7 April 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอกรณีศึกษาสั้นๆ เรื่อง “เมื่อพนักงานแอบรับงานส่วนตัว” โดยเป็นเรื่องของโปรแกรมเมอร์ของบริษัทที่แอบไปรับงานส่วนตัวมาทำ แต่ทำนอกเวลาการทำงานปกติ แล้วเจ้านายจับได้ โดยโจทย์ที่ผมทิ้งไว้ให้ตอนท้ายก็คือถ้าท่านผู้อ่านเป็นเจ้านายท่านนั้น ท่านผู้อ่านจะทำอย่างไร? ได้มีท่านผู้อ่านหลายท่านร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านทางอีเมลมาให้ ซึ่งผมขออนุญาตสรุปประเด็นสำคัญมาพิจารณากันนะครับ ผมว่ามีความคิดเห็นที่น่าสนใจและหลากหลายทีเดียว
- มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่มองว่าการกระทำของนายสมชายนั้นเป็นความผิด เนื่องจากการรับงานของบริษัทอื่นมาทำโดยใช้ทรัพยากรของบริษัท (ถึงแม้จะนอกเวลาทำงานก็ตาม) เป็นสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์กับบริษัท เพียงแต่ความผิดดังกล่าวยังไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง เนื่องจากการทำงานเพิ่มขึ้น (ถึงแม้จะเป็นงานนอกเหนืองานประจำ) จะเป็นการเพิ่มทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์ให้กับนายสมชายเอง และสุดท้ายย่อมจะนำไปสู่ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ
- บางท่านเสนอว่าจะต้องพิจารณาด้วยว่าในบริษัทตัวอย่างมีโปรแกรมเมอร์ที่มีฝีมือระดับคุณสมชายอยู่มากหรือไม่ รวมทั้งในด้านของเงินทุนด้วย เนื่องจากถ้าทั้งสองประการข้างต้นมีอยู่น้อยแล้วก็ยังคงต้องง้อนายสมชายอยู่ เพราะไม่มีทางเลือกที่มาก แต่ถ้าทั้งโปรแกรมเมอร์และเงินทุนมีอยู่มากก็จะต้องกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจน เพราะจะต้องมีมาตรฐานเดียวทั้งบริษัท ไม่ใช่ว่าเป็น Double Standard (คำพูดนี้ผมไม่ได้ยกมาเองนะครับ มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งเขียนมาในลักษณะนี้จริงๆ) เนื่องจากสุดท้ายแล้วการขาดวินัยในการปกครองคนย่อมจะส่งผลกระทบต่อคนหมู่มากในองค์กร และส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีมในองค์กร
- มีท่านผู้อ่านอีกท่านหนึ่งที่ได้ให้ความเห็นในเชิงเปรียบเทียบเหมือนกันครับว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ต้องรับงานที่ปรึกษาหรืองานสอนข้างนอกเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม หรือนักโฆษณาหลายๆ ท่านก็ได้มีการนำประสบการณ์จากบริษัทหนึ่งไปช่วยในการทำงานให้กับอีกบริษัทหนึ่ง หรือ บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการระดับโลกหลายแห่งก็ได้มีการนำความล้มเหลวของบริษัทหนึ่งไปให้คำปรึกษากับอีกบริษัทหนึ่ง โดยท่านผู้อ่านท่านนี้ได้ระบุว่าคงยากที่จะตัดสินใจได้ว่าใครถูกหรือผิด เนื่องจากยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และในบางสถานการณ์บางสิ่งก็อาจจะถูก แต่ในบางสถานการณ์บางสิ่งก็อาจจะผิดก็ได้
- มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์ของตัวท่านเองมาให้ เนื่องจากท่านเองก็ได้มีการรับงานทำส่วนตัวทั้งๆ ที่บริษัทมีนโยบายที่ห้ามในส่วนนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เสียงานเสียการ แต่ท่านผู้อ่านท่านนี้มีความเห็นว่าตราบใดที่ทำงานยังทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มความสามารถและผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ คงจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่านที่จะทำงานส่วนตัวของท่านได้ ตราบใดที่งานนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของบริษัท
- ได้มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้กรุณาช่วยผมวิเคราะห์ปัญหาด้วยนะครับว่าเกิดขึ้นจากปัญหาในเรื่องของการขาดความผูกพันต่อองค์กร และไม่มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อองค์กร อีกทั้งการขาดระบบการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานและชัดเจน สำหรับแนวทางในการแก้ไขนั้นก็จะต้องหาทางทำให้ทั้งบุคลากรภายในองค์กรและองค์กรได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายอาชีพอย่างโปรแกรมเมอร์นั้นจะต้องเสนองานใหม่ที่ยากและท้าทายควบคู่ไปกับงานประจำที่ทำด้วย
เป็นอย่างไรบ้างครับความคิดเห็นบางส่วนของท่านผู้อ่านที่ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นเข้ามา ต้องขอขอบพระคุณต่อทุกท่านที่แสดงความคิดเข้ามาด้วยนะครับ ทีนี้เราลองมาดูความคิดเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญกันบ้างนะครับ ทั้งผู้บริหารระดับ CEO หรือนักวิชาการทางด้านการจัดการ
- ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งบอกเลยครับว่าแทนที่บริษัทจะมัวแต่ไปวุ่นวายหรือสนใจต่อปัญหาการเอางานข้างนอกมาทำโดยใช้ทรัพยากรของบริษัท ทำไมบริษัทถึงไม่ทำความรู้จักและเข้าใจต่อตัวนายสมชายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่นายสมชายต้องการ ความคาดหวัง และความฝันของเขา หลังจากนั้นก็พยายามแสวงหากิจกรรม งาน หรือการเสริมสร้างประสบการณ์และความสามารถของสมชายให้ตรงตามที่เขาต้องการ บริษัทควรจะมองสมชายในฐานะที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสำหรับบริษัทในอนาคตมากกว่าเพียงแค่การมานั่งจับผิดว่าสมชายของงานข้างนอกมานั่งทำ
- มีผู้บริหารอีกท่านหนึ่งที่ทำงานด้านกฎหมาย ซึ่งนำเสนออีกมุมมองหนึ่งนะครับ ท่านนี้บอกว่าแทนที่เจ้านายของสมชายจะเก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรที่จะไปปรึกษาผู้ที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรบุคคลแต่เนิ่นๆ อีกทั้งจะต้องประสานกับฝ่ายกฎหมายของบริษัทให้ตรวจสอบว่าสิ่งที่สมชายทำนั้นผิดต่อระเบียบหรือกฎหมายใดๆ ของบริษัทหรือไม่ หลังจากนั้นบริษัทก็อาจจะต้องออกระเบียบหรือนโยบายสำหรับอนาคตมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท แต่ก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของพนักงานแต่ละคนด้วย พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องในทำนองนี้ โดยจะต้องมีความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทกับการสนองตอบต่อความต้องการของพนักงาน
เป็นอย่างไรบ้างครับ ความคิดเห็นจากมุมมองของผู้บริหาร ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่ากรณีศึกษาไม่มีถูกหรือผิด ความคิดเห็นต่างๆ ที่นำเสนอในสัปดาห์นี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และการนำไปใช้จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ ในสัปดาห์หน้าผมจะนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องอื่นดูบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะลองนำเอากรณีศึกษาสั้นๆ เหล่านี้ไปถามหรือพูดคุยกันในที่ทำงานดูก็ได้นะครับ ผมคิดว่าน่าจะได้แนวคิดที่หลากหลายที่เดียว