6 June 2004
ถ้าพูดถึงคำว่า Strategy-Focused Organization หรือ SFO ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านกว่าร้อยละ90 คงจะสงสัยและถามว่าคืออะไร? แต่ถ้าบอกว่า Balanced Scorecard หรือ BSC ผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านกว่าร้อยละ 90 คงจะคุ้นเคยหรือเคยได้ยินกันมาบ้าง จริงๆ แล้วทั้งสองแนวคิดนี้ต่างเป็นแนวคิดที่มีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยสองนักคิดชาวอเมริกัน Robert Kaplan และ David Norton โดยทั้งคู่พัฒนา BSC ขึ้นมาก่อน เขียนเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง หลังจากนั้นก็เอาแนวคิดของ BSC ไปต่อยอดและเขียนเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งและตั้งชื่อว่า Strategy-Focused Organization (ซึ่งก็เป็นหนังสือขายดีเช่นเดียวกับเล่มแรก) และดูเหมือนว่าในช่วงหลังทั้งคู่ต่างก็พยายามที่จะโปรโมทแนวคิดของ SFO เป็นหลัก แต่ดูเหมือนในเมืองไทยเรายังยึดติดกับ Balanced Scorecard และการวัด และประเมินผลเป็นหลัก ซึ่งก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับ ในสัปดาห์นี้เรามาดูกันอย่างคร่าวๆ นะครับว่าเจ้า SFO คืออะไรกันแน่?
แนวคิดของ SFO เป็นการนำแนวคิดของ BSC มาต่อยอด โดยแทนที่จะมองว่า BSC เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการวัดและประเมินผลองค์กร (แบบที่หลายๆ ท่านเข้าใจ) แต่ยังสามารถนำแนวคิดของ BSC มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้ทุกคนในองค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เป็นหลัก (นั้นคือสาเหตุว่าทำไมภาษาอังกฤษเขาถึงใช้คำว่า Strategy-Focused Organization หรือองค์กรที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์) นอกเหนือจาก BSCแล้วภายใต้แนวคิดของ SFO ยังมีหลักการอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Strategy Map หรือแผนที่กลยุทธ์ (เป็นชื่อหนังสือเล่มที่สามของทั้งคู่ครับ แล้วหลายๆ ครั้งเราก็ผสมแนวคิดของแผนที่กลยุทธ์เข้าไปกับ BSC) หรือแนวคิดในเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ถ้าจะถามว่า SFO คืออะไร ก็คงตอบง่ายๆ นะครับว่าคือแนวทางที่จะทำให้ทุกคนในองค์กรทั้งผู้บริหารและบุคลากร ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นต่อกลยุทธ์เป็นหลัก เนื่องจากปัญหาขององค์กรส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้มาจากการขาดกลยุทธ์ แต่เป็นปัญหาของการไม่สามารถนำกลยุทธ์ไปใช้และปฏิบัติให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าองค์กรมีลักษณะเป็น SFO จะทำให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ และสุดท้ายย่อมจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้
ทั้ง Kaplan และ Norton ได้มีการติดตามศึกษาองค์กรจำนวนมากที่นำเอาแนวคิดของBSC ไปใช้งาน และประสบความสำเร็จ (โดยดูจากผลการดำเนินงาน) และนำมากำหนดเป็นแนวคิดของ SFO ไว้ห้าประการด้วยกัน โดยทั้งคู่เชื่อว่าหลักการทั้งห้าประการดังกล่าว ถ้าองค์กรสามารถยึดถือและปฎิบัติตามได้ก็จะทำให้กลยุทธ์ได้มีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจนประสบผลสำเร็จ (หลักทั้งห้าประการนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะนำเสนอ กับสิ่งที่ทั้งคู่เขียนในหนังสือ Strategy-Focused Organization เมื่อสี่ปีที่แล้วจึงไม่ตรงกันทั้งหมดครับ) หลักทั้งห้าประการประกอบไปด้วย
- ผู้นำระดับสูงจะต้องเป็นผู้ผลักดันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Mobilize change through executive leadership) เนื่องจากการนำกลยุทธ์ใดก็ตามมาปรับใช้ในองค์กรจะต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งผู้นำระดับสูงจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ที่ผลักดันและชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในประเด็นนี้ก็ต้องอาศัยหลักของการบริหารการเปลี่ยนแปลงเข้ามาช่วย
- การแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Translate strategy into operational terms) ซึ่งก็ต้องอาศัยทั้งหลักการของแผนที่ทางกลยุทธ์ (Strategy Map) และ Balanced Scorecard เข้ามาช่วย มีการตั้งเป้าหมาย รวมถึงแนวทางที่จะต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ พูดง่ายๆ ว่า BSC จะเข้ามาช่วยให้องค์กรมีความเป็น SFO ผ่านทางขั้นตอนนี้
- การทำให้ทั่วทั้งองค์กรมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ (Align the organization to the strategy) เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์กับหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร การเชื่อมโยงกับบรรดากรรมการบริษัท เชื่อมโยงกับแผนงานด้านบุคลากรและไอที เรียกได้ว่าเป็นการทำให้ทั่วทั้งองค์กรมีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์
- การจูงใจเพื่อทำให้กลยุทธ์เป็นงานของทุกคน (Motivate to make strategy everyone’s job) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตัวทางกลยุทธ์ การสื่อสาร การผูกผลตอบแทนและแรงจูงใจเข้ากับกลยุทธ์ โดยภายใต้ข้อนี้เป็นการมองว่าถ้าต้องการให้กลยุทธ์เกิดขึ้นแล้ว จะต้องจูงใจให้ทุกคนปฏิบัติตามกลยุทธ์
- การดูแลให้กลยุทธ์เป็นงานประจำ (Govern to make strategy a continual process) เป็นการทำให้งานทางด้านกลยุทธ์มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เห่อเป็นพักๆ แล้วเลิกไป ไม่ว่าจะเป็นผ่านกระบวนการประชุมทบทวนทางกลยุทธ์หรือ BSC การเชื่อมโยงกลยุทธ์เข้ากับระบบงบประมาณ หรือแม้กระทั่งการตั้งหน่วยงานที่ดูแลทางด้านกลยุทธ์ขององค์กรโดยเฉพาะ (Strategic Management Office)
เป็นอย่างไรบ้างครับหลักของ Strategy-Focused Organization ทั้งห้าข้อ จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดมากกว่านี้นะครับ แต่สาเหตุที่นำมาเสนอในสัปดาห์นี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่าการนำ BSC มาใช้นั้นไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการวัดและประเมินผลเท่านั้น แต่ในภาพรวมแล้วเป็นการทำให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากจะฟังแนวคิดนี้จากต้นตำหรับ (Robert Kaplan) ก็ลองโทร.ไปสอบถามดูที่สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ที่ 02-319-7675 – 8 นะครับ Kaplan เขาจะมาจัดสัมมนาที่เมืองไทยในวันที่ 5 สิงหาคม นี้ครับ