8 November 2022

คำถามสุดคลาสสิกตั้งแต่ยุคโบราณคือ ความสุขของคนนั้นมาจากไหน? ขณะเดียวกัน คนก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีความสุขมากขึ้น

การมีความสุขนั้นย่อมดีกว่าความทุกข์ มีงานวิจัยในปี 2558 ที่ยืนยันว่าผู้ที่มีความสุขจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตน้อยกว่า มีรายได้และผลิตภาพในการทำงานมากกว่าผู้ที่มีความทุกข์ สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้คนได้หันกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ถึงสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตและสิ่งที่ทำให้มีความสุข

ถึงแม้เป้าหมายของคนจำนวนมากคือชีวิตที่มีสุข แต่คำถามสำคัญคือความสุขคือสิ่งใด? และความสุขมาจากไหน?

ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของความสุขกันออกมามากขึ้น นอกจากนี้การศึกษาเกี่ยวกับความสุขนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในสถาบันที่สอนด้านจิตวิทยาเท่านั้น

แม้กระทั่งใน Business School ชั้นนำหลายแห่งของโลก (เช่น ที่ Harvard Business School) ก็มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับความสุข ควบคู่ไปกับวิชาดั้งเดิมของ MBA อยู่ด้วย

ความท้าทายในการศึกษาเรื่องของความสุข คือ นิยามและความหมายที่หลากหลายและแตกต่างของความสุข บางคนมองว่าการได้ลิ้มชิมอาหารรสอร่อยก็เป็นความสุข การได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว คนที่เรารักก็เป็นความสุข การได้นั่งมองพระอาทิตย์ลับไปกับทะเลก็เป็นความสุข การได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่มก็เป็นความสุข ฯลฯ

แต่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าความสุขจากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ในขณะนั้นเป็นเพียงความสุขเพียงชั่วครู่ที่มีแล้วหายไป ผู้ที่มีความสุขที่แท้จริงคือผู้ที่สามารถบริหารอารมณ์ต่างๆ ที่หลากหลายและพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่

หนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับความสุขที่ศึกษากันมากคือ ความสัมพันธ์กับเงินหรือทรัพย์ที่หามาได้กับความสุข ความเชื่อเดิมที่มีอยู่คือเงินหรือทรัพย์สินนำไปสู่ความสุข

มีงานวิจัยในสหรัฐที่พบว่าเงินจะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นจริงแต่ก็ถึงแค่ระดับหนึ่ง นั้นคือมีเงินเพิ่มขึ้นจะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นจนถึงระดับรายได้ต่อปีที่ 75,000 ดอลลาร์ เมื่อรายได้เกินจำนวนดังกล่าวแล้วต่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสองหรือสามเท่า ก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

ในอีกมุมมองหนึ่งมีงานวิจัยจาก Harvard Business School ที่พบว่า การมีเงินไม่ได้นำไปสู่ความสุขเสมอไป แต่การมีเงินจะช่วยลดความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ (เช่น เดินทางไปทำงานด้วยรถส่วนตัวพร้อมคนขับรถแทนที่จะเดินทางด้วยรถสาธารณะ)

ซึ่งนำไปสู่การลดความเครียดและความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าผู้ที่มีรายได้สูงนั้น เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เกิดขึ้น ก็จะเลือกใช้เงินในการแก้ไขปัญหามากกว่าทางเลือกอื่นๆ

ในอดีตอาจจะนึกว่าการได้รับหรือมีสิ่งใหม่ๆ ก็จะทำให้มีความสุข (เช่น บ้านใหม่ รถใหม่ โทรศัพท์ใหม่ เป็นต้น) แต่ก็มีงานศึกษาที่พบว่าความสุขดังกล่าวเป็นความสุขในระยะเวลาสั้นในช่วงแรกเท่านั้น เมื่อมีความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ที่มีแล้ว ระดับความสุขก็จะลดลง

นอกจากในเรื่องของเงินและทรัพย์สินแล้ว ในช่วงหลังก็เริ่มมีการศึกษาในความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความสุขมากขึ้น อีกหนึ่งการศึกษาจาก Harvard ที่พบว่ายิ่งยอมใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเวลามากขึ้นเท่าใด คนจะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้น

เช่น แทนที่จะทำบ้านเอง ล้างรถเอง ทำอาหารเอง แต่ยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับเวลาว่างที่จะได้กลับมา ก็จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาของสังคมปัจจุบันคือ มักจะกลับกัน นั้นคือเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น คนจะยอมสูญเสียเวลาที่มี

นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้เวลากับและเพื่อบุคคลอื่น ยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือ ใช้เวลาในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น จะทำให้มีความสุขมากกว่าบุคคลที่ไม่ได้ใช้เวลาเพื่อผู้อื่นเลย

จะเห็นได้ว่าเรื่องของความสุขมีมุมมองที่หลากหลาย และยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป นิยามความสุขของแต่ละคนนั้นก็อาจจะแตกต่างกัน ทั้งในเป้าหมายและวิธีการ ขอให้ค้นให้เจอว่าความสุขของตนเองคือสิ่งใด