16 November 2003

ในช่วงหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอแต่เฉพาะแนวคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ ในสัปดาห์จึงอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง โดยจะนำเสนอบทบาท ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการบริหารองค์กร เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการบริหารองค์กร อย่างไรก็ดีความสำคัญของ  IT ต่อความสำเร็จขององค์กรก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศที่ในช่วงที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากเมื่อตอนต้นปีได้มีบทความในวารสาร Harvard Business Review ที่ผู้เขียนระบุว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะทำให้องค์กรธุรกิจเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน เนื่องจาก IT ในปัจจุบันเปรียบเหมือนเป็นสินค้า Commodity ที่ทุกองค์กรสามารถหาซื้อหรือพัฒนาขึ้นมาได้ ผลจากบทความดังกล่าว ทำให้เกิดข้อวิพากษ์กันอย่างมาก มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นประกอบด้วยทั้งนักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ สำหรับสาเหตุที่ผู้เขียนบทความดังกล่าว (บทความชื่อ IT Doesn’t Matters) มองว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันอีกต่อไปนั้น เนื่องจากในปัจจุบันตัวเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ถือเป็นเทคโนโลยีเฉพาะตัวของบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ขอเพียงแค่องค์กรมีความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรต่างๆ ที่เพียงพอ ก็ย่อมจะสามารถมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เท่าเทียมกับองค์กรอื่นๆ และสิ่งใดที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างจากองค์กรอื่นแล้ว ย่อมยากที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้ 

ผมได้มีโอกาสถามอาจารย์ทางด้านนี้ในเมืองไทยหลายๆ ท่าน ซึ่งทุกท่านก็มีความคิดเห็นที่คล้ายๆ กันว่า ในกรณีของอเมริกานั้นเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะไม่ได้นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขัน เนื่องจากพื้นฐานขององค์กรต่างๆ ในอเมริกาไม่แตกต่างกันเท่าใด ซึ่งการที่จะพัฒนาหรือแสวงหาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรให้เท่าเทียมกับองค์กรอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ในสภาวะแวดล้อมของเมืองไทยแล้วจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เนื่องจากพื้นฐานและความพร้อมของแต่ละองค์กรไม่เท่ากัน ทำให้ความพร้อมและความสามารถในการพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรแตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ความไม่เสมอภาคทางการแข่งขันและ ยังคงทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่

ถ้าในเมืองไทย เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการนำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันแล้ว คำถามต่อไปก็คือผู้บริหารระดับสูงได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศมากน้อยเพียงใด เท่าที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ จะพบว่ามีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ผู้บริหารที่ไม่สนใจอาจจะมองไม่เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือมองว่าเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนยากที่จะทำความเข้าใจ พอได้ยินคำว่า ERP, Data Warehouse, Datamining, BI, EIS, ฯลฯ ผู้บริหารหลายๆ ท่านก็จะเกิดอาการปวดหัวตัวร้อนขึ้นมาทันที ในหลายๆ องค์กรก็มักจะมอบอำนาจหน้าที่ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับผู้บริหารที่ดูแลด้านนี้รับผิดชอบไป อย่างไรก็ดีปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือการพัฒนาและลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีต้นทุนที่สูง ซึ่งหลายๆ กรณีจะเกิดอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารด้านที่เกี่ยวข้อง และต้องย้อนกลับมาที่ตัวผู้บริหารสูงสุด แต่เมื่อผู้บริหารสูงสุดไม่มีความรู้และความเข้าใจในด้านนี้ที่ดีพอ ก็มักจะมองว่าการลงทุนที่มหาศาลเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ แถมลงทุนเสร็จก็ล้าสมัย หรือบางครั้งมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางของคน IT โดยเฉพาะ ดังนั้นในหลายๆ องค์กรที่การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอ 

ในตอนนี้ได้มีความพยายามจากทางสถาบันการศึกษาที่จะทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้บริหาร อย่างเช่นที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ ขึ้นมาเป็นหลักสูตรแรกของเมืองไทย เมื่อ 12 ปีที่แล้ว โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทางด้านการบริหารธุรกิจ (ในลักษณะเดียวกับผู้ที่จบ MBA) และทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และในทุกๆ ปีทางหลักสูตรจะจัดให้มีการนำเสนอโครงการพิเศษที่นิสิตได้จัดทำขึ้น ผมเองได้มีโอกาสพิจารณาโครงการพิเศษเหล่านี้มาบ้างและคิดว่าโครงงานเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารองค์กรต่างๆ อย่างเช่น นิสิตคนหนึ่งได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นสำหรับโรงพยาบาลเอกชน โดยในระบบดังกล่าวจะมีตัวชี้วัดต่างๆ ตามหลักของ Balanced Scorecard และ Management Cockpit ที่สามารถนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารได้ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาลตามหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่ ซึ่งผมว่าระบบดังกล่าวน่าจะเป็นระบบในฝันของผู้บริหารระดับสูงเลยทีเดียว นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีระบบอื่นๆ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศกับแนวคิดทางธุรกิจต่างๆ ที่จะทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลขึ้น ท่านผู้อ่านที่สนใจลองแวะเข้าไปที่คณะบัญชี จุฬาฯ ในวันเสาร์ที่ 22 นี้ดูนะครับ เขาจะมีการนำเสนอโครงงานต่างๆ กว่า 50 ระบบ ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือลองโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ของหลักสูตร 02-218-5715-6 ก่อนนะครับ