5 December 2002
ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ ได้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของตนเอง ด้วยการขอรับการตรวจมาตรฐานหรือการขอรับรางวัลคุณภาพจากสถาบันต่างๆ การที่องค์กรธุรกิจใดจะได้รับการรับรองมาตรฐานหรือได้รับรางวัลคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากองค์กรนั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบการดำเนินงานและระบบคุณภาพของทั่วทั้งองค์กรให้ได้ตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ และถ้าเป็นมาตรฐานหรือรางวัลระดับโลกแล้ว แสดงว่าองค์กรใดที่ได้รับรางวัลเหล่านี้แสดงว่ามีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับโลกทีเดียว
ตัวอย่างของมาตรฐานหรือรางวัลเหล่านี้ได้แก่ระบบ ISO ที่กำลังนิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หรือรางวัล Malcolm Baldrige National Quality Award ของอเมริกาที่ได้มีการแปลงเป็นของไทยภายใต้ชื่อรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) แต่ถ้าจะพิจารณาถึงรางวัลทางด้านคุณภาพและการบริหารองค์กรที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ต้องมองไปที่ประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่บุกเบิกและให้ความสำคัญกับคุณภาพ โดยรางวัลด้านคุณภาพสูงสุดของญี่ปุ่นคือ Deming Prize ซึ่งได้ตั้งชื่อรางวัลเพื่อเป็นเกียรติแก่ Edward Deming ซึ่งถือเป็นบิดาทางด้านคุณภาพ Edward Deming ได้เป็นผู้ริเริ่มนำแนวคิดในด้านของการบริหารคุณภาพมาใช้ที่ประเทศญี่ปุ่น จนบริษัทของญี่ปุ่นสามารถพัฒนาคุณภาพทั้งในด้านการดำเนินงานและในสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก และปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวโลกของสินค้าที่มีต่อสินค้าที่ ‘Made in Japan’ จากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
จะว่าไปแล้ว Deming Prize ถือเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบสำหรับรางวัลระดับโลกแห่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รางวัล Malcolm Baldrige National Quality Award ของอเมริกาหรือรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่เรากำลังตื่นตัวกันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ Deming Prize นั้นเมื่อตั้งชื่อตามปรมาจารย์ระดับโลกด้านคุณภาพแล้วย่อมเป็นรางวัลที่มุ่งเน้นในด้านของคุณภาพและระบบ Total Quality Management (TQM) เป็นหลัก การที่จะได้รับ Deming Prize ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดายนัก โดยบริษัทที่จะได้รับรางวัลนี้จะต้องมีการดำเนินงานในด้านต่างๆ ผ่านเกณฑ์คะแนนที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า จะต้องมีทั้งการประเมินตนเองก่อนจากนั้นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาประเมินองค์กรตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น โดยเกณฑ์หลักๆ ที่ใช้ในการประเมินเพื่อขอรับ Deming Prize นั้นประกอบด้วย ด้านนโยบายการบริหารและการนำไปใช้จริง ด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ ด้านการพัฒนากระบวนการในการดำเนินงาน ด้านการบำรุงรักษาและพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานและคุณภาพของสินค้า ด้านการพัฒนาระบบการบริหารที่มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพ ปริมาณ ต้นทุน และการจัดส่ง ด้านการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ และด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร นอกเหนือจากเกณฑ์ในด้านต่างๆ ข้างต้นแล้วบทบาทของผู้บริหารระดับสูงก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่บริษัทที่จะขอรับ Deming Prize จะต้องให้ความสำคัญ ทั้งในด้านของความกระตือรืนร้นของผู้บริหารระดับสูงต่อการพัฒนาระบบคุณภาพขององค์กร ลักษณะภาวะผู้นำ การกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ รวมถึงการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้บริหารระดับสูง
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าองค์กรใดก็ตามที่สามารถผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัลDeming มาได้ต้องไม่ใช่ธรรมดา เนื่องจากต้องมีทั้งระบบการบริหารและตัวผู้นำที่มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพจนสามารถผ่านเกณฑ์ที่ดังกล่าว จุดสำคัญอีกประการของการได้รับรางวัล Deming นั้นอยู่ที่บริษัทที่ได้รับรางวัลนี้จะต้องเปิดเผยและนำเสนอถึงแนวทางในการบริหารตามระบบ TQM ให้กับบริษัทอื่นๆ ได้รับทราบเพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทอื่นๆ ด้วย
เมื่อดูรายชื่อของบริษัทที่ได้รับ Deming Prize ส่วนใหญ่แล้วก็หนีไม่พ้นบริษัทจากญี่ปุ่น มีบริษัทจากประเทศอื่นเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่เคยได้รับรางวัลนี้ ปีนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีบริษัทของไทยแห่งหนึ่งที่ได้รับรางวัล Deming จากญี่ปุ่นและถือเป็นบริษัทไทยแท้บริษัทแรกที่ได้รับรางวัลนี้ คือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือซิเมนต์ไทย จริงๆ แล้วไม่น่าแปลกใจเท่าใดที่มีบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยที่ได้รับรางวัลด้านคุณภาพระดับโลกเช่นนี้ เนื่องจากทางเครือซิเมนต์ไทยต่างให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับในเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างมาก เมื่อถามบุคคลภายนอกเกี่ยวกับความโดดเด่นของเครือซิเมนต์ไทยแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจทุกคนมักจะนึกถึงระบบคุณภาพและระบบการพัฒนาบุคลากรของบริษัทเป็นสิ่งแรก และทางปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ในภาคใต้ของไทยก็เป็นบริษัทแรกในเครือที่ได้รับรางวัลระดับโลกเช่น Deming Prize
การที่ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) ได้รับรางวัล Deming ในครั้งนี้ นอกเหนือจากความภูมิใจของบริษัทและเครือฯ แล้ว ผมเชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับในครั้งนี้ นอกเหนือจากรางวัลและการประกาศเชิดชูเกียรติแล้ว ประโยชน์ที่บริษัทได้รับโดยตรงน่าจะเกิดจากการพัฒนาระบบในการบริหารงานในด้านต่างๆ ของบริษัทให้มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะด้านการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงการประหยัดต้นทุน การสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนวิธีการในการคิดของบุคลากร การสื่อสารระหว่างบุคลากรต่างๆ ภายในองค์กร ฯลฯ ซึ่งประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้น่าจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและการแข่งขันขององค์กรได้ทั้งสิ้น ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) น่าจะเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาที่เหมาะสมสำหรับบริษัทอื่นที่ต้องการที่จะพัฒนาระบบคุณภาพภายในองค์กร