17 July 2011

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นเขียนถึง 10 แบรนด์ที่จะหายไปในปีหน้า โดยนำเนื้อหามาจากนิตยสาร Business Insider ซึ่งเขาได้คาดการณ์ไว้ถึงแบรนด์ดังในอดีตหรือปัจจุบันที่อาจจะหายไปในปีหน้าด้วยสาเหตุต่างๆ กัน โดยสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอไปแล้ว 5 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ Sony Pictures, A&W, Saab, American Apparel, Soap Opera Digest ดังนั้นสัปดาห์นี้เรามาพิจารณาอีกห้าแบรนด์ที่เหลือนะครับ และลองดูว่าที่ฝากท่านผู้อ่านไปลองเดาดูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะเดากันถูกไหม

แบรนด์ที่ 6 ได้แก่ห้างสรรพสินค้า Sears ครับ ซึ่งท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ช้อปปิ้งอเมริกาในอดีตคงจะจำห้างดังในอดีตแห่งนี้ได้ดีนะครับ Sears เคยถือเป็นห้างสรรพสินค้าอันดับหนึ่งในใจชาวอเมริกา จนกระทั่งมีรูปแบบการค้าปลีกในรูปแบบอย่างเช่น Wal-Mart, Target เกิดขึ้น ผลประกอบการก็แย่ลงเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2005 ก็มีการควบรวมกับ Kmart ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจค้าปลีกของอเมริกาที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่เมื่อเอาแย่กับแย่มาเจอกันก็เลยทำให้แย่ลงไปอีกครับ ปัจจุบัน Sears เองมีผลการดำเนินงานที่เป็นขาดทุนสุทธิอยู่ $170 million การมีสองแบรนด์ที่ไม่แข็งแกร่งอยู่ด้วยกัน ไม่ได้ทำให้บริษัทแม่ดีขึ้นครับ ห้าปีที่ผ่านมาราคาหุ้นตกลง 55% แนวทางเดียวที่บริษัทจะอยู่รอดและแข่งขันได้คือยุบสองแบรนด์ให้เหลือแบรนด์เดียว เพื่อจะได้ทุ่มทรัพยากรและไม่เกิดความซ้ำซ้อนกันครับ ซึ่งแนวโน้มก็คือเก็บ Kmart ที่ดีกว่าไว้และปิด Sears ที่แย่ลงครับ

แบรนด์ที่ 7 ได้แก่ Sony Ericsson ครับ โดยแบรนด์นี้เกิดขึ้นจากการผสมกันอย่างลงตัวระหว่าง Sony และ Ericsson เพื่อบุกตลาดโทรศัพท์มือถือ และถือว่าเป็นแบรนด์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต แต่เช่นเดียวกับโนเกียครับ ที่เมื่อเจอคู่แข่งสำคัญไม่ว่าจะเป็น Apple, RIM, HTC และบรรดาสมาร์ตโฟนต่างๆ ก็ทำให้ Sony Ericsson ซวนเซไปเหมือนกันครับ ยอดขายของเขาตกลงจาก 97 ล้านเครื่องในปี 2008 เหลือเพียงแค่ 43 ล้านเครื่องในปีที่ผ่านมา แถมที่สำคัญคือ Sony Ericsson ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian ของ Nokia ซึ่งต้นตำหรับอย่างโนเกียก็ประกาศที่จะเลิกใช้แล้ว ผู้บริหารเองก็ดูเหมือนจะยอมรับชะตากรรมนะครับ โดยคาดกันว่ายอดขายจะค่อยๆ ตกลงทุกไตรมาสและปัจจุบันก็เริ่มมีการประกาศลดพนักงานแล้ว ทางออกที่เป็นไปได้คือทาง Sony จะเข้ามาซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ แล้วอาจจะมีการรีแบรนด์ใหม่ออกมาครับ รวมทั้งพัฒนาเครื่องรูปแบบใหม่ตามสไตล์ของ Sony เอง

แบรนด์ที่ 8 ได้แก่ Kellog’s Corn Pops ครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่ชอบรับทานอาหารเช้าแบบฝรั่ง คงจะคุ้นเคยกับเจ้า Corn Pops เป็นอย่างดีครับ ในอดีต Corn Pops ถือเป็นความภูมิใจประการหนึ่งของ Kellog’s แต่จากสภาวะแวดล้อมในธุรกิจ Cereal ที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าใดก็ตามที่ไม่ได้เน้น “เพื่อสุขภาพ” มักจะอยู่รอดไม่ได้ และ Corn Pops ก็เป็นหนึ่งในสินค้าประเภทนั้นครับ ยอดขายของแบรนด์นี้ตกลง 18% ในรอบปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหาจากต้นทุนวัตถุดิบ (ข้าวโพด) ที่แพงขึ้นด้วย อีกทั้งส่วนผสมหลายๆ อย่างใน Corn Pops ก็ไม่ได้เอื้อที่จะให้ผู้ที่รักสุขภาพซื้อมากินเป็นอาหารเช้าครับ ดังนั้นคาดว่าแบรนด์นี้จะค่อยๆ ถูก Kellog’s ตัดจำหน่ายไปในที่สุดครับ

แบรนด์ที่ 9 ได้แก่ MySpace ซึ่งเคยเป็น Social Network อันดับหนึ่งของโลก เมื่อปี 2005 ทาง News Corp ได้ซื้อ MySpace ไปด้วยราคาที่ไม่แพงเท่าไร ($580 million) แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไป ก็เกิด Facebook ขึ้น และท่านผู้อ่านก็คงทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในธุรกิจ Social Network นะครับ ปัจจุบัน MySpace มีสมาชิกอยู่ไม่ถึง 20 ล้านคนในอเมริกาและมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา News Corp ประกาศขาย MySpace แต่ก็หาคนที่สนใจอย่างจริงจังไม่ได้ครับ จนกระทั่งล่าสุดมีข่าวลือว่ามีผู้สนใจซื้อในราคา $100 million แล้วก็จะไม่ใช้แบรนด์ MySpace อีกต่อไป แต่จะใช้ฐานข้อมูลสมาชิกที่มีอยู่บน MySpace ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่ถ้าหาคนซื้อจริงๆ ไม่ได้ก็คาดว่าทาง New Corp ก็คงไม่เก็บ MySpace ไว้หรอกนะครับ

แบรนด์สุดท้ายคือ Nokia ซึ่งผมคงไม่ต้องเล่านะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์นี้ (เพิ่งเขียนไปเมื่อสองสามอาทิตย์ที่แล้วครับ) แต่ทางออกของโนเกีย ถ้าความพยายามในการพลิกฟื้นไม่สำเร็จก็คือ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาซื้อครับ ส่วนรายที่เดาๆ กันว่าอาจจะสนใจนั้นก็มี HTC ครับ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตมือถือใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก หรือ ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ซึ่งเริ่มมีทีท่าสนใจในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมากข้ึนหลังจากเข้าซื้อ Skype หรือ สองยักษ์ใหญ่ของเกาหลีอย่าง Samsung และ LG ก็มีข่าวว่าสนใจโนเกียครับ ซึ่งถ้าสุดท้ายโนเกียมีคนเข้าไปซื้อและเปลี่ยนแบรนด์จริงก็ต้องถือเป็นอีกตำนานหนึ่งของธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จสุดๆ แล้วล้มเหลวครับ