13 December 2022

แนวคิดทางด้านการบริหารจัดการใหม่ๆ ก็จะมาจากการศึกษาจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะศึกษาจากบรรดาบริษัทในโลกตะวันตกที่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดีมีบริษัทจากโลกตะวันออกจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ และสามารถเป็นต้นแบบในการศึกษาและเรียนรู้ถึงแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการได้ หนึ่งในนั้นคือ Haier จากจีน

Haier เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากจีน ก่อตั้งในปี 1984 สินค้าหลักประกอบด้วย ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักอบผ้า ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ฯลฯ

ถ้าพิจารณาจากยอดขายแล้ว Haier เป็นที่หนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปี และแบรนด์ของ Haier ก็ได้รับการจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมาตลอด

Haier ถือกำเนิดในชื่อ Qingdao Refrigerator ในปีเดียวกัน Zhang Ruimin ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้านายใหญ่ของบริษัท ซึ่งในปีแรกๆ บริษัทยังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของตู้เย็นอยู่ จนลูกค้าบ่นอย่างมากมาย

ในปี 1985 จึงเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่กลายกรณีศึกษาคลาสสิกทางด้านการบริหาร คือทาง Zhang เรียกประชุมพนักงานทั้งหมดและใช้ค้อนเหล็กทุบทำลายตู้เย็นที่ด้อยคุณภาพของ Haier จำนวน 76 เครื่อง

เพื่อแสดงให้ทุกคนในบริษัทเห็นว่าบริษัทจะไม่ทนกับสินค้าด้อยคุณภาพอีกต่อไป วิธีการทำงานในรูปแบบเดิมไม่เหมาะสม และส่งสัญญาณออกไปว่า Haier จะผลิตแต่สินค้าที่มีคุณภาพ

หลังจากนั้นการเติบโตของบริษัทก็เน้นในเรื่องของการสร้างแบรนด์ การขยายตัวไปในต่างประเทศ และการเข้าซื้อกิจการบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านตามประเทศต่างๆ

ดีลหนึ่งที่โด่งดังคือได้เข้าซื้อธุรกิจ General Electric’s Appliance Division จากยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง GE

พอโลกเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ตและพัฒนาสู่ยุคของ IoT (Internet of Things) Zhang Ruimin ก็มองเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีความเชื่อมโยงมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์จะถูกแทนด้วย Ecosystem และการใช้งานของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป บริษัทควรจะต้องเน้นการสร้างประสบการณ์สำหรับลูกค้าแทนที่การพัฒนาสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว

จากการมองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ Zhang ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารและดำเนินงานขององค์กรเสียใหม่ โดยได้นำโมเดล RenDanHeYi มาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 2005

ทำให้ Haier สามารถลดความล่าช้าในบริษัทลง ไม่มีสายการบังคับบัญชาแบบเดิม ลดตำแหน่งพนักงานระดับกลาง (Middle Managers) ลงได้ 12,000 อัตรา มีหน่วยขนาดเล็กหรือ Microenterprise อยู่มากกว่า 4,000 หน่วย

สามารถทำให้บริษัทที่มีพนักงานเกือบหนึ่งแสนคน เป็นบริษัทที่มี Entrepreneurial Spirit ผู้นำเองกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ พนักงานมีอิสระในการทำงานและตัดสินใจมากขึ้น

Ren มาจากภาษาจีนว่า คน ซึ่งคือพนักงานในบริษัท Dan ในความหมายนี้คือความต้องการของลูกค้า และ Heyi หมายถึงการบูรณาการ ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน

แนวคิดหลักของ RenDanHeyi คือให้พนักงานทุกคนสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า คุณค่าของพนักงานแต่ละคนอยู่ที่ความสามารถในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า พนักงานดำรงอยู่ได้เพราะลูกค้า ดังนั้นถ้าพนักงานไม่สามารถสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ พนักงานก็จะไม่มีคุณค่าต่อไป

หน่วยย่อย หรือ Microenterprise เป็นการรวมตัวของพนักงานประมาณ 10 คน ที่มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า โดยหน่วยย่อยแต่ละหน่วยก็สามารถที่จะจับมือและทำงานร่วมกับหน่วยย่อยอื่นๆ เพื่อตั้งเป็น Ecosystem Microcommunities หรือ EMC

ปัจจุบัน Haier มีมากกว่า 300 EMC (แต่ละ EMC มีประมาณ 10-20 หน่วยย่อย) และมีมากกว่า 100 Startup

ซึ่ง EMC แต่ละแห่งก็เหมือนกับเป็นบริษัทย่อยๆ ที่พนักงานต่างมีส่วนร่วมในการบริหาร มีความใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น ตัดสินใจเร็วขึ้น เวลาในการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ให้กับลูกค้าก็เร็วขึ้น และสำคัญสุดคือ EMC จะต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้

หลักการสำคัญของ RenDanHeYi คือการกระจายอำนาจให้พนักงานอย่างแท้จริง

หลายๆ บริษัทก็พยายามที่จะศึกษาจากความสำเร็จของ Haier และนำไปปรับใช้กับบริษัทตนเอง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จเท่า

สาเหตุสำคัญคือตัวผู้นำและผู้บริหารจะต้องไม่ยึดติดกับอำนาจและการตัดสินใจต่างๆ (รวมถึงการกำหนดค่าตอบแทนด้วย) ผู้นำจะต้องกระจายอำนาจให้หน่วยย่อย สรุปคือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่การจะนำมาใช้ในบริษัทต่างๆ นั้นไม่ง่ายเลย