
2 May 2023
แนวโน้มด้านกลยุทธ์ ที่พบเห็นทั้งในไทยและต่างประเทศในปีนี้ ไม่ใช่การมุ่งเน้นในเรื่องการเติบโตของธุรกิจเหมือนเดิม แต่เป็นการมุ่งเน้นในการเพิ่มทั้งประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยมีสาเหตุที่สำคัญสองประการ ได้แก่
1. แนวโน้มของเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งภายในและต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นกลับมาได้เหมือนในช่วงก่อนโควิด แนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อุปสงค์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกที่ยังไม่สดใสเท่าที่คาด ทำให้ทั้งตลาดและความต้องการของผู้บริโภคยังไม่พลิกกลับมาได้ตามที่คาดหวังไว้
2. แม้หลายบริษัทจะมุ่งเน้นในการสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ในการเติบโต หรือที่ชอบเรียกว่าการหา New S-Curve แต่ธุรกิจใหม่แห่งอนาคตก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้และกำไรในสัดส่วนที่สูงตามที่คาดหวัง
ดังนั้น บริษัทก็ยังต้องพึ่งพาธุรกิจเดิมเป็นแหล่งทำรายได้และกำไรอยู่ แต่ธุรกิจเดิมก็ยังวนเวียนในปัญหาแบบเดิม นั้นคือการเติบโตเริ่มหยุดชะงักและถูก disrupt จากปัจจัยภายนอก
ดังนั้น ทางออกในการยังคงรักษากำไรของธุรกิจ เพื่อรอให้ธุรกิจใหม่ได้เติบโต ก็จำเป็นต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพจากธุรกิจเดิม
การมุ่งเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพ (บางแห่งรวมผลิตภาพ หรือ Productivity ด้วย) ก็หมายความได้ว่า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์หรือ ผลผลิตที่เท่าเดิม ธุรกิจจะต้องเลือกที่จะลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายลง
ไม่เฉพาะธุรกิจในไทยที่หันมาเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเท่านั้น บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ก็ต่างพากันมุ่งเน้นในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Mark Zuckerberg ได้ออกบันทึกถึงพนักงานของ Meta และระบุว่าปี 2023 นี้เป็น Year of Efficiency โดยต้องการจะเห็น Meta เป็นบริษัทที่ Focus และ Productive ที่สามารถยืนหยัดและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของปัจจัยภายนอก
Mark ได้ระบุถึงแนวทางต่างๆ ในการทำให้ Meta มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งการลดจำนวนพนักงาน การลดผู้บริหารในระดับกลาง การเพิ่มช่องทางในการสื่อสารต่างๆ ทั่วทั้งบริษัท
การไม่สนับสนุนในโครงการที่ไม่มีความสำคัญ หรือ แม้กระทั่งการหาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานเขียนโค้ดได้เร็วขึ้น
จากหลายๆ ข่าวที่ปรากฏใน Wall Street Journal ทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ทั้ง Meta, Google, Microsoft, Salesforce ต่างหันมาให้ความสนใจกับการบริหารและควบคุมต้นทุนมากขึ้น
เนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่ตกลง (ช่วงโควิดบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีการเติบโตของรายได้ที่สูงและคาดว่าจะเติบโตต่อไปหลังพ้นโควิด แต่สถานการณ์กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาด)
และเรื่องของการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นเพียงสิ่งเดียวที่บริษัทควบคุมได้
ดังนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เป็นช่วงประกาศผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐอเมริกา จึงมีข่าวในทำนองของการควบคุมต้นทุนด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ มากกว่าความพยายามในการเติบโต
ในไทยเองก็เช่นเดียวกัน ในหลายอุตสาหกรรมที่ประสบกับปัญหาการเติบโตของอุปสงค์ ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น) ทำให้อัตรากำไรสุทธิไม่เติบโตหรือลดต่ำลง
บริษัทหลายแห่งก็หารมามุ่งเน้นการบริหารต้นทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เพียงแต่รูปแบบของการเพิ่มประสิทธิภาพของไทยนั้นจะต่างจากของต่างประเทศ
ในต่างประเทศนั้นข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการลดพนักงาน แต่สำหรับบริษัทในไทย ส่วนมากแล้วถ้าไม่ถึงขั้นสุดท้ายก็จะไม่ปลดพนักงานออก แต่จะใช้แนวทางอื่นแทน
เช่น การจัดโปรแกรมในลักษณะของ MSP (Mutual Seperation Program) ที่เป็นการสมัครใจลาออก บางบริษัทก็หันมาจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนที่มีอยู่ และในปีนี้จะเลือกที่จะลงทุนในโครงการที่สำคัญเท่านั้น
บางบริษัทก็หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น AI ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น หลายแห่งที่เริ่มนำ ChatGPT หรือ Generative AI ที่คล้ายกันมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
ท่านผู้อ่านลองสังเกตนะครับว่าในปีนี้และปีหน้า ถึงคราวที่ธุรกิจของท่านจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าการเติบโตกันหรือยัง?