Peter Senge เป็นปรมาจารย์ด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) 7) Gary Hamel เป็นทั้งอาจารย์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ 8) Alvin Toffler เป็นนักคิดชื่อดังของทางฝั่งยุโรป เขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม 9) Hal Varian เป็นชื่ออีกชื่อที่ผมไม่ค่อยคุ้นเท่าใด เป็นคณบดีอยู่ที่ School of Information Management Studies, Berkeley 10) Danial Goleman เป็นผู้บุกเบิกและเขียนหนังสือหลายเล่มทางด้าน Emotional Intelligence กับภาวะผู้นำ

เมื่อได้ดูจาก 100 อันดับแรกของการจัดกูรูแล้วพบว่ามีสุภาพสตรีอยู่เพียงแค่หกท่าน และเป็นชาติอื่นที่ไม่ใช่อเมริกาอยู่เพียงแค่แปดท่าน แสดงให้เห็นว่ากูรูชั้นนำในปัจจุบันมักจะเป็นสุภาพบุรุษชาวอเมริกันเป็นส่วนมาก และแสดงให้เห็นอีกว่าแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีจุดกำเนิดมาจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแนวคิดการบริหารที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะมีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมและสภาวะแวดล้อมแบบไทยๆ มากน้อยเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้บริหารของไทยสามารถที่จะรับเอาแนวคิดการบริหารของอเมริกามาใช้ในไทยได้อย่างดี ดูได้จากผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่แนวคิดทางด้านการบริหารที่ผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใช้กันมากที่สุดยี่สิบอันดับแรกนั้น มีแนวคิดหรือเครื่องมือด้านการบริหารที่เป็นของฝั่งเอเชียอยู่เพียงสามสี่ประการเท่านั้นเอง (แนวคิดพระพุทธศาสนา แนวคิดของสามก๊ก และแนวคิดของซุนหวู)

ทีนี้เรามาดูกันต่อนะครับถึงที่มาหรือพื้นฐานของกูรูทางด้านการจัดการเหล่านี้ ซึ่งในหนังสือ What’s the Big Idea เขาได้แบ่งไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจทีเดียว โดยระบุไว้เลยว่าผู้ที่เป็นกูรูทางด้านการจัดการส่วนใหญ่นั้น มักจะมีพื้นฐานมาจากวิชาชีพสี่ด้าน ได้แก่ นักวิชาการด้านธุรกิจ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร และสุดท้ายคือสื่อมวลชน เราลองมาดูกันในแต่ละประเภทนะครับ กลุ่มแรกคือพวกนักวิชาการหรืออาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจ ตัวอย่างของกูรูประเภทนี้ได้แก่ Michael Porter ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือ C.K. Prahald ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เป็นต้น ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียน What’s the Big Idea ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิชาชีพนี้กับการพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ ก็คือ จริงๆ แล้วบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นบทบาทที่เอื้อต่อการพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดการมากที่สุด เนื่องจากภารกิจของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจเองคือการพัฒนาและเผยแพร่แนวคิดทางด้านการจัดการ ดังนั้นถ้าพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นคนทำก็คงยากที่จะหาคนทำได้ แต่ผู้เขียนหนังสือทั้งสองท่าน (จริงๆ แล้วรวมตัวผมด้วย) เห็นว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยกลับไม่ได้ทำหน้าที่นี้ในการพัฒนาและเผยแพร่แนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ เท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากในระบบมหาวิทยาลัยในปัจจุบันอาจารย์แต่ละท่านจะมีความก้าวหน้าได้ก็ผ่านการทำวิจัยที่ค่อนข้างเป็นวิจัยที่แคบ เต็มไปด้วยตัวเลขและสถิติ ยากที่คนอ่านหรือผู้บริหารทั่วๆ ไปจะสามารถเข้าใจได้ และไม่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริงๆ นอกจากนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจจริงๆ เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสหรือเจอกับผู้บริหารหรือนักธุรกิจเท่าใด อาจจะเรียกได้ว่าอาจารย์เหล่านี้มีโลกและมุมมองที่แคบ และพยายามศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรและการบริหารจากการวิเคราะห์ตัวเลขทางสถิติ ทดลองหรือจำลองสถานการณ์กับลูกศิษย์ของตนเอง จนอาจจะกล่าวได้ว่าอาจารย์เหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสออกไปเผชิญและสัมผัสกับโลกธุรกิจที่ตนเองพยายามยกตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด ท่านผู้อ่านอาจจะแสดงความคิดที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นข้างต้น เนื่องจากพอเห็นชื่อของกูรูเมื่อใดก็มักจะพบว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเสียส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วบุคคลเหล่านั้นเองเป็นเพียงแค่คนส่วนน้อยของแวดวงวิชาการ และท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าไม่ว่าในส่วนไหนของโลก กลุ่มอาจารย์ที่ออกไปมีโอกาสสัมผัสกับโลกธุรกิจจริงๆ หรือให้คำปรึกษากับธุรกิจเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ นั้นกลับมักจะเป็นถูกมองเป็นตัวประหลาดในแวดวงวิชาการด้วยซ้ำไป

บุคคลจากวิชาชีพที่สองที่มักจะก้าวมาเป็นกูรูทางด้านการจัดการก็จะเป็นพวกที่ปรึกษาต่างๆ อาทิเช่น Adrian Slywotzky จาก Mercer หรือ James Champy จาก Perot Systems โดยบุคคลเหล่านี้อาจจะมาจากบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการชั้นนำของโลกอย่าง Boston Consulting Group, McKinsey, หรือ Bain เป็นต้น หรืออาจจะเป็นพวกที่ปรึกษาอิสระทั้งหลายก็เป็นไปได้ ที่ปรึกษาเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในแง่ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับปัญหา และสถานการณ์ทางธุรกิจจริงๆ ทำให้มีวัตถุดิบจำนวนมากในการพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ อีกทั้งที่ปรึกษาเหล่านี้เมื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วก็มีโอกาสที่ดีในการนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ทดสอบหรือทดลองในบริษัทที่ตนเองไปให้คำปรึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ปรึกษาทางด้านการจัดการทุกคนจะสามารถเป็นกูรูได้หรอกนะครับ เนื่องจากที่ปรึกษาบางคนก็ไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบในสิ่งที่ตนเองมีอยู่มาพัฒนาและเผยแพร่เป็นแนวคิดทางการจัดการใหม่ๆ ได้

กลุ่มวิชาชีพที่สามก็คือผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ซึ่งเราพบว่าในปัจจุบันเริ่มที่จะมีบทบาทการเข้ามาเป็นกูรูทางด้านการจัดการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Bill Gates, Jack Welch, หรือ Andry Grove รวมทั้งในไทยเองก็ได้เริ่มมีผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่ได้พยายามเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการใหม่ๆ (รวมทั้งผู้บริหารของประเทศด้วยครับ) ผู้บริหารเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในด้านของการนำเอาแนวคิดที่ตนเองใช้จนสำเร็จที่องค์กรของตนมาเผยแพร่ให้คนอื่นเขาได้รับรู้ ซึ่งก็มักจะได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถพิสูจน์ถึงความสำเร็จของแนวคิดนั้นได้จากผลการดำเนินงานขององค์กรที่ผู้บริหารนั้นบริหาอยู่ อย่างไรก็ดีกลุ่มวิชาชีพนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกันในด้านที่บุคคลเหล่านี้ยังมีงานประจำที่ต้องทำและรับผิดชอบอยู่ ทำให้ไม่สามาถทุ่มเทเวลาในอย่างเต็มที่ในการเป็นกูรูทางด้านการบริหาร นอกจากนี้ไม่จำเป็นที่แนวคิดที่ประสบความสำเร็จในองค์กรหนึ่งจะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกองค์กร

กลุ่มสุดท้ายได้แก่สื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงนึกไม่นึก ตัวอย่างของกูรูที่มาจากสื่อมวลชนได้แก่ Thomas Stewart ที่ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารของ Harvard Business Review และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดในเรื่องของ Knowledge Management ขึ้นมา กลุ่มสื่อมวลชนเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในด้านของการเป็นคนแรกๆ ที่ได้มีโอกาสรับทราบต่อพัฒนาการของแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ อีกทั้งได้มีโอกาสเจอ สัมภาษณ์ผู้บริหารและนักวิชาการจำนวนมาก ทำให้ได้มีโอกาสในการรวบรวมแนวคิดต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบกับทักษะในการเขียน และการมีสื่ออยู่ในมือ ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาเป็นกูรูทางการจัดการได้เหมือนกัน

เป็นอย่างไรครับเขาวิเคราะห์พัฒนาการและที่มาของกูรูทางด้านการจัดการได้น่าสนใจทีเดียว และเมื่อพิจารณาหนึ่งร้อยกูรูแรกตามที่ได้มีการจัดลำดับแล้ว จะพบว่ามีนักวิชาการมากที่สุด ตามด้วยที่ปรึกษา ผู้บริหาร และสื่อมวลชน ตามลำดับ ส่วนของเมืองไทย ยังไม่เคยได้มีการวิเคราะห์หรือจัดลำดับซะที เลยให้ข้อมูลไม่ได้ แต่อย่างที่เรียนไว้ในฉบับที่แล้วครับว่า ในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่เราจะนำแนวคิดของเขามาปรับใช้มากกว่าพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา