
21 August 2011
ดูเหมือนว่าในช่วงหลังชื่อของ Social Media จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจล การชุมนุม หรือ เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ มากขึ้น Social Media นั้นเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดข้ึน? ถ้าถามชาวอียิปต์พวกเขาก็คงบอกว่า Social Media ได้เป็นพระเอกในการปลุกระดมพลังประชาชนให้ออกมาต่อต้านผู้นำเผด็จการ จนกระทั่งมีคุณพ่อคนหนึ่งตั้งชื่อลูกสาวที่เกิดใหม่ในช่วงนั้นว่า Facebook
แต่ถ้าถามทางการของอังกฤษหรือสหรัฐ ซึ่งเพิ่งผ่านเหตุการณ์จลาจลมาหยกๆ พวกเขาก็คงบอกว่า Social Media นั้นเป็นต้นเหตุหรือสาเหตุที่สำคัญของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบนเกาะอังกฤษและในบางเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่อังกฤษนั้นถึงขั้นมีการเรียกผู้แทนของ Facebook, Twitter, Blackberry เข้าพบรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องของความมั่นคงในประเทศกันเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าคิดในอีกมุมหนึ่งก็น่าตลกนะครับ เพราะตอนที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมีนโยบายจะเข้าไปดูข้อมูลภายใต้เครือข่ายของ Blackberry นั้น ก็เป็นประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ที่คัดค้าน และยิ่งกรณีของประเทศจีนที่ปิดกั้น Social Media นั้น บรรดาประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ยิ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกันใหญ่ แต่พอเจอฤทธิ์ของ Social Media กับการก่อเหตุจลาจลในประเทศ ประเทศมหาอำนาจเช่นอังกฤษและอเมริกาถึงได้เริ่มเต้นและเริ่มคิดในเรื่องของการเข้าไปก้าวก่ายใน Social Media ต่างๆ มากขึ้น
จริงๆ แล้ว Social Media เป็นเพียงช่องทางในการสื่อสารอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ในการแสดงความคิดเห็นและเชิญชวนให้มาชุมนุมกันอย่างกว้างขวาง ในอดีตประเทศไทยเราก็เคยมีม็อบมือถือกันมาแล้ว เพียงแต่ความแตกต่างระหว่างการใช้โทรศัพท์กับ Social Media เป็นสื่อในการแสดงความคิดเห็นและรวมตัวกันนั้นอยู่ที่ผลกระทบและความคงอยู่ของสารต่างๆ ที่่สื่อออกไปครับ
การโพสต์ข้อความลงใน Facebook หรือ Twitter ไม่ได้เป็นการส่งให้กับผู้รับปลายทางเพียงแค่ผู้เดียวเหมือนการคุยโทรศัพท์ หนึ่งข้อความอาจจะมีคนได้อ่านเป็นร้อย พัน หรือ หมื่นคน อีกทั้งเมื่อส่งข้อความไปแล้ว ข้อความนั้นก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน ดังนั้นไม่ว่ากลุ่มคนในเครือข่ายจะมาอ่านเมื่อใด ก็ยังเห็นข้อความดังกล่าวอยู่ ไม่เหมือนกับโทรศัพท์ที่พอพูดออกไปแล้ว คำพูดก็หายไป จะให้พูดใหม่อีกครั้งก็อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ข้อความที่ปรากฎใน Social Media นั้นจะคงอยู่ แถมสามารถ Share ให้เครือข่ายของตนเองได้อ่านอีก อีกทั้งข้อความนั้นก็จะไม่บิดเบือนไปจากเจตนาแรกของผู้เขียน
ดังนั้นเราคงต้องยอมรับนะครับว่าถึงแม้ Social Media จะเป็นอีกหนึ่งของวิวัฒนาการในการสื่อสาร แต่ท้ังผลกระทบและความคงอยู่ของการสื่อสารผ่านทาง Social Media นั้นแตกต่างจากการสื่อสารประเภทอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต ดังนั้นผุ้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไป
ประเด็นที่ชวนคิดก็คือจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น Social Media จะยังคงเป็นที่แสดงความคิดเห็นโดยอิสระเหมือนในอดีต หรือ จะถูกรัฐ (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น? จริงๆ แล้ว Social Media ก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นดาบสองคม มีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่อันตราย ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ใช้เป็นสำคัญ ที่ผ่านมาเรามักจะมอง Social Media ในด้านดี แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็เป็นประสบการณ์ให้เห็นว่าคนที่คิดไม่ดีนั้นก็สามารถใช้ Social Media ไปให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้เช่นกัน