
ภาพจาก Getty Images
28 August 2011
ในช่วงที่ผ่านมาข่าวทางด้านธุรกิจและวงการไอทีที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้นข่าวการลาออกจากตำแหน่ง CEO ของ Apple ของ Steve Jobs เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ สำนักข่าวทุกแห่งต่างประโคมข่าวนี้เป็นข่าวเด่นอยู่นานพอสมควร และก็มีบทวิเคราะห์ต่างๆ เกี่ยวกับอนาคตของ Apple ภายหลังสิ้นยุค Steve Jobs กันมาเยอะพอสมควร อย่างไรก็ดีคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในใจหลังทราบข่าวการลาออกของ Jobs ก็คือ Apple จำเป็นจะต้องมี Steve Jobs ต่อไปหรือไม่?
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบถึงอิทธิพลของ Jobs ใน Apple กันพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่ Jobs เองเป็นผู้บริหารสูงสุดที่เข้ามาล้วงลูกและเป็นผู้ที่ตัดสินใจสุดท้ายในทุกๆ การตัดสินใจที่สำคัญ ซึ่งตามหลักการทั่วไปแล้ว ถ้าบริษัทใดที่มีผู้นำลักษณะนี้และเมื่อเขาหรือเธอได้จากบริษัทไป บริษัทก็จะแย่ เนื่องจากขาดผู้ตัดสินใจ แต่ในกรณีของ Jobs กับ Apple นั้นผมมองตรงกันข้ามเนื่องจากครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Jobs ออกจาก Apple ไป การถูกขับออกจากบริษัทที่ตนเองตั้งมากับมือเมื่อปี 1985 นั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว Jobs เหมือนกับศิลปินเดี่ยวเป็นอย่างมากและเมื่อ Jobs จากไป Apple ก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ แต่เมื่อ Jobs ได้กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ Apple อีกครั้ง สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ Jobs ได้ทำกับ Apple ไม่ใช่เรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมในการคิดและการทำงานรูปแบบใหม่ขึ้นมาใน Apple ครับ
วัฒนธรรมในการคิดที่ Jobs ฝังรากลงไปใน Apple นั้นก็คือวิธีคิดแบบ Steve Jobs นั้นเองครับ Jobs ประสบความสำเร็จในการทำให้พนักงานของเขาคิดและให้ความสำคัญในสิ่งท่ีเขาคิดและให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน และที่สำคัญเมื่อ Apple จะพัฒนาสินค้าใดก็ตาม คำถามที่พนักงานเหล่านั้นน่าจะนำมาใช้ตลอดก็คือ ‘What would Steve do?’ หรือ ถ้าเป็น Jobs เขาจะคิดหรือทำอย่างไร?
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า Jobs สามารถฝังรากวิธีคิดแบบ Steve Jobs ลงไปในหมู่พนักงานของ Apple ได้นั้น ก็มาจากช่วงที่เขาลาพักเนื่องจากป่วยนั้นเองครับ ถึงแม้ช่วงเวลาดังกล่าว Jobs จะยังโผล่เข้ามาให้ความเห็นอยู่บ้าง แต่ผลประกอบการและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ Apple ในช่วงดังกล่าวก็ยังคงประสบความสำเร็จเช่นเดิม เนื่องจาก Jobs ได้วางวิธีคิดแบบ Steve Jobs ไว้ทั่วบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วคิดว่า Apple ในยุคหลัง Steve Jobs นั้นยังไม่น่าเป็นห่วงในระยะสั้น ตราบใดที่คนเก่าๆ ในบริษัทยังคงทำงานและคิดแบบ Steve Jobs อยู่ แต่ความท้าทายที่สำคัญจะอยู่ในช่วงระยะกลางและระยะยาวที่แนวทางและวิธีการคิดแบบ Steve Jobs อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ทันต่อยุคสมัยแล้วก็ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าวิธีคิดของ Jobs จะผิดนะครับ แต่มีความเป็นไปได้ในระยะกลางที่มีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี รูปแบบ และแนวทางในการทำธุรกิจ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและวิธีการคิดใหม่ๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าววิธีการคิดแบบ Steve Jobs อาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ได้
ถึงเวลานั้น Apple อาจจะต้องหา Steve Jobs 2 ขึ้นมาเพื่อทำให้ตนเองสามารถอยู่รอดในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ แต่ที่น่ากลัวสำหรับ Apple ก็คือ Jobs 2 นั้นจะเกิดขึ้นในบริษัทอื่นที่ไม่ใช่ Apple และเมื่อถึงเวลาดังกล่าว Apple จะต้องปรับรูปแบบธุรกิจของตนเองเสียใหม่เหมือนกับที่ IBM ได้ทำมาแล้วในอดีต และ HP กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน